1. บทนำ
เมื่อตอนที่ตกลงใจว่าจะเขียนบทความแนะนำเชิงวิจารณ์ภาพยนตร์เรื่องคลีโอพัตรานั้น ผมตั้งใจว่าจะเขียนถึงเวอร์ชั่นคลาสสิคปี 1963 ที่แสดงนำโดยเอลิซาเบธ เทย์เลอร์, ริชาร์ด เบอร์ตัน และเร็ค แฮริสันก่อน ก็เลยลองเอาเวอร์ชั่นที่ฮอลมาร์คสร้างเป็นหนังชุดฉายทางโทรทัศน์โดยมีเลโอเน่อร์ วาเรล่า, ทิโมตี้ ดาลตัน, บิลลี่ เซน และรูเปิท เกรฟ แสดงนำมาดูประกอบ เมื่อดูจนจบเรื่องก็แปลกใจว่าทำไมเนื้อหาในประเด็นสำคัญๆต่างๆ ที่เกี่ยวกับคุณลักษณะที่สำคัญหลายๆเรื่องของคลีโอพัตราไม่ตรงกันระหว่างสองเวอร์ชั่น จึงต้องตามไปค้นคว้าต่อทางอินเตอร์เน็ท และตำราทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องหลายเล่ม จึงได้พบว่าปกตินั้นประวัติศาสตร์มักจะเขียนไม่ค่อยตรงกันอยู่แล้วในรายละเอียด ขึ้นอยู่กับว่าใครเป็นคนเขียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประวัติศาสตร์มักจะเขียนโดยผู้ชนะสงคราม ซึ่งจะเขียนอะไรก็ได้และเป็นธรรมดาที่มักจะต้องเขียนเข้าข้างพวกตัวเอง กรณีของคลีโอพัตราก็เช่นเดียวกัน พงศาวดารส่วนใหญ่เกี่ยวกับนางถูกเขียนโดยพวกโรมันซึ่งเป็นผู้ชนะสงคราม และพวกโรมันกลัวคลีโอพัตราไม่น้อยกว่าที่กลัวฮันนิบาล ที่เคยขี่ช้างนำทัพบุกไปถึงหน้าประตูกรุงโรมยังไงยังงั้น ดังนั้นด้วยอคติที่พวกเขามีต่อนางจึงได้กล่าวร้ายนางไว้หลายเรื่องต่างๆนาๆในบันทึกของพวกเขา ซึ่งเมื่อพิจารณาดูด้วยใจที่เป็นกลางแล้ว จะเห็นได้ว่าไม่เป็นธรรมต่อคลีโอพัตรา เพราะพวกโรมันเป็นฝ่ายไปข่มเหง รุกราน และยึดครองบ้านเมืองของนาง แล้วยังเขียนประวัติศาสตร์กล่าวว่านางให้เสียหายในหลายๆเรื่อง ที่แม้แต่พวกโรมันเองก็ไม่มีหลักฐานอะไรเลยที่จะกล่าวหานางได้ เช่นเรียกนางเป็น “นางแพศยาอิยิปต์, Egyptian Whore” กล่าวหาว่านางเป็นหญิงแพศยามีสัมพันธ์ทางเพศกับผู้ชายจำนวนมาก ในขณะที่ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่แม้แต่ในบันทึกส่วนที่พวกโรมันเป็นคนเขียนเอง ไม่มีหลักฐานใดๆเลยว่าตลอดชีวิตของนางเคยมีผู้ชายคนอื่นอีกนอกจากจูเลียส ซีซาร์และมาร์ค แอนโทนี่ ตรงกันข้ามกลับมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์กล่าวไว้หลายที่ว่า วีรบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ของโรมันเองทั้งสามคนคือ จูเลียส ซีซาร์, มาร์ค แอนโทนี่ และออคตาเวี่ยน นั่นแหละที่เป็นเสือผู้หญิงตัวฉกาจตัวจริง ที่ไปมีสัมพันธ์สวาทกับผู้หญิงจำนวนมาก หลายเผ่าพันธุ์หลายเชื้อชาติทั้งที่อยู่ในอิตาลีเอง และอยู่ภายใต้อำนาจการยึดครองของพวกโรมัน หรือที่พวกโรมันเรียกนางเป็น “อสรพิษแห่งลุ่มแม่น้ำไนล์” โดยกล่าวหาว่านางโหดเหี้ยมผิดมนุษย์ และเป็นจอมทรยศหักหลังนั้น ก็ล้วนเป็นการกล่าวร้ายโดยไม่เป็นธรรมทั้งสิ้น เพราะตามข้อเท็จจริงในประวัติศาสตร์หากจะพิจารณาด้วยใจที่เป็นธรรมแล้ว จะพบว่านางเป็นราชินีที่ฉลาดหลักแหลมและเป็นนักการเมืองที่ฉลาดปราดเปรื่อง นางกล้าที่จะยืนขึ้นเผชิญหน้ากับอภิมหาอำนาจที่จะเข้ามายึดครองบ้านเมืองและข่มเหงประชาชนของนางโดยไม่เกรงกลัว และนางพยายามด้วยทุกๆวิถีทางที่จะทำได้เพื่อต่อสู้กับผู้รุกราน นางต่อสู้กับผู้มีอำนาจแห่งโรมราวกับนางสิงห์ทะเลทราย และไม่เคยยอมก้มหัวให้กับแสนยานุภาพที่ยิ่งใหญ่ของอภิมหาอาณาจักรโรมันเลยแม้จนกระทั่งวาระสุดท้ายของชีวิต
จากการศึกษาเรื่องราวของคลีโอพัตราข้างต้น ทำให้ผมเห็นว่าน่าจะกล่าวนำถึงเรื่องราวของคลีโอพัตราในภาพรวมไว้ก่อนการนำเสนอบทความ และภายหลังการนำเสนอบทความแนะนำเชิงวิจารณ์ภาพยนตร์ทั้งสองเวอร์ชั่นแล้ว ก็ควรจะสรุปเรื่องราวทั้งหมดอีกครั้งหนึ่ง ในการเขียนจึงได้แบ่งการนำเสนอออกเป็น 4 ตอนดังนี้คือ
- ตอนที่ 1 ราชินีสาว นางพญาแห่งลุ่มแม่น้ำไนล์ ฟาโรห์องค์สุดท้ายของอิยิปต์ และผู้หญิงที่สวยที่สุดในประวัติศาสตร์ (เป็นการเล่าภาพรวมเรื่องราวที่น่าสนใจของคลีโอพัตราก่อนเข้าสู่บทความแนะนำเชิงวิจารณ์ภาพยนตร์)
- ตอนที่ 2 คลีโอพัตรา เวอร์ชั่นปี 1963 (บทความแนะนำเชิงวิจารณ์ภาพยนตร์)
- ตอนที่ 3 คลีโอพัตรา เวอร์ชั่นปี 1999 (บทความแนะนำเชิงวิจารณ์ภาพยนตร์)
- ตอนที่ 4 บทสรุป “คลีโอพัตรา: ฟาโรห์องค์สุดท้ายของอิยิปต์ ผู้หญิงที่โลกไม่มีวันลืม (เป็นการวิเคราะห์ และสรุปประเด็นเรื่องราวสำคัญต่างๆที่น่าสนใจเกี่ยวกับคลีโอพัตรา)
2. อารยธรรมอิยิปต์โบราณ, ราชวงศ์พโตเลมี และคลีโอพัตรา
“คลีโอพัตรา” เป็นชื่อของ ราชินีสาว ฟาโรห์องค์สุดท้ายของอิยิปต์ ซึ่งเป็นวีรสตรีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดนางหนึ่งในประวัติศาสตร์ ผู้ซึ่งได้พยายามต่อสู้อย่างสุดความสามารถด้วยทุกๆวิถีทาง เพื่อรักษาเอกราชของชาติบ้านเมืองไว้ จากการรุกรานแผ่ขยายอิทธิพลของ“อภิมหาอาณาจักรโรมัน” ชาติมหาอำนาจที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกยุคนั้น ในระหว่างช่วงเวลา 50 ปีก่อนคริสตกาล นางเป็นหนึ่งในสามของผู้หญิงที่กล่าวกันว่าเป็นผู้หญิงที่สวยที่สุดในประวัติศาสตร์ (ตะวันตก) ซึ่งความงามของนางสามารถสยบแม่ทัพใหญ่และวีรบุรุษของพวกโรมัน ที่เป็นผู้ชายที่มีอำนาจมากที่สุดในโลกยุคนั้นให้ยอมคุกเข่าให้กับนางได้ถึงสองคน คือจูเลียส ซีซาร์ และมาร์ค แอนโทนี่ และมีผลทำให้อาณาจักรโรมันที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกยุคนั้นต้องแตกออกเป็นสองเสี่ยง เกิดเป็นสงครามกลางเมืองที่คนโรมันกับคนโรมันต้องฆ่ากันเองจนเลือดนองแผ่นดิน
อารยธรรมอิยิปต์โบราณเป็นอารยธรรมที่ยิ่งใหญ่ และเจริญรุ่งเรืองอยู่ในพื้นที่บริเวณตะวันออกเฉียงเหนือของทวีปอาฟริกา โดยเฉพาะตามแนวสองฟากฝั่งแม่น้ำไนล์ตั้งแต่ตอนกลางถึงตอนล่าง ซึ่งถือกำเนิดก่อนคริสตกาลประมาณกว่าสามพันปี ปกครองโดยระบบฟาโรห์ที่เชื่อว่าฟาโรห์ พระราชโอรสและพระราชธิดาต่างเป็นเทพเจ้าหรือเทพีแห่งโลกทั้งสิ้น ดังนั้นฟาโรห์จึงเป็นผู้ที่มีอำนาจเด็ดขาดสูงสุด พวกเขาเป็นผู้นำรัฐบาล เป็นผู้กำหนดนโยบายต่างประเทศและการค้า พวกเขาเป็นผู้ร่างและใช้กฎหมาย นำกองทัพเข้าสู่สมรภูมิ และรับผิดชอบต่อการเก็บเกี่ยวพืชผล โดยได้มีการผลัดเปลี่ยนอำนาจในการปกครองอิยิปต์ของราชวงศ์ต่างๆอย่างสืบเนื่องกันมาตลอด
มหาปิรามิดแห่งกีซ่า เป็นปิรามิดที่ใหญ่ที่สุดและเก่าแก่ที่สุดในโลก ตั้งอยู่ที่กรุงไคโรประเทศอิยิปต์ปัจจุบัน เป็นสิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคโบราณเพียงสิ่งเดียวจาก 7 สิ่งที่ยังคงอยู่ในปัจจุบัน ประมาณกันว่าสร้างขึ้นเพื่อเป็นสุสานฝังพระศพของฟาโรห์คูฟู แห่งราชวงศ์ที่ 4 ของอิยิปต์โบราณ เมื่อประมาณ 2560 ปีก่อนคริสตกาลและเป็นสิ่งประดิษฐ์ของมนุษย์ที่มีความสูงที่สุดในโลกอยู่ประมาณ 3800 ปี
|
ราชวงศ์พโตเลมีของคลีโอพัตรานั้นปกครองอิยิปต์มาตั้งแต่ประมาณ 300 ปีก่อนคริสตกาล โดยมีปฐมกษัตริย์ต้นราชวงศ์คือกษัตริย์พโตเลมีที่หนึ่ง ซึ่งเป็นขุนพลคู่ใจคนหนึ่งของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชซึ่งมาจากแคว้นมาซิโดเนียของกรีกด้วยกัน เมื่อพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชกรีธาทัพเข้าไปในอิยิปต์เมื่อปี 322 ก่อนคริสตกาลนั้น พระองค์ทรงเห็นว่าเมืองหลวงเก่าคือเมมฟิส และทีเบสอยู่ไกลเกินไป จึงโปรดให้สร้างเมืองหลวงขึ้นใหม่โดยใช้ชื่อว่า “อเล็กซานเดรีย” ตามชื่อของพระองค์ แต่น่าเสียดายที่ยังไม่ทันสร้างเสร็จพระองค์ก็เสด็จสวรรคตเสียก่อน หลังจากที่พระองค์สิ้นพระชนม์แล้ว บรรดาแม่ทัพนายกองต่างๆตามหัวเมืองที่พระองค์กรีธาทัพผ่านมาก็แบ่งสันปันส่วนดินแดนกันเพื่อตั้งตัวเป็นใหญ่ พโตเลมีจึงประกาศตัวขึ้นเป็นกษัตริย์พโตเลมีที่หนึ่ง เป็นฟาโรห์แห่งอิยิปต์ทั้งเหนือและใต้ และมีการสืบราชสันตติวงศ์ต่อเนื่องกันมาจนถึงสมัยของคลีโอพัตรา ดังนั้นคลีโอพัตราซึ่งสืบเชื้อสายมาจากพโตเลมีที่หนึ่งจึงมิใช่ชาวอิยิปต์แท้โดยสายเลือด แต่เป็นเลือดผสมระหว่างกรีกกับอิยิปต์ (ตามตำนานว่าพระนางมีผิวสีน้ำผึ้ง เนื่องจากการผสมผสานระหว่างสายเลือดของกรีกกับสายเลือดของอิยิปต์ มิใช่ผิวขาวแบบชาวกรีก)
พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชแห่งแคว้นมาซิโดเนียของกรีก นักรบที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ ซึ่งตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์ในการทำสงครามนั้นพระองค์ไม่เคยรบแพ้ใครเลย (รบร้อยครั้งชนะร้อยครา) ขณะเสด็จสวรรคตเมื่อพระชนมายุเพียง 32 พรรษานั้น อาณาจักรของพระองค์ทอดยาวกว้างใหญ่ตั้งแต่กรีก ไปทางตะวันออกครอบคลุม อนาโตเลีย ซีเรีย ฟีนิเซีย จูเดีย กาซ่า อิยิปต์ แบคเทรีย เมโสโปเตเมีย ไปจนถึงแคว้นปัญจาบของอินเดีย ก่อนเสด็จสวรรคตนั้นพระองค์ได้กำหนดแผนการแล้วว่าจะทรงขยายอิทธิพลทางการทหารและการค้าเข้าไปในคาบสมุทรอารเบีย จากนั้นจะหันกลับไปทางตะวันตกสู่คาเธจ โรม และคาบสมุทรไอบีเรีย (แม้ว่าเป้าหมายเริ่มแรกของพระองค์นั้น ต้องการจะไปให้ถึงสุดเขตโลกทางทิศตะวันออกตามที่ได้เล่าเรียนมาจากพระอาจารย์ของพระองค์ “อริสโตเติล” ก็ตาม) นักประวัติศาสตร์ยกย่องว่าพระองค์เป็นผู้ที่นำโลกตะวันออกมาพบกับโลกตะวันตก ทำให้เกิดการหลอมรวมกันในทางสร้างสรรค์ให้กับศิลปะวิทยาการ และอารยธรรมของมนุษยชาติเป็นอันมาก พระองค์สนับสนุนให้ทหารในกองทัพแต่งงานมีครอบครัวกับผู้หญิงในดินแดนที่ทรงกรีธาทัพผ่านไป และพระองค์เองก็ได้อภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงต่างเชื้อชาติสองพระองค์ด้วยกัน ภาพด้านขวาเป็นประภาคารริมทะเลเมดิเตอเรเนียนที่เมืองอเล็กซานเดรีย ซึ่งเป็นสิ่งมหัศจรรย์หนึ่งในเจ็ดของโลกยุคโบราณสูง 34 ชั้น (ประมาณ 400 ฟุต) ซึ่งเป็นเครื่องนำทางเรือทั่วท้องทะเลเมิดิเตอเรเนียนให้มาติดต่อค้าขายกับเมืองแห่งอำนาจและความรู้ของคลีโอพัตราแห่งนี้ (ภาพนี้เขียนขึ้นจากข้อมูลบันทึกในประวัติศาสตร์ และข้อมูลที่ได้จากทรากปรักหักพังซึ่งค้นพบในภายหลังที่ก้นทะเลเมดิเตอเรเนียน ชายฝั่งเมืองอเล็กซานเดรียปัจจุบัน) เมืองอเล็กซานเดรียในอดีต นอกจากจะเป็นเมืองหลวงของอิยิปต์ในยุคราชวงศ์พโตเลมีแล้ว ยังเป็นศูนย์กลางวัฒนธรรมและการเรียนรู้ที่มีชื่อเสียงอีกด้วย โดยมีหอสมุดที่ใหญ่ที่สุดในโลกยุคนั้นตั้งอยู่ และมีนักปราชญ์จากทั่วโลกในยุคโบราณเข้ามาใช้ประโยชน์เป็นจำนวนมาก
|
3. ความอ่อนแอในยุคปลายของราชวงศ์พโตเลมี
เนื่องจากพื้นที่ของอิยิปต์เป็นบริเวณที่อุดมสมบูรณ์และมั่งคั่งยิ่งนัก โดยเฉพาะในบริเวณสองฝั่งลุ่มแม่น้ำไนล์จนถึงดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ ทุกๆฤดูร้อนน้ำจะเอ่อท่วมล้นสองฝั่งนำพาแร่ธาตุสารอาหารต่างๆมาตกตะกอนไว้ ทำให้การเพาะปลูกพืชได้ผลดีมาก และยังอุดมด้วยแร่ธาตุและทรัพยากรธรรมชาติต่างๆอีกด้วย จึงมีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล กลายเป็นที่หมายตาของประเทศต่างๆที่ต้องการจะเข้ามายึดครอง.ในขณะเดียวกันประเพณีการสืบราชบัลลังก์ของอิยิปต์ที่กำหนดให้ พี่น้องชายหญิงต้องแต่งงานกันเองเพื่อร่วมกันปกครองระหว่างฟาโรห์กับราชินีนั้นมีผลทำให้พี่น้องแบ่งออกเป็นฝักเป็นฝ่าย และมีการต่อสู้ฆ่าฟันกันเองเป็นศึกสายเลือดมาตลอด ทำให้ระบบการปกครองอ่อนแอลงเรื่อยๆจนกระทั่งพวกขุนนางที่ไม่ดีบางกลุ่มสามารถครอบงำราชวงศ์ได้ เกิดปัญหาการเสื่อมโทรมทางศีลธรรม การทุจริตคอรัปชั่น การกดขี่ขูดรีดภาษีอย่างหนักจากราษฎร และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเงาแห่งอำนาจของโรมันเริ่มแผ่ขยายเข้ามาทางภาคตะวันออกมากขึ้นทุกขณะ และให้ความสนใจอิยิปต์มากเพราะเป็นประเทศที่มั่งคั่งร่ำรวยที่สุดในบรรดาประเทศต่างๆรอบทะเลเมดิเตอเรเนียน และสามารถใช้เป็นแหล่งผลิตอาหารเลี้ยงคนโรมันได้ทั้งประเทศทีเดียว
แผนที่แสดงที่ตั้งของอิยิปต์ซึ่งเป็นแผ่นดินที่อุดมสมบูรณ์และมั่งคั่งที่สุด ในภูมิภาค ทำให้กลายเป็นที่หมายตาของประเทศต่างๆซึ่งต้องการจะเข้ามายึดครองเป็นเมืองขึ้น
|
การรบราฆ่าฟันกันเองในราชวงศ์พโตเลมีทำให้ระบบการปกครองอ่อนแอลง เปิดโอกาสให้คนชั่วมีโอกาสครอบงำราชวงศ์และมีอำนาจในการบริหาร และเกิดการทุจริตคอรัปชั่นระบาดไปทั่ว มีการกดขี่ขูดรีดภาษีราษฎรเป็นจำนวนมากทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนไปทุกหย่อมหญ้า และที่ร้ายที่สุดคือคนในราชวงศ์เองชักน้ำเข้าลึกชักศึกเข้าบ้าน โดยในการแย่งชิงราชบัลลังก์ระหว่างพี่น้องนั้นฟาโรห์พโตเลมีที่สิบเอ็ดได้ติดสินบน และให้คำมั่นสัญญาว่าจะมอบทรัพย์สมบัติจำนวนมหาศาลให้โรม เพื่อตอบแทนกับการสนับสนุนให้ตนได้ครองราชบัลลังก์ เมื่อได้ครองราชบัลลังก์แล้วจึงต้องขูดรีดภาษีจากราษฎรเป็นจำนวนมาก เพื่อจ่ายให้กับพวกโรมันตามที่ได้สัญญาไว้ และเมื่อพโตเลมีที่สิบสองบิดาของคลีโอพัตราขึ้นครองราช ก็พบว่าตัวเองต้องแบกภาระหนี้สินอันมหาศาลต่อจากบิดา จนในที่สุดจึงได้เกิดการกบฏขึ้นโดยขุนนางกลุ่มหนึ่งร่วมกับราษฎรที่ไม่พอใจระบอบการปกครอง ทำให้ฟาโรห์พโตเลมีที่สิบสองต้องหนีไปโรมเพื่อขอกำลังทหารจากโรมมาช่วยกู้บัลลังก์ของตนคืน และเมื่อได้บัลลังก์คืนแล้วโรมก็ยังคงวางกำลังทหารไว้ในอเล็กซานเดรียต่อไป โดยอ้างว่าเป็นการช่วยรักษาความสงบเรียบร้อยให้อิยิปต์ และดำเนินการเก็บภาษีจากประชาชนเองเพื่อส่งให้โรมโดยตรง อิยิปต์จึงอยู่ในสภาพกึ่งเป็นเมืองขึ้นของโรมันตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ดังนั้นคลีโอพัตราจึงเติบโตขึ้นมาในราชสำนัก ท่ามกลางสถานการณ์ที่ได้รับการขู่เข็ญคุกคามจากพวกโรมันมาโดยตลอด ทางเดียวที่จะรักษาเอกราชของประเทศไว้ได้ก็คือบิดาของนางต้องหาทางเอาใจโรมอยู่ตลอดเวลาซึ่งเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก เพราะพวกโรมันต้องการจะปกครองโลกในบริเวณรอบทะเลเมดิเตอเรเนียนทั้งหมด
4. ราชินีสาว นางพญาแห่งลุ่มแม่น้ำไนล์
คลีโอพัตรา ฟาโรห์องค์สุดท้ายของอิยิปต์
|
หลังจากที่พโตเลมีที่สิบสองได้ราชบังลังก์คืนจากการช่วยเหลือของกองทัพโรมัน ไม่นานก็เสียชีวิตลง และมีพินัยกรรมยกราชสมบัติให้คลีโอพัตราครองในฐานะราชินีคู่กับพโตเลมีที่สิบสาม ซึ่งเป็นน้องชายคนรองของนาง (ตามกฏมณเฑียรบาลของอิยิปต์ ที่ฟาโรห์จะต้องอภิเษกสมรสกับพระพี่นางหรือพระน้องนางเพื่อปกครองอิยิปต์ร่วมกัน) อย่างไรก็ตามบรรดาขุนนางผู้ใหญ่ที่ครอบงำการบริหารราชสำนักอยู่นั้น ไม่ชอบคลีโอพัตราเพราะนางเฉลียวฉลาดรู้ทันพวกเขา ทำให้พวกเขาไม่สามารถเชิดนางเป็นหุ่นได้เหมือนน้องชายของนางซึ่งยังเยาว์วัยอยู่มาก จึงยุแหย่พโตเลมีน้องชายของนางให้เกลียดชังนาง และปล่อยข่าวเสียหายว่านางมีใจเอนเอียงสมคบกับพวกโรมันมาขูดรีดภาษีคนอิยิปต์ไปให้โรมันทำให้ราษฎรพากันไม่พอใจ และก่อการประท้วงขับไล่นางออกไปจาก อเล็กซานเดรียซึ่งเป็นเมืองหลวงในขณะนั้น
คลีโอพัตราหนีออกจากอเล็กซานเดรียไปยังซีเรีย และด้วยความสนับสนุนจากซีเรียซึ่งเคยเป็นหนี้บุญคุณนางมาก่อนจึงสามารถจัดสร้างกองทัพของนางขึ้นได้ และกำลังเตรียมการจะกลับมาทวงสิทธิอำนาจของนางคืน ก็พอดีอาณาจักรโรมันเองก็กำลังเกิดสงครามกลางเมืองครั้งใหญ่ขึ้นระหว่างนักการเมืองและแม่ทัพผู้ยิ่งใหญ่ของโรมที่เป็นคู่แข่งกันสองคนคือ จูเลียส ซีซาร์ และปอมเปย์ แมกนัส และเกิดการรบขั้นแตกหักที่สมรภูมิฟาซาเลียในกรีก ซึ่งกองทัพของซีซาร์มีชัยเหนือกองทัพของปอมเปย์ ตัวปอมเปย์เองต้องหนีลงเรือไปที่อิยิปต์เพื่อขอลี้ภัยและหวังว่าจะได้รับความช่วยเหลือจากพโตเลมีที่ 13 ในการสร้างกองทัพขึ้นมาใหม่เพื่อกลับไปต่อสู่กับซีซาร์อีกครั้งเนื่องจากปอมเปย์เคยให้ความช่วยเหลือแก่พระราชบิดาของพโตเลมี ในการชิงอำนาจคืนจากพวกกบฏก่อนหน้านี้ และเขายังได้รับมอบหมายจากพระราชบิดาของพโตเลมีที่ 13 ให้เป็นผู้ปกครองเขาอีกด้วย อย่างไรก็ตามบรรดาขุนนางผู้ใหญ่ที่ห้อมล้อมพโตเลมีที่ 13 ลงความเห็นว่าอิยิปต์จำเป็นต้องเลือกข้างให้ถูกมิฉะนั้นอาจประสบหายนะถูกยึดครองเป็นเมืองขึ้นของโรมได้ พวกเขาลงความเห็นว่าปอมเปย์นั้นหมดวาสนาแล้วในขณะที่จูเลียส ซีซาร์กำลังมาแรงและเป็นผู้มีอำนาจสูงที่สุดในมหาอาณาจักรโรมัน ดังนั้นแทนที่จะให้ความช่วยเหลือปอมเปย์พวกเขากลับสังหารปอมเปย์ทันทีที่ก้าวเท้าขึ้นมาบนแผ่นดินอิยิปต์และตัดศรีษะปอมเปย์ไว้เพื่อส่งมอบให้จูเลียส ซีซาร์เป็นการเอาใจต่อไป
ซีซาร์ติดตามปอมเปย์มาถึงเมืองอเล็กซานเดรีย และได้รับศรีษะของปอมเปย์จากพโตเลมีที่สิบสามเพื่อเป็นการเอาใจซีซาร์ และหวังให้ซีซาร์ช่วยพระองค์จัดการกับคลีโอพัตราที่กำลังตั้งกองกำลังเตรียมทำศึกกับตนอยู่ แต่แทนที่ซีซาร์จะพอใจซีซาร์กลับเห็นว่าเป็นการกระทำที่โหดร้ายทารุณเกินไป และเป็นการไม่ให้เกียรติให้กับปอมเปย์ซึ่งเป็นนักรบวีรบุรุษคนหนึ่งของโรม และในคืนนั้นคลีโอพัตราได้วางแผนเข้าพบซีซาร์ โดยการให้คนรับใช้ของนางนำของขวัญมาส่งให้ซีซาร์ โดยบอกว่าเป็นของที่คลีโอพัตราต้องการมอบให้กับซีซาร์ ซีซาร์นั้นมีความสนใจและต้องการพบคลีโอพัตราอยู่แล้ว เพราะเขาได้ยินกิติศัพท์เลื่องลือเรื่องความงดงาม เฉลียวฉลาด และความรอบรู้ของเจ้าหญิงน้อยองค์นี้มานานแล้ว และเมื่อเขาคลี่พรมออกก็ได้พบกับคลีโอพัตราซึ่งม้วนตัวออกมาจากพรม ซีซาร์รู้ได้ทันทีว่านี่คือเจ้าหญิงน้อยที่เขาอยากพบมานานแล้วนั่นเอง
เมื่อซีซาร์คลี่พรมออกก็ได้พบคลีโอพัตราซึ่งม้วนตัวออกมา เข้ารู้ทันทีว่านี่คือ “คลีโอพัตรา” ที่เขาเคยได้ยินกิตติศัพท์มานานแล้วว่านางเป็นเจ้าหญิงที่ทั้งสวยทั้งฉลาดปราดเปรื่องยิ่ง |
ขณะนั้นซีซาร์อายุห้าสิบกว่าปีแล้ว ในขณะที่คลีโอพัตราอายุประมาณ 19 ปีเท่านั้นเอง ซีซาร์รู้สึกทึ่งและประทับใจในความงดงามของนางยิ่งนัก ทั้งๆที่ตามความเป็นจริงแล้ว ซีซาร์มีประวัติเป็นเสือผู้หญิงชั้นแนวหน้าคนหนึ่งทีเดียว และก็เคยพบเห็นสตรีงามมามากมายหลายเชื้อชาติหลายประเทศหลายเผ่าพันธุ์ แต่เขาไม่เคยพบใครที่มีเสน่ห์น่ารักเช่นนางเลย บันทึกในตำนานบางเล่มบอกว่าเขาถึงกับอ้ำอึ้งไปครู่หนึ่งด้วยความประทับใจในความงดงามของคลีโอพัตรา ตำนานบอกว่าทั้งสองได้ร่วมหลับนอนกันภายในคืนแรกที่ได้พบกันนั้น ซึ่ง ณ เวลานั้นนางยังเป็นหญิงพรหมจรรย์อยู่ (การแต่งงานกับน้องชายของนางนั้นเป็นเพียงพิธีการตามกฎมณเฑียรบาลเท่านั้น โดยน้องชายนางในขณะนั้นเพิ่งอายุสิบสองปี) ในขณะที่ซีซาร์มีอายุมากพอจะเป็นบิดาของนางได้ ซึ่งต่อมาพระนางก็หลงรักซีซาร์ด้วยเช่นกัน จากการที่เขาเป็นคนฉลาดปราดเปรื่องและรอบรู้ในเรื่องราววิชาการแขนงต่างๆทำให้สามารถพูดคุยโต้ตอบกับนางได้ถูกคอกันเป็นอย่างดี และแน่นอนเหตุผลสำคัญอีกข้อหนึ่งก็คือ ซีซาร์เป็นผู้ชายที่มีอำนาจสูงสุดในโลกยุคนั้น และนางต้องการความช่วยเหลือจากซีซาร์ในการจัดการกับฟาโรห์พโตเลมีที่ 13 และช่วยปกป้องความเป็นเอกราชของอิยิปต์เอาไว้
5. ซีซาร์กับคลีโอพัตรา
จูเลียส ซีซาร์ กับคลีโอพัตรา : รักครั้งแรกของคลีโอพัตรา/รักครั้งสุดท้ายของจูเลียส ซีซาร์ วีรบุรุษที่ยิ่งใหญ่ที่สุดหนึ่งเดียวของอภิมหาอาณาจักรโรมัน ซึ่งต่อมาชาวโรมันได้ใช้ชื่อของเขาเป็นสรรพนามเรียกจักรพรรดิ์ทุกๆพระองค์ของพวกตนว่า “ซีซาร์” |
หลังจากนั้นซีซาร์ก็ได้จัดการปลดพโตเลมีที่ 13 ออกจากตำแหน่งพร้อมคณะขุนนางที่ห้อมล้อมเขาอยู่และมอบตำแหน่งราชินีแห่งอิยิปต์คืนให้กับคลีโอพัตรา ความสัมพันธ์ระหว่างซีซาร์กับคลีโอพัตราลึกซื้งและผูกพันกันมากขึ้นเรื่อยๆ อันที่จริงเมื่อเรื่องราวในอิยิปต์สงบเรียบร้อยดีแล้วเขาควรจะกลับไปกรุงโรมแต่เขาก็อยู่ต่อไปเรื่อยๆ และเมื่อคลีโอพัตราตั้งครรภ์ ทั้งสองจึงได้ทำพิธีอภิเษกสมรสตามประเพณีของอิยิปต์อย่างเปิดเผย หลังจากที่ลูกของซีซาร์เกิดแล้วซีซาร์ดีใจมากเพราะเขายังไม่มีลูกชายเลย เขาสวมกอดทารกแรกเกิดต่อหน้าสาธารณชนและทหารโรมันใต้บังคับบัญชาของเขาจำนวนมาก ซึ่งตามกฎหมายโรมันถือว่าเขาได้รับรองทารกนั้นแล้วว่าเป็นบุตรที่ถูกต้องตามกฎหมาย
การที่ซีซาร์ใช้เวลาอยู่กับคลีโอพัตราเป็นเวลานานโดยไม่ยอมเดินทางกลับโรม ทำให้บรรดาฝ่ายต่อต้านเขาในสภาซีเนทพากันกล่าวโจมตีเขาว่าหลงเสน่ห์ผู้หญิง จนกระทั่งลืมหน้าที่ความรับผิดชอบของตัวเอง ในขณะนั้นก็มีข่าวเข้ามาถึงซีซาร์ว่าเกิดเหตุการณ์ไม่สงบขึ้นในเอเชียไมเน่อร์ โดยฝ่ายต่อต้านโรมันได้ก่อการกบฏขึ้นและได้จับแม่ทัพโรมันที่ประจำการอยู่ที่นั่นประหารชีวิต ซีซาร์จึงยกกองทัพออกไปปราบปราม และเมื่อปราบปรามพวกกบฏราบคาบแล้วจึงเดินทางกลับกรุงโรม เมื่อกลับถึงกรุงโรมแล้วซีซาร์ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนและสภาซีเนทท่วมท้นแต่งตั้งให้เขาดำรงตำแหน่งผู้เผด็จการแห่งโรม ซึ่งเป็นผู้นำสูงสุดของอาณาจักรโรมัน และเป็นผู้มีอำนาจเด็ดขาดในการตัดสินใจดำเนินการบริหารงานที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม เนื่องจากประชาชนชาวโรมันต้องการตอบแทนความดีที่เขาทำให้อาณาจักรโรมัน โดยเป็นผู้พิชิตดินแดนต่างๆและเป็นผู้ปกครองโลกแห่งดินแดนรอบชายฝั่งทะเลเมดิเตอเรเนียนทั้งหมด
ประชาชนจำนวนมากพากันมาต้อนรับซีซาร์ในฐานะวีรบุรุษผู้ยิ่งใหญ๋ของพวกเขา และหลังจากนั้นสภาซีเนทโดยความสนับสนุนของประชาชนก็ได้แต่งตั้งให้ซีซาร์ดำรงตำแหน่งผู้เผด็จการแห่งโรม ซึ่งเป็นตำแหน่งบริหารสูงสุดของอาณาจักรโรมัน |
ประมาณหนึ่งปีกว่า (ประมาณ 46 ก่อนคริสตกาล) หลังจากนั้น ซีซาร์ได้เชิญคลีโอพัตราเดินทางไปเยือนกรุงโรมอย่างเป็นทางการพร้อมกับซีซาเรี่ยนบุตรชาย ชาวโรมันพากันแตกตื่นมารอดูราชินีสาวที่ร่ำลือกันว่างดงามยิ่งนัก คลีโอพัตรายกขบวนมาอย่างมโหฬารโดยมีซีซาเรี่ยนนั่งอยู่ข้างกาย กล่าวกันว่าแม้ซีซาเรี่ยนจะมีผิวออกคล้ำแบบชาวอิยิปต์ทั่วไป แต่ใบหน้านั้นแทบจะถอดพิมพ์ออกมาจากซีซาร์ทีเดียว
คลีโอพัตราและซีซาเรี่ยนได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากประชาชนชาวโรมันจำนวนมาก ขณะที่นางเดินทางเข้าประตูกรุงโรมมาพร้อมกับขบวนแห่แหนที่ยิ่งใหญ่อลังการณ์ |
ซีซาร์จัดบ้านพักที่ใหญ่โตหรูหราให้คลีโอพัตราพักอาศัย และใช้เวลาอยู่กับนางที่บ้านหลังนี้เป็นส่วนใหญ่ เขาใช้ชีวิตที่รื่นรมย์กับนางท่ามกลางบรรยากาศอันอบอวลด้วยกลิ่นไอแบบตะวันออก ในช่วงนี้เองเขาว่าจ้างช่างปั้นมือหนึ่งของโรมมาปั้นรูปเหมือนของคลีโอพัตราและให้ชื่อว่า “เทพีวีนัสเจเนทริกซ์” เพื่อเอาไปตั้งประดับ ณ เทวาลัยหลังใหม่ ในระหว่างช่วงเวลานี้บรรดานักการเมือง นักปราชญ์ นักการทหาร พ่อค้า ฯลฯ พากันมาเยี่ยมคำนับนางมากมายและต่างก็พอใจในความงดงาม ความเฉลียวฉลาด และความรอบรู้ของนางเป็นอันมาก
อย่างไรก็ตามกลุ่มฝายต่อต้านซีซาร์ในสภาซีเนทกลับพากันวิตกกังวลว่า คลีโอพัตราจะยุยงให้ผู้เผด็จการแห่งโรมเกิดความมักใหญ่ใผ่สูง รวบอำนาจมาจากรัฐสภาตั้งตัวขึ้นเป็นกษัตริย์แบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และพากันปล่อยข่าวดังกล่าวให้กระจายออกไปสู่ประชาชน ว่าซีซาร์จะตั้งตัวเองเป็นกษัตริย์แล้วยกคลีโอพัตราขึ้นเป็นราชินีพร้อมทั้งตั้งซีซาเรี่ยนขึ้นเป็นรัชทายาท กลุ่มต่อต้านดังกล่าวยังได้สมคบคิดกันวางแผ่นฆ่าซีซาร์ในที่ประชุมรัฐสภาจนสำเร็จ ดังนั้นในเช้าวันหนึ่งของเดือนมีนาคม 44 ปีก่อนคริสตกาล โรมก็ต้องสั่นสะเทือนด้วยข่าวซีซาร์ถูกสังหารกลางสภาซีเนทโดยน้ำมือของพวกนักการเมืองที่เกรงว่าซีซาร์จะรวบอำนาจตั้งตัวเป็นใหญ่
กลุ่มสมาชิกสภาซีเนทที่ไม่ต้องการให้ซีซาร์ก้าวขึ้นเป็นจักรพรรดิ์ของโรมัน วางแผนสังหารซีซาร์ในที่ประชุมสภาด้วยมีดสั้นที่แอบซ่อนติดตัวเข้าไป และช่วยกันรุมแทงซีซาร์จนเสียชีวิต |
มรณกรรมของซีซาร์จึงเป็นการดับฝันของคลีโอพัตรา ที่จะเห็นโรมและอิยิปต์รวมตัวกันภายใต้กษัตริย์องค์เดียวโดยมีซีซาเรี่ยนเป็นรัชทายาท เนื่องจากพินัยกรรมของซีซาร์นั้นได้ระบุให้ออคตาเวี่ยนหลานชายที่เขารับมาเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรมเป็นทายาทตามกฎหมาย และจะได้สืบทอดตำแหน่งผู้เผด็จการแห่งโรมต่อจากเขา จึงเหลือเพียงความจริงและภาระหน้าที่ที่เหลืออยู่สำหรับนางคือ จะต้องรักษาเอกราชของอิยิปต์ให้ได้อยู่ประการเดียว นางจึงพาซีซาเรี่ยนกลับอเล็กซานเดรียอย่างโศกเศร้าและขมขื่น
6. แอนโทนี่กับคลีโอพัตรา
มาร์ค แอนโทนี่กับคลีโอพัตรา
|
มาร์ค แอนโทนี่เป็นนายทหารคู่ใจของจูเลียส ซีซาร์ ตามตำนานบอกว่าเขาเป็นคนรูปร่างสูงใหญ่ ลำคอหนา หน้าตาหล่อเหลามีเสน่ห์มาก ผมหยักศกมีกล้ามเนื้อเป็นมัดๆ แข็งแกร่งราวกับนักต่อสู้สิงห์โตของชาวโรมัน และได้รับคำกล่าวยกย่องจากประชาชนโรมันว่า เขาเป็นทายาทของเฮอร์คิวลิส และเป็นเทพเจ้าดีโอนีซุสของพวกโรมันกลับชาติมาเกิด ในการรบนั้นแอนโทนี่เป็นนายทหารม้าที่เก่งกาจ และแกร่งกล้าที่สุดในกองทัพโรมัน ภายหลังการเสียชีวิตของซีซาร์ มาร์ค แอนโทนีได้ทำสงครามติดตามจับกุมและสังหารกลุ่มบุคคลที่ร่วมมือกันสังหารซีซาร์จนครบหมดทุกคน โดยสงครามการล้างแค้นสิ้นสุดลงที่สมรภูมิฟิลิปเป้ โดยคัสเซียสถูกสังหารในสนามรบ และบรูตัสฆ่าตัวตาย ทำให้มาร์ค แอนโทนี้ได้รับความนิยมยกย่องจากประชาชนชาวโรมันเป็นอย่างยิ่ง และได้มีการตกลงแบ่งสรรอำนาจการปกครองกันระหว่างสามนักการเมืองผู้ยิ่งใหญ่ของโรม โดยการจัดตั้งคณะผู้ปกครองสูงสุดสามคนแห่งโรมชุดที่สอง (ชุดที่หนึ่งประกอบด้วย จูเลียส ซีซาร์, แมกนัส ปอมเปย์ และมาร์คัส แคสซัส) ขึ้นประกอบด้วย ออกตาเวี่ยน มาร์ค แอนโทนี่ และลีปิดัส โดยออคตาเวียนมีอำนาจปกครองกรุงโรม พื้นที่สวนกลางในอิตาลี และด้านตะวันตก ลีปิดัสปกครองอาฟริกา และมาร์ค แอนโทนี่ปกครองดินแดนภาคตะวันออกทั้งหมด
มาร์ค แอนโทนี่ใช้เวลา 2 ปี ในการทำสงครามไล่ล่าตามจับกลุ่มสมาชิกสภาซีเนทที่รุมสังหารจูเลียส ซีซาร์ ภาระกิจนี้ยุติลงที่สมรภูมิฟิลิเป้ซึ่งกองทัพของแอนโทนี่มีชัย และสามารถสังหารกลุ่มบุคคลที่เหลืออยู่ได้ครบทุกคน ทำให้เขาได้รับความชื่นชมและเป็นวีรบุรุษที่ยิ่งใหญ่ในสายตาของประชาชนชาวโรมันเป็นอย่างยิ่ง |
แผนที่แสดงอาณาเขตของอาณาจักรโรมันในช่วงการปกครองร่วมกันของคณะผู้ปกครองสูงสุด 3 คนรุ่นที่สอง คือ มาร์ค แอนโทนี่, ออคตาเวี่ยน และเลปิดัส เมื่อประมาณ 40 ปีก่อนคริสตกาล โดยออคตาเวียนมีอำนาจปกครองกรุงโรม พื้นที่สวนกลางในอิตาลี และด้านตะวันตก ลีปิดัสปกครองอาฟริกา และมาร์ค แอนโทนี่ปกครองดินแดนภาคตะวันออกทั้งหมด |
เรือสำราญของคลีโอพัตราที่ใช้เดินทางไปพบมาร์ค แอนโทนี่ที่เมืองทาร์ซัส พลูตาชนักประวัติศาสตร์ชาวกรีกได้บรรยายความงามของเรือลำนี้ไว้ดังนี้ “เรือพระที่นั่งสง่างามราวบัลลังก์ทองเหลืองอร่าม ลวดลายแกะสลักรอบลำเรือสวยงามปราณีตยิ่ง ใบเรือเป็นสีม่วง ใบพายทุกใบเคลือบด้วยเงินและทอง ฝีพายทุกคนแต่งตัวอย่างงดงาม จังหวะการโบกพายสอดคล้องกับเสียงดนตรีที่เล่นออกมาจากขลุ่ย และพิณ ล่องลอย มาบนท้องทะเล บนเรืออบอวลไปด้วยกลิ่นหอมจากดอกไม้นานาพันธุ์ที่หอมขจรขจายไปถึงริ่มฝั่งน้ำ ซึ่งมีประชาชนจำนวนมากพากันมามุงดูจนแน่นขนัดไปหมด ตลาดร้านค้าแทบจะร้างไปทั้งเมืองเพราะผู้คนพากันออกจากบ้านมาที่ริมฝั่งน้ำกันหมด ตัวคลีโอพัตราเองแต่งกายด้วยชุดของเทพเจ้าวีนัสซึ่งเป็นเทพแห่งความงามและความรักของพวกโรมัน (ดาวพระศุกร์) ความงามของนางเฉิดฉายเปล่งประกายท้าทายแสงอาทิตย์ในเวลากลางวัน และข่มแสงจันทร์ให้ซีดจางลงในเวลาค่ำคืน คนรับใช้ชายแต่งตัวอย่างสวยงามในชุดของกามเทพและหญิงรับใช้แต่งตัวในชุดนางเงือกทะเล บางคนก็ทำงานอยู่ที่พวงมาลัยเรือ บางคนอยู่ที่เส้นเชือกระโยงระยางต่างๆ เสียงเล่าขานปากต่อปากของประชาชนชาวทาร์ซัสร่ำลือไปจนถึงขนาดว่า เทพธิดาวีนัสได้มาเสวยพระกระยาหารร่วมกับเทพแบคคัสที่ชายฝั่งทาซัสเพื่อพิจารณาการให้ความช่วยเหลือแก่ชาวโลก” |
มาร์ค แอนโทนี่ไปตั้งกองบัญชาการของเขาอยู่ที่ทาร์ซัสนครหลวงของแคว้นซิลิเซีย ซึงเป็นเมืองโบราณเก่าแก่ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำกิ๊ดนุซห่างจากบริเวณปากแม่น้ำ 12 ไมล์ และได้มีสาส์นเชิญคลีโอพัตรามายังทาร์ซัสเพื่อเป็นการเยี่ยมเยียนและเจรจางานการเมืองกับเขาด้วย แอนโทนี่ทราบดีว่าในบรรดากษัตริย์และผู้นำอื่นๆที่ปกครองดินแดนต่างๆในเขตเอเชียไมเนอร์ ถ้าเปรียบเทียบความสามารถในการปกครองแล้ว ไม่มีใครเทียบกับคลีโอพัตราได้เลย และที่สำคัญอิยิปต์ของนางมีความมั่งคั่งอุดมสมบูรณ์มาก เป็นที่หมายตาของผู้นำในดินแดนอื่นๆตลอดมา เมืองอเล็กซานเดรียก็จัดได้ว่ามีความสำคัญเป็นอันดับสองรองจากโรม เขาจึงต้องการผูกเป็นพันธมิตรกับนางจึงส่งสาส์นไปเชิญนางมาที่ทาร์ซัสเพื่อสนทนาเรื่องการเมืองระหว่างกัน คลีโอพัตราเองก็ยินดีได้รับเชิญจากมาร์ค แอนโทนี่ที่เป็นผู้มีอำนาจสูงสุดทางภาคตะวันออก ซึ่งจะช่วยเป็นหลักประกันความมั่นคงและเอกราชของอิยิปต์ได้เป็นอย่างดี
คลีโอพัตราเดินทางไปทาร์ซัสอย่างสมเกียรติ และนำเอาความยิ่งใหญ่ของอิยิปต์ไปให้ชาวทาร์ซัสในแดนไกลได้เห็นด้วย เรือของนางมีความงดงามอย่างยิ่งดังที่นักประวัติศาสตร์ชื่อพลูตาชได้บรรยายไว้ว่า “เรือสำราญของนางปิดทองไว้ด้านนอกเหลืองอร่ามไปทั้งลำ ล่องลอยไปกลางทะเล งานแกะสลักรอบๆลำเรือประณีตงดงามอย่างยิ่ง บนเรือหอมอบอวลไปด้วยกลิ่นดอกไม้นานาพันธุ์ พลพายแต่งตัวอย่างงดงามด้วยใบพายฉาบด้วยแผ่นเงินและทอง แวววาวตัดกับแสงอาทิตย์ ผ้าใบเรือสีม่วงแดงตัดกับพื้นน้ำและแผ่นฟ้าอย่างสวยงาม คลีโอพัตราเองแต่งตัวในชุดของเทพเจ้าวีนัสซึ่งเป็นเทพเจ้าแห่งความงามและความรักของโรมัน นั่งอยู่บัลลังค์ที่ตกแต่งงดงามล้อมรอบด้วยคนรับใช้ที่แต่งตัวในชุดนางเงือกทะเล ความงามของคลีโอพัตราโดดเด่นเป็นสง่าจรัสจ้าท้าสุริยันและจันทราทั้งกลางวันและกลางคืน” ประชาชนที่มารอรับนางต่างพากันตกตะลึงในความงามของนาง ขณะนั้นคลีโอพัตรามีอายุได้ 29 ปี มีความงดงามราวดอกไม้ที่กำลังแย้มบานเต็มที่ ผลของงานเลี้ยงในคืนวันนั้นเป็นไปตามที่นางคาดการณ์ไว้ แอนโทนี่ตกหลุมรักนางอย่างถอนตัวไม่ขึ้น แทนที่มาร์ค แอนโทนี่จะโจมตีอิยิปต์เพื่อยึดเป็นเมืองขึ้นอย่างเด็ดขาด แล้วกวาดต้อนเอาทรัพย์สมบัติในท้องพระคลังไปโรม เพื่อหาคะแนนนิยมจากชาวโรมันให้เหนือออคตาเวี่ยนคู่แข่งของเขา เขากลับตัดสินใจพำนักอยู่ที่อเล็กซานเดรียเป็นการถาวร ไม่กลับไปชิงอำนาจกับออคตาเวี่ยนที่กรุงโรมตามที่ได้ตั้งใจไว้แต่แรก ดังนั้นนอกจากอิยิปต์จะพ้นภัยจากการถูกกองทัพของแอนโทนี่ยึดเป็นเมืองขึ้นของโรมแล้วยังได้แม่ทัพใหญ่ของโรมไว้ป้องกันประเทศอีกด้วย
7. ออคตาเวี่ยนกับคลีโอพัตรา
ออคตาเวี่ยน หลานชายและบุตรบุญธรรมของจูเลียส ซีซาร์ ผู้เป็นทายาทตามพินัยกรรมของจูเลียส ซีซาร์ ที่กำหนดให้ดำรงตำแหน่งผู้เผด็จการของอาณาจักรโรมันซึ่งเป็นตำแหน่งบริหารสูงสุดสืบต่อจากจูเลียส ซีซาร์.ดังนั้นเหตุผลหลักที่เขาต้องหาข้ออ้างทุกอย่างเพื่อบุกโจมตีอิยิปต์ให้ได้ เพราะเขาต้องการกำจัดซีซาเรี่ยนบุตรชายคนโตของคลีโอพัตรา เนื่องจากตราบใดที่ซีซาเรี่ยนยังมีชีวิตอยู่ ซีซาเรี่ยนยังคงสามารถทวงความชอบธรรมในการเป็นทายาทที่แท้จริงของจูเลียส ซีซาร์จากเขาได้เสมอ ซึ่งภายหลังจากที่เขาได้ชัยชนะเหนือคลีโอพัตราและมาร์ค แอนโทนี่แล้ว ต่อมาไม่นานนักเขาก็สถาปนาตนเองขึ้นเป็นจักรพรรดิ์องค์แรกของอภิมหาอาณาจักรโรมัน โดยใช้พระนามว่า “ออกัสตัส ซีซาร์” |
ออคตาเวี่ยนเป็นหลานชายของจูเลียส ซีซาร์ ซึ่งเขารับมาเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรมและเป็นทายาทของเขาตามกฎหมายโรมัน ซึ่งเมื่อเปิดพินัยกรรมหลังการถึงแก่กรรมของจูเลียส ซีซาร์ก็พบว่าออคตาเวี่ยนเป็นผู้ที่ถูกระบุให้เป็นทายาทที่รับตำแหน่งผู้เผด็จการของโรมันต่อจากจูเลียส ซีซาร์ (ตำนานบางฉบับกล่าวว่าที่จริงจูเลียส ซีซาร์ได้ทำพินัยกรรมฉบับใหม่แต่งตั้งซีซาเรี่ยน บุตรชายของเขาที่เกิดจากคลีโอพัตราเป็นทายาทของเขาแล้ว แต่พินัยกรรมฉบับดังกล่าวถูกพวกโรมันทำลายไปเพราะรังเกียจที่ซีซาเรี่ยนไม่ใช่สายเลือดโรมันแท้ แต่เป็นเลือดผสม กรีก+อิยิปต์+โรมัน) ดังนั้นเขาจึงเป็นศัตรูโดยตรงกับคลีโอพัตรา เนื่องจากผลประโยชน์ของเขาอยู่ตรงกันข้ามกับนาง
ในขณะที่มาร์ค แอนโทนี่เป็นชายหนุ่มรูปงามที่มีนิสัยรักสนุกและมีอารมณ์ร่าเริง บางครั้งก็ทำตัวเสเพลเหลวแหลก จนแทบจะเสียผู้เสียคน ออคตาเวี่ยนเป็นคนหนุ่มรูปงามเช่นเดียวกัน แต่เขาเป็นคนเก็บตัวเงียบไม่พูดกับใครมากนักและเต็มไปด้วยเล่ห์เหลี่ยมเพทุบาย ในขณะที่เขาปล่อยข่าวทำลายภาพพจน์ของแอนโทนี่ในหมู่ราษฎรชาวโรมันเสมอว่า มาร์ค แอนโทนี่เป็นทาสแห่งกามารมณ์ของคลีโอพัตรานั้น ตัวเขาเองก็มีข่าวไม่ดีอยู่เสมอว่า ชอบสมสู่กับผู้หญิงไม่เลือกหน้า ในงานเลี้ยงท่ามกลางแขกเหรื่อมากมาย หากเขาประทับใจในความงามของภรรยาใคร ก็มักจะใช้เล่ห์เหลี่ยมหลอกล่อพาเอาตัวไปเสมอและนำมาส่งคืนก่อนงานเลี้ยงเลิก ศัตรูส่วนหนึ่งของเขาก็คือพวกสามีของหญิงที่ถูกออคตาเวี่ยนหลอกไปนั่นเอง แต่ก็ไม่มีใครทำอะไรเขาได้เพราะอำนาจเด็ดขาดอยู่ในมือของออคตาเวี่ยน อย่างไรก็ตามลักษณะสำคัญของออคตาเวี่ยนก็คือ เป็นคนจิตใจเยือกเย็น สุขุมรอบคอบ มากกว่ามาร์ค แอนโทนี่อย่างเทียบกันไม่ได้ เขาต้องการอำนาจ และมีความมักใหญ่ทะเยอทะยานต้องการอำนาจสูงสุดเหนืออาณาจักรโรมันไม่น้อยกว่าใคร แต่เขาไม่แสดงความทะเยอทะยานออกมาให้ใครเห็นและรอคอยจังหวะที่เหมาะสมอย่างเยือกเย็น ในขณะที่มาร์ค แอนโทนี่แสดงตัวอย่างชัดเจนว่าเป็นวีรบุรุษยอดนักรบของโรมัน ที่สมควรอย่างยิ่งที่จะได้เป็นผู้นำสูงสุดของมหาอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่นี้
ภายหลังจากที่จูเลียส ซีซาร์เสียชีวิตแล้วนั้น ออคตาเวี่ยนสามารถรอมชอมกับมาร์ค แอนโทนี่ได้ โดยแบ่งดินแดนกันปกครอง และแอนโทนี่ก็แต่งงานกับน้องสาวของออคตาเวี่ยนชื่อออคตาเวีย ซึ่งตำนานกล่าวว่าเป็นหญิงที่สวยและมีเสน่ห์มากคนหนึ่งเช่นกัน และนางก็รักแอนโทนี่มากด้วย เพื่อให้สัมพันธภาพระหว่างคนทั้งสองเป็นปึกแผ่นมั่นคง แต่ต่อมาแอนโทนี่ไม่สามารถหักห้ามหัวใจตนเองได้จึงกลับไปหาคลีโอพัตราอีกครั้งหนึ่ง และคราวนี้เขาตกลงใจตั้งหลักปักฐานที่อเล็กซานเดรียกับคลีโอพัตราโดยยืดถืออิยิปต์เป็นเรือนตาย ทำให้ออคตาเวียนโกรธมากและก็ฉวยโอกาสใช้เรื่องนี้เป็นอีกข้ออ้างหนึ่งในการยุยงราษฎรให้เกลียดชังแอนโทนี่ ว่าเขาหลงเสน่ห์นางแพศยาชาวอิยิปต์จนกระทั่งทิ้งภรรยาชาวโรมันที่แสนสวยและแสนดีของตัวเอง รวมถึงชาติบ้านเมืองของตัวเองด้วย
ออคตาเวี่ยนพยายามสร้างสถานะการณ์และปล่อยข่าวทำลายชื่อเสียง และความนิยมในตัวมาร์ค แอนโทนี่ในหมู่ประชาชนโรมันตลอดเวลา เหตผลสุดท้ายที่ทำให้ประชาชนและสภาซีเนทลงมติให้ทำสงครามกับคลีโอพัตราก็คือ เขาเอาพินัยกรรมที่อ้างว่าเขียนโดยแอนโทนี่มาอ่านในสภาว่าแอนโทนี่ตั้งความปราถนาไว้ว่า ถ้าเขาตายให้ฝังเขาไว้ที่เมืองอเล็กซานเดรียเคียงคู่กับคลีโอพัตรา ซึ่งเขาย้ำกับสภาและประชาชนว่าแอนโทนี่ไม่ได้รักโรม รักคนโรมันเลย เพราะเมื่อตายเขาไม่ต้องการฝังร่างในแผ่นดินโรมัน แต่ต้องการฝังร่างในแผ่นดินอิยิปต์เคียงคู่กับคลีโอพัตราซึ่งเขาสร้างข่าวจนกระทั่งคนโรมันเกลียดชังนางอย่างยิ่งไปก่อนหน้านี้เรียบร้อยแล้ว และเรียกนางว่า “นางแพศยาอิยิปต์ (Egyptian Whore)” |
ความจริงแม้ว่าคลีโอพัตรามีอุดมการณ์ในชีวิต ที่ต้องการให้ซีซาเรี่ยนสืบทอดความเป็นผู้นำสูงสุดต่อจากจูเลียส ซีซาร์ผู้บิดาเพื่อสานต่อเจตนารมณ์ของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช ที่จะรวมทั้งโลกให้เข้าด้วยกันเป็นหนึ่งเดียว แต่นางก็พอใจยอมรับสถานะภาพการครอบครองภาคตะวันออกของมหาอาณาจักรโรมันที่แอนโทนี่มอบให้กับนางและซีซาเรี่ยนได้ นางและแอนโทนี่ต้องการและพร้อมจะเจรจาสันติภาพกับออคตาเวี่ยน แต่ออคตาเวี่ยนเป็นฝ่ายไม่ยอมให้มีการเจรจาสันติภาพเกิดขึ้น และพยายามปลุกปั่นยุยงทั้งราษฎรและสภาซีเนทให้เกลียดชังและโกรธแค้นคลีโอพัตราและมาร์ค แอนโทนี่ จนในที่สุดเขาก็ได้รับมติเป็นเอกฉันท์จากสภาซีเนทและประชาชนชาวโรมันให้ทำสงครามกับคลีโอพัตรา ซึ่งแม้แต่วิธีประกาศสงครามของเขาก็เป็นไปอย่างฉลาดลึกซื้งยิ่งเพราะเขาไม่ได้ประกาศสงครามกับมาร์ค แอนโทนี่ซึ่งเป็นคนโรมันด้วยกัน แต่เขาประกาศสงครามกับอิยิปต์และคลีโอพัตรา ดังนั้นมาร์ค แอนโทนี่จึงกลายเป็นคนขายชาติ มัวเมาลุ่มหลงในเสน่ห์ของนางแพศยาอิยิปต์จนลืมชาติบ้านเมือง และไปช่วยศัตรูรบกับคนโรมันด้วยกันเอง!
8. แอคติอุม สมรภูมิชึ้ขาดชัยชนะ และจุดเปลี่ยนประวัติศาสตร์โลก
สมรภูมิแอคติอุม ยุทธนาวีที่เป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์โลก เมื่อกองทัพของออคตาเวี่ยนสามารถได้ชัยชนะอย่างเด็ดขาดเหนือกองทัพของมาร์ค แอนโทนี่ และคลีโอพัตรา |
หลังจากที่มาร์ค แอนโทนี่ตัดสินใจตั้งหลักปักฐานในอเล็กซานเดรียกับคลีโอพัตราแล้ว ทั้งสองก็เร่งเตรียมการเสริมสร้างกองทัพให้แข็งแกร่ง เพราะคาดว่าอาจจะไม่สามารถหลีกเลี่ยงสงครามกับออคตาเวี่ยนได้ .ในขณะที่ออคตาเวี่ยนนั้นกำหนดเป็นเป้าหมายแน่นอนแล้วว่าเขาจะต้องปราบศัตรูทางการเมืองสองคนสุดท้ายคือมาร์ค แอนโทนี่และคลีโอพัตราให้ได้ เหตุผลสำคัญที่สุดที่เขาไม่สามารถหลีกเลี่ยงสงครามได้ ก็เพราะเขาต้องการกำจัดซีซาเรี่ยนบุตรชายคนโตของคลีโอพัตราให้ได้ เพราะตราบใดที่ซีซาเรี่ยนยังมีชีวิตอยู่ก็ยังคงสามารถทวงความชอบธรรมในการเป็นทายาทที่แท้จริงของจูเลียส ซีซาร์จากเขาได้เสมอ
และในที่สุดเมื่อถึงฤดูหนาวของปีที่ 32 ก่อนคริสตกาล กองทัพที่ยิ่ง่ใหญ่เกรียงไกรของออคตาเวี่ยนและกองทัพผสมโรมัน-อิยิปต์ ของมาร์ค แอนโทนี่ก็ได้เคลื่อนเข้ามาเผชิญหน้ากันคนละฟากฝั่งของทะเลไอโอเนี่ยน และยุทธนาวีที่สมรภูมิแอคติอุมก็เกิดขึ้น ซึ่งปรากฏว่ากองทัพผสมของมาร์ค แอนโทนี่ไม่สามารถต้านทานแสนยานุภาพกองทัพโรมันของออคตาเวี่ยนได้ ต้องแตกพ่ายปราชัยยับเยิน และมาร์ค แอนโทนี่ได้รับความอัปยศอดสูเป็นอย่างยิ่งจากพฤติกรรมของตนเอง เนื่องจากในระหว่างที่กองเรือรบของเขากำลังถูกปิดล้อมทำลายโดยกองเรือของออคตาเวี่ยนอยู่นั้น บรรดาที่ปรึกษาของคลีโอพัตราพากันแนะนำให้นางนำเรือหนีกลับอิยิปต์ไปก่อนเพราะจากสภาพการณ์ มาร์ค แอนโทนี่คงไม่สามารถรอดชีวิตกลับมาได้แล้ว นางควรรีบเดินทางกลับอิยิปต์เพื่อคิดหาหนทางปกป้องอิยิปต์ต่อไปดีกว่า ปรากฏว่าแอนโทนี่ซึ่งกำลังประดาบร่วมรบกับทหารของเขาอยู่นั้น เมื่อเห็นเรือของคลีโอพัตรากำลังบ่ายหน้าไปทางอิยิปต์เขาถึงกับลืมตัว กระโดดหนีลงเรือเล็กทอดทิ้งทหารที่ร่วมรบอยู่ด้วยกัน เพื่อเอาตัวรอดคนเดียวติดตามคลีโอพัตราไป พฤติกรรมของเขาทำให้บรรดาทหารในกองทัพของเขาที่เหลืออยู่ทั้งหมด รวมทั้งกองพลทหารม้าคู่ใจของเขาเองด้วย พากันดูหมิ่นเหยียดหยามและหนีทัพไปเข้ากับฝ่ายออคตาเวี่ยนเกือบทั้งหมดรวมทั้งกองทัพเรือส่วนที่เหลืออยู่
ในขณะที่แอนโทนี่กำลังประดาบร่วมรบกับทหารของเขาอยู่นั้น เมื่อเห็นเรือของคลีโอพัตรากำลังบ่ายหน้าไปทางอิยิปต์ เขาถึงกับลืมตัว กระโดดหนีลงเรือเล็กทอดทิ้งทหารที่ร่วมรบอยู่ด้วยกัน เพื่อเอาตัวรอดคนเดียวติดตามคลีโอพัตราไป |
ความหวังอันยิ่งใหญ่ของคลีโอพัตราและมาร์ค แอนโทนี่ จึงต้องจบลงพร้อมกับความพ่ายแพ้ที่สมรภูมิแอคติอุมอย่างน่าเสียดาย และยังถือเป็นจุดพลิกผันสำคัญในประวัติศาสตร์โลกอีกด้วย
9. ความพ่ายแพ้ของเทพเจ้าและชะตากรรมของผู้แพ้
ในที่สุดแม้แต่เทพเจ้าเองก็ยังแพ้ คลีโอพัตราซึ่งแสดงตัวตนของนางอย่างเปิดเผยตลอดชีวิตว่านางเป็นราชินีที่มีอำนาจและเป็นเทพธิดาไอซิสกลับชาติมาเกิด ส่วนมาร์ค แอนโทนั้น ในช่วงเวลาที่เขาประสบชัยชนะและความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ ทั้งชาวโรมันและชนชาติอื่นๆภายใต้อำนาจของโรมันก็เชื่อว่าเขาคือเทพเจ้าดีโอนีซุสกลับชาติมาเกิด ดังนั้นเมื่อพบกับความพ่ายแพ้ เทพเจ้าเองก็ยังหลีกเลี่ยงชะตากรรมของผู้แพ้ไม่ได้ ภายหลังความพ่ายแพ้ที่สมรภูมิแอคติอุม ออคตาเวียนได้ส่งสาส์นถึงคลีโอพัตราขอให้นางขับไล่มาร์ค แอนโทนี่ออกไปจากอิยิปต์หรือไม่ก็สังหารเขาเสีย เพื่อแลกกับสันติภาพ ซึ่งมีหรือที่คนอย่างนางจะยอมก้มหัวให้กับออคตาเวี่ยน นางไม่ตอบและไม่ทำสิ่งใดตามที่ออคตาเวียนขอมาทั้งสิ้น สิ่งเดียวที่นางคิดก็คือทำอย่างไรจึงจะสามารถรักษาความเป็นเอกราชของอิยิปต์เอาไว้ได้ และรอดพ้นจากการคุกคามของโรมัน และทำอย่างไรจึงจะสามารถปกป้องราชบัลลังก์ให้กับลูกๆของนางได้
เมื่อออคตาเวียนยกกองทัพมาถึงเมืองอเล็กซานเดรียแล้ว เขายังไม่บุกเข้ายึดเมืองแต่ส่งทูตมาเจราจากับคลีโอพัตราว่า เขายินดีจะสงบศึกกับอิยิปต์และยกกองทัพกลับโรมถ้าคลีโอพัตราประหารชีวิตมาร์ค แอนโทนี่และส่งศรีษะของมาร์ค แอนโทนี่ให้เขา คลีโอพัตราปฏิเสธที่จะทำตามคำขอดังกล่าวและให้ทูตกลับไปแจ้งออคตาเวี่ยนว่ามีเพียงสองทางเลือกเท่านั้นสำหรับเขาคือ ไม่ได้ศีรษะใครทั้งสิ้นหรือถ้าได้ก็ได้ทั้งสองศีรษะ |
ในที่สุดออคตาเวี่ยนก็ยกกองทัพเข้ามาถึงอิยิปต์ และสามารถยึดเมืองเปลูเซียมทางภาคตะวันออกเฉียงหนือของอิยิปต์ได้อย่างง่ายดาย และมีคำสั่งมาให้คลีโอพัตราประหารชีวิตมาร์ค แอนโทนีเสีย นางขับไล่คนถือสาส์นกลับไปและปฏิเสธที่จะทำตามคำสั่งของออคตาเวี่ยน มาร์ค แอนโทนี่พยายามรวบรวมกำลังทหารเพื่อต่อสู้กับกองทัพโรมันของออคตาเวียนอีกครั้งหนึ่ง แต่ปรากฏว่าทหารที่เหลืออยู่เกือบทั้งหมดได้หนีทัพไปหมดแล้ว คงเหลือเขาคนเดียวที่ควบม้าเข้าเผชิญหน้ากับกองกำลังของออคตาเวียนที่กระจายกำลังเรียงหน้าเข้ามาราวกับกำแพงยักษ์ขนาบเข้ามา แอนโทนี่ประกาศขอให้ทหารโรมันได้ช่วยให้โอกาสให้เขาได้ตายอย่างชายชาติทหารในสนามรบด้วย แต่ไม่มีใครเข้ามาประดาบกับเขาเลย และเมื่อเขากลับเข้ามาในเมืองอเล็กซานเดรียก็ได้ทราบจากคนในพระราชวังซึ่งไม่ชัดเจนทำให้เขาเข้าใจผิดว่าคลีโอพัตราได้ฆ่าตัวตายไปแล้ว แอนโทนี่เสียใจมาก และตะโกนก้องว่า “เมื่อนางสุดที่รักของข้าเสียชีวิตไปแล้ว ก็เท่ากับว่าโลกของข้าได้พังทลายลงหมดสิ้นแล้ว ข้าจะมีชีวิตอยู่ต่อไปเพื่ออะไร” เขาหัวเราะอย่างขมขื่นแล้วกล่าวว่า “ข้าไม่เสียใจหรอกในการจากไปของนางสุดที่รักของข้า เพราะข้ากำลังจะติดตามนางไป และเราสองคนจะมีความสุขด้วยกันไปตลอดกาลนาน” เมื่อกล่าวเสร็จเขาก็ฆ่าตัวตายด้วยดาบของเขาเอง คนรับใช้พากันแตกตื่นตกใจกันไปหมด และมีคนแจ้งข่าวไปยังคลีโอพัตราซึ่งอยู่ที่สุสานที่นางเตรียมไว้สำหรับการฆ่าตัวตายว่าแอนโทนี่ฆ่าตัวตายและบาดเจ็บสาหัสอยู่ นางรีบให้คนรับใช้พากันไปนำร่างของแอนโทนี่มาพบนาง ในขณะนั้นแอนโทนี่ยังไม่สิ้นใจ คลีโอพัตรานำร่างของเขาไปวางบนเตียงนอนของนาง ทุบอกตัวเองพร้อมกับบอกแอนโทนี่ว่า ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็ตาม มาร์ค แอนโทนี่จะเป็นเจ้านาย เป็นสามี และเป็นกษัตริย์ของนางไปชั่วกาลนาน แอนโทนี่บอกนางว่าไม่ต้องการให้นางโศกเศร้าเสียใจกับเขา ไม่ต้องการให้นางสงสารเขา ไม่ต้องการให้นางปลอบโยนเขา แต่ต้องการให้นางจดจำว่าเขาเป็นนักรบที่ยิ่งใหญ่ เป็นชายชาติทหารที่เข้มแข็ง ให้นางจดจำความสุขที่ทั้งสองเคยมีร่วมกัน และสุดท้ายต้องการให้นางจดจำว่าเขารักนาง แล้วแอนโทนี่ก็สิ้นใจในอ้อมกอดของคลีโอพัตรา ซึ่งฆ่าตัวตายตามไปด้วยการให้งูพิษกัด คนใช้ได้นำศพคนรักทั้งสองไปฝังไว้ร่วมกันในที่ลับแห่งหนึ่ง ตามคำสั่งเสียของคลีโอพัตรา ซึ่งยังค้นหาไม่พบจนกระทั่งปัจจุบัน มาร์ค แอนโทนี่ ผู้ชายที่เคยครองอำนาจมากที่สุดบนพื้นโลกคนหนึ่ง แต่เวลาตายกลับสูญสิ้นหมดทุกสิ่งทุกอย่าง มีสิ่งเดียวที่เขาได้รับตอบแทนกลับมาคือ รักแท้จากฟาโรห์องค์สุดท้ายของอิยิปต์ ที่เป็นผู้หญิงที่สวยที่สุดในประวัติศาสตร์
กล่าวกันว่าแม้ยามที่นางได้จากโลกนี้ไปแล้ว คลีโอพัตราก็ยังคงงดงามประหนึ่งยังมีชีวิตอยู่ สมกับที่นางเป็นราชินี และฟาโรห์ของอาณาจักรอิยิปต์ที่จะอยู่ในความทรงจำของชาวอิยิปต์และชาวโลกไปชั่วกาลนาน โดยนางอยู่ในเครื่องแต่งกายเต็มยศชุดทองของฟาโรห์แห่งอิยิปต์ สวมมงกุฏมีรูปงูเห่าทำด้วยทองคำชูคออยู่เหนือหน้าผาก นอนแน่นิ่งราวกำลังหลับสนิท อีรัสหญิงรับใช้คนสนิทนอนตายอยู่ที่ปลายเท้าด้านหนึ่งของนาง และชาร์เมียนหญิงรับใช้คนสนิทอีกนางหนึ่งนอนตายอยู่ทางด้านศรีษะ |
ความพ่ายแพ้ของคลีโอพัตราและมาร์ค แอนโทนี่ต่อออคตาเวี่ยนนับเป็นโศกนาฏกรรมที่เศร้าสลดยิ่ง ออคตาวียนสั่งหน่วยทหารของเขาให้ติดตามจับกุมซีซาเรี่ยน ที่คลีโอพัตราส่งให้เดินทางหนีไปอินเดียเพื่อคอยหาโอกาสกลับมาทวงคืนสิทธิของตนต่อไป เมื่อจับซีซาเรี่ยนได้เขาสั่งให้ทหารประหารชีวิตซีซาเรี่ยนทันทีเพื่อกำจัดเสี้ยนหนามที่จะมาทวงคืนความเป็นทายาทโดยชอบธรรมของจูเลียส ซีซาร์ไปจากเขา หลังจากนั้นอิยิปต์ก็ตกเป็นเมืองขึ้นของโรมัน และเป็นการสิ้นสุดอารยธรรมอิยิปต์โบราณที่เจริญรุ่งเรืองมากว่า 3,000 ปีลง
ภายหลังจากที่ออคตาเวี่ยนยึดครองอิยิปต์ได้แล้ว ทรัพย์สมบัติอันมหาศาลของราชวงศ์พโตเลมีและความอุดมสมบูรณ์ของแผ่นดินอิยิปต์ จึงส่งเสริมให้ออคตาเวี่ยนสามารถสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้กับอาณาจักรโรมันในเวลาต่อมาได้อีกมหาศาล ทำให้อาณาจักรโรมันขยายอิทธิพลกว้างขวางออกไปอีกทุกสารทิศ และมีการสถาปนาออคตาเวี่ยนขึ้นเป็นจักรพรรดิ์องค์แรกของอาณาจักรโรมัน โดยใช้พระนามว่า “ออกัสตัส ซีซาร์” เขาได้วางระบบกฎหมายและระบบการปกครองที่ดีเยี่ยมให้กับอาณาจักรโรมันซึ่งช่วยให้อาณาจักรโรมันคงอยู่ต่อไปได้อย่างสันติ สงบสุข มั่งคั่ง และเจริญรุ่งเรืองสืบเนื่องต่อไปอีกถึงประมาณ 200 ปี ซึ่งประวัติศาสตร์เรียกช่วงเวลานี้ว่า “ยุคสันติสุขของโรมัน, Pax Romana” ระหว่างปีที่ 27 ก่อนคริสตกาลถึงปี ค.ศ.180 ซึ่งก็คือปีที่ออคตาเวี่ยนมีชัยชนะเหนือคลีโอพัตราและมาร์ค แอนโทนี่ และเขาประกาศการสิ้นสุดสงครามกลางเมืองของโรมัน ไปจนถึงปีที่จักรพรรดิ์มาคัส ออเรเลียส สิ้นพระชนม์ ซึ่งหลังจากนั้นจึงเป็นการเริ่มต้นยุคเสื่อมของโรมัน โดยในช่วงการปกครองของออคตาเวี่ยนในฐานะจักรพรรดิ์องค์แรกนั้น อาณาจักรโรมันมีความเจริญรุ่งเรืองอย่างยิ่งโดยประวัติศาสตร์เรียกยุคนี้ของโรมันว่า “ยุคทองของโรมัน, Golden Age” หรือ“ยุคของออกัสตัส, Augustan Age”
แผนที่แสดงอาณาเขตของอาณาจักรโรมันในยุคที่เจริญรุ่งเรืองที่สุด
|
10. คลีโอพัตรา: ผู้หญิงที่โลกไม่เคยลืม
คลีโอพัตราได้เสียชีวิตมาเป็นเวลานานกว่าสองพันปีแล้ว แต่เรื่องราวและชีวิตที่น่าประทับใจของนางยังคงได้รับการกล่าวขานสืบเนื่องกันมาตลอดทุกช่วงเวลาของประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา กวี ศิลปิน และนักเขียนจำนวนมากได้กล่าวถึงนางและเรื่องราวอันยิ่งใหญ่ของนางมาตลอดทุกยุคทุกสมัยเช่น ยอร์จ เบอร์นาดชอว์นักแต่งละครชาวอังกฤษผู้ยิ่งใหญ่ได้นำเรื่องราวของนางมาเขียนเป็นบทละครอมตะเรื่อง “ซีซาร์กับคลีโอพัตรา” ในขณะที่เช็คสเปียร์กวีเอกของโลกก็ได้นำเรื่องราวของนางมาแต่งเป็นบทกลอนเรื่อง “แอนโทนี่กับคลีโอพัตรา” จากแรงบันดาลใจที่ได้อ่านเรื่องราวของนาง บทประพันธ์ทั้งสองนั้นเนื้อหาหลักเป็นการกล่าวยกย่อง ความงามสง่า และเสน่หานุภาพของนาง และบรรยายเรื่องราวความรักอมตะระหว่างนางกับจูเลียส ซีซาร์ และมาร์ค แอนโทนี่ ไมเคิล แองเจโล ศิลปินเอกของโลกก็ได้วาดภาพนางไว้เช่นกัน โดยในภาพเขียนต่างๆทั่วไปนั้นก็มักจะบรรยายภาพให้จูเลี่ยส ซีซาร์เป็นแม่ทัพผู้ยิ่งใหญ่ มาร์ค แอนโทนี่เป็นวีระบุรุษที่มีหน้าตาดี และมีบุคลิกสง่างาม และภาพของคลีโอพัตราให้เป็นผู้หญิงที่งดงามและมีเสน่หานุภาพยิ่ง แม้ในปัจจุบันนี้เรื่องราวของนางก็ยังคงได้รับการนำมาบอกเล่าบนจอภาพยนตร์ ละครเวที หรือรายการโทรทัศน์ และในข้อเขียน บทความ สิ่งตีพิมพ์ต่างๆมากมาย ซึ่งประเด็นต่างๆที่น่าสนใจเกียวกับ “คลีโอพัตรา” นั้นพอจะสรุปได้ดังนี้
(1) “คลีโอพัตรา” เป็นฟาโรห์องค์สุดท้าย ในระบอบการปกครองของอิยิปต์โบราณที่เป็นอารยธรรมที่ยิ่งใหญ่และเจริญรุ่งเรืองยิ่งในประวัติศาสตร์ สืบทอดอำนาจการปกครองผลัดเปลี่ยนราชวงศ์ต่างๆกันมาอย่างต่อเนื่องโดยตลอดเป็นระยะเวลากว่าสามพันปี และต้องมาสิ้นสุดลงในสมัยของคลีโอพัตราจากการรุกรานของอาณาจักรโรมัน หลังจากสมัยของคลีโอพัตราอิยิปต์ก็กลายสภาพเป็นเพียงแค่เขตยึดครองของโรมันเท่านั้น
(2) “คลีโอพัตรา” ในตลอดระยะเวลาสองพันกว่าปีที่ผ่านมา นางได้รับการกล่าวขวัญถึงว่าเป็นผู้หญิงที่สวยที่สุดในประวัติศาสตร์ (ตะวันตก) ซึ่งโดยทั่วไปประวัติศาสตร์ตะวันตกบอกว่ามีผู้หญิงที่สวยที่สุดในประวัติศาสตร์ 3 คนคือ ราชินีเนเฟอร์ตีติ (อิยิปต์โบราณ), เฮเลน แห่งทรอย (กรีก) และ ฟาโรห์คลีโอพัตรา (ยุคสุดท้ายของอิยิปต์โบราณ) และถ้าจะมีผู้หญิงที่สวยที่สุดในประวัติศาสตร์ของฝรั่งเพิ่มขึ้นอีกก็ดูเหมือนว่าจะยกให้ ราชินีกินิเวียร์ (อังกฤษ) ของกษัตริย์อาเธอร์แห่งคาเมล็อต (ผู้ก่อตั้งอัศวินโต๊ะกลม) ว่าเป็นผู้หญิงที่สวยที่สุดในประวัติศาสตร์คนที่ 4 (เท่ากับของจีนพอดีซึ่งมีผู้หญิงที่สวยที่สุดในประวัติศาสตร์ 4 คนคือ ไซซี, เตียวเสี้ยน, หยางกุ้ยเฟย และหวังเจาจิน)
(3) “คลีโอพัตรา” นอกจากจะได้รับการกล่าวขานถึง ว่าเป็นผู้หญิงที่สวยที่สุดในประวัติศาสตร์แล้ว ยังได้รับการยอมรับอีกว่าเป็นผู้หญิงที่ฉลาดปราดเปรื่อง เชี่ยวชาญในวิชาการแขนงคณิตศาสตร์ รัฐศาสตร์การปกครอง ศิลปะศาสตร์ และยังเชี่ยวชาญภาษาศาสตร์อย่างยอดเยี่ยม สามารถพูดได้ 14 ภาษารวมถึง พูดภาษาอิยิปต์โบราณได้คล่องแคล่วอีกด้วย ถ้าไม่ใช่เพราะนางเป็นผู้หญิงประวัติศาสตร์คงจะต้องยกตำแหน่ง “ปราชญ์” ให้นางไปแล้วอย่างแน่นอน
(4) “คลีโอพัตรา” เป็นผู้หญิงที่น่าสงสารมากคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ ตลอดชีวิตของนางได้อุทิศตนต่อสู้เพื่อเอกราชของชาติบ้านเมืองภายใต้บัลลังก์ของราชวงศ์พโตเลมี ให้ยืนยงคงอยู่นานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แต่ในที่สุดความเข้มแข็ง สติปัญญา และการทุ่มเทความพยายามของนาง ก็ไม่สามารถต้านทานแสนยานุภาพที่เกรียงไกรยิ่งใหญ่ของมหาอาณาจักรโรมันได้ ผลตอบแทนที่นางได้รับในที่สุด จึงมีแต่ความผิดหวัง อาภัพอับวาสนา ต้องสูญเสียชาติบ้านเมือง ราชบัลลังก์ บุตร ธิดา คนรัก ทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิต และต้องจบชีวิตด้วยการทำอัตวินิบาตกรรมตัวเองในที่สุด
(5) “คลีโอพัตรา” แสดงตัวตนที่แท้จริงของนางโดยตลอด อย่างองอาจกล้าหาญและเปิดเผยว่านางเป็นราชินีที่มีอำนาจ เป็นเทพธิดาไอซิสมาจุติ ในการปกป้องเอกราชอธิปไตยของชาติบ้านเมืองนั้น นางต่อสู้กับผู้มีอำนาจแห่งโรมราวกับนางสิงห์ทะเลทราย ไม่เคยยอมก้มหัวให้กับทั้งแสนยานุภาพที่ยิ่งใหญ่ของอภิมหาอาณาจักรโรมัน และผู้ชายของโรมันที่มีอำนาจมากที่สุดในโลกไม่ว่าคนไหนทั้งสิ้น แม้เมื่อถึงวาระสุดท้ายของชีวิต นางก็ยอมตายมากกว่าที่จะยอมก้มหัวให้กับ ออคตาเวียน และอภิมหาอาณาจักรโรมันของเขา
(6) “คลีโอพัตรา” เป็นอัจฉริยะทางการเมือง ที่ต้องการสืบสานเจตนารมณ์ของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชที่ว่า เพื่อความเจริญไพบูลย์ของมนุษย์ชาติ โลกควรจะอยู่ภายใต้ระบบการปกครองที่เป็นหนึ่งเดียว จูเลียส ซีซาร์, เจ็งกิสข่าน และนโปเลียน โบนาปาร์ต ฯลฯ ก็คิดแบบนี้ ในขณะที่พวกเขาได้รับการยกย่องจากโลกว่าเป็น มหาบุรุษ/มหาราช แต่เพียงเพราะนางเป็นผู้หญิงจึงถูกประณามว่าเป็น “นางแพศยาที่กระหายอำนาจ”???
(7) “คลีโอพัตรา” ผู้ชายในชีวิตของนางทั้งสองคน คือ จูเลียส ซีซาร์ และมาร์ค แอนโทนี่ล้วนเป็นผู้ชายที่มีอำนาจมากที่สุดในโลกในยุคนั้น ซึ่งไม่เคยมีผู้หญิงนางใดในประวัติศาสตร์ สามารถครอบครองหัวใจของบุรุษที่มีอำนาจมากที่สุดในโลกได้ถึงสองคนเช่นนาง อีกทั้งเรื่องราวในการเข้าครอบครองหัวใจของผู้ชายในชีวิตของนางทั้งสองคนนั้น ก็เป็นเรื่องราวความรักอมตะบันลือโลกที่ลือลั่นสะท้านแผ่นดิน เล่าขานสืบเนื่องติดต่อกันมากว่าสองพันปีทุกชั่วอายุคนจวบจนปัจจุบัน
(8) “คลีโอพัตรา” ในทางโหราศาสตร์นั้นคำว่า “ผู้ชายในชีวิต” สำหรับผู้หญิง ถ้าไม่ใช่ “สามี” ก็จะเป็น “ผู้ชายที่เป็นศัตรูเปิดเผย และประจันหน้าโดยตรง” กับผู้หญิงคนนั้น .ซึ่งเนื้อหาในภาพยนตร์ทั้งสองเวอร์ชั่น และบันทึกโบราณบางส่วนก็ชี้บอกเหมือนกันว่า ออคตาเวี่ยนเองก็มีส่วน “พอใจ” คลีโอพัตราเช่นกัน แต่เขาฉลาดพอและเป็นคนที่ให้ความสำคัญกับเรื่องของ “อำนาจทางการเมือง” มากกว่าที่จะมาลุ่มหลงในอิสตรี แต่ถ้าสมมติว่าคลีโอพัตรายอมไปกรุงโรมตามความต้องการของออคตาเวี่ยนเมื่อเขายึดครองอิยิปต์ได้แล้วนั้น วีรบุรุษทิ่ยิ่งใหญ่ที่สุดทั้งสามคนของมหาอาณาจักรโรมันยุคนั้นอาจล้วนเคยคุกเข่าให้นางมาหมดแล้วทุกคนก็ได้!!
(9) “คลีโอพัตรา” ภาพยนตร์เรื่องคลีโอพัตรา เวอร์ชั่นปี 1963 ที่แสดงนำโดย เอลิซาเบธ เทย์เล่อร์ ริชาร์ด เบอร์ตัน และเร็ค แฮริสัน เป็นภาพยนตร์ที่ลงทุนสร้างด้วยต้นทุนที่สูงที่สุดในโลก (มูลค่าลงทุน ณ ปี 1963 คือ 44 ล้านเหรียญสหรัฐ ถ้าคิดอัตราเงินเฟ้อมาจนถึงปัจจุบันจะประมาณระหว่าง 500 – 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 25,000 ล้านบาท!) และคาดได้ว่าในอนาคตจะไม่มีภาพยนตร์เรื่องใด ที่ผู้สร้างจะกล้าลงทุนด้วยต้นทุนที่สูงเช่นนี้อีกแล้ว และโอกาสที่จะสร้างภาพยนตร์โดยใช้ฉากจริง ฝูงชนจริง และอะไรต่ออะไรจริงๆ ทั้งหมดในยุคนี้ก็ยิ่งจะทำให้เป็นไปไม่ได้ยิ่งขึ้นไปอีก
(10) “คลีโอพัตรา” เอลิซาเบธ เทย์เลอร์ ซึ่งแสดงเป็น “คลีโอพัตรา” ตามข้อ (9) เป็นดาราที่โด่งดังที่สุดคนหนึ่งเท่าที่ฮอลลีวูดเคยมีมา และเป็นดาราภาพยนตร์คนแรกของฮอลลีวูดที่ได้ค่าตัวในการแสดงสูงถึง 1 ล้านเหรียญสหรัฐ ( ณ ปี 1963) และเธอเองก็ได้รับเลือกจากโพลสำนักต่างๆในยุคนั้นเช่นเดียวกันให้เป็นผู้หญิงที่สวยที่สุดในโลก และดูเหมือนว่าเธอเป็นนางเอกที่ได้รับความรังเกียจจากสังคมอเมริกันในยุคนั้นมากที่สุดด้วย จากพฤติกรรมการเปลี่ยนสามีบ่อยครั้งมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีสัมพันธ์สวาทกับริชาร์ด เบอร์ตันนอกจอในระหว่างแสดงเป็นคู่พระคู่นางในภาพยนตร์เรื่องนี้ ทั้งๆที่ทั้งคู่ต่างก็มีสามีและภรรยาตามกฎหมายเป็นตัวเป็นตนอยู่แล้ว ในช่วงปี 1963 นั้น เอลิซาเบธ เทย์เลอร์ไม่เพียงได้รับการกล่าวขวัญถึงว่าเป็นผู้หญิงที่สวยที่สุดในอเมริกาเท่านั้น แต่เธอได้รับการกล่าวขวัญว่าเป็น “ผู้ทำลายสถาบันครอบครัวอย่างต่อเนื่อง (serial home breaker)” ที่เป็นภัยยิ่งต่อคุณค่าทางศิลธรรมของสังคมอเมริกันในขณะนั้นอีกด้วย
(11) “คลีโอพัตรา” ไม่มีข่าวเรื่องใดในสหรัฐอเมริกาช่วงปี 1959 – 1964 ที่จะได้รับความสนใจเท่ากับข่าว ความสัมพันธ์ลึกซึ้งนอกจอ ระหว่างคู่พระคู่นาง ริชาร์ด เบอร์ตั้น กับเอลิซาเบ็ธ เทย์เล่อร์ ยกเว้นข่าวการลอบสังหารประธานาธิบดี จอห์น เอฟ เคนเนดี้ และข่าววิกฤติการณ์การเผชิญหน้ากันที่น่านน้ำคิวบา ระหว่างกองเรือรบของสหรัฐ กับกองเรือรบของรัสเซียที่บรรทุกขีปนาวุธติดหัวรบนิวเคลียร์เพื่อนำไปติดตั้งที่คิวบา
(12) “คลีโอพัตรา” อาจจะเพราะนางเป็นผู้หญิงที่มีชื่อเสียง และน่าสนใจมากที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ และอาจเป็นเพราะพวกโรมันกลัวนางมากพอๆ กับที่กลัวฮันนิบาลที่เคยขี่ช้างยกกองทัพบุกไปถึงหน้าประตูกรุงโรม ดังนั้นพวกโรมันซึ่งเป็นผู้ชนะสงครามและมีอคติกับนางจึงเขียนให้ร้ายนางไว้ค่อนข้างมากในบันทึกของพวกเขา (ดังที่กล่าวก่อนหน้านี้แล้วว่าส่วนใหญ่ล้วนเป็นการกล่าวให้ร้ายโดยไม่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่จะอ้างอิงได้) ดังนั้นแม้คนส่วนใหญ่ในโลกจะยกย่องชื่นชมนาง แต่ก็จะมีคนส่วนน้อยบางคนมีอคติกับนางและกล่าวให้ร้ายนางเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่นเรื่องความงามของนางซึ่งเป็นที่กล่าวขานเลื่องลือสืบเนื่องกันมากว่าสองพันปี ก็ยังอุตสาห์มีคนสมัยหลังๆ บางคนอ้างหลักฐานเหรียญโบราณ ที่ทำเป็นรูปสัญญลักษณ์แบบหยาบๆ ที่ค้นพบในช่วงหลังมาเป็นหลักฐานแล้วก็แสดงความเห็นในทางลบว่า คลีโอพัตราไม่ใช่ผู้หญิงสวยอะไร ขี้เหร่ด้วยซ้ำไป ทำนองนี้ ทั้งๆ ที่มีคำบรรยายชัดเจนในประวัติศาสตร์ว่านางเป็นหญิงที่งามสง่าและมีเสน่ห์เป็นอย่างยิ่ง ซึ่งแม้กระทั่งในส่วนที่เป็นบันทึกที่พวกโรมันเขียน และกล่าวร้ายป้ายสีนางในเรื่องต่างๆมากมาย ก็ยังยอมรับเป็นเอกฉันท์มาตลอดว่านางเป็นหญิงที่งดงาม และมีเสน่หานุภาพเป็นอย่างยิ่ง และยังมีรูปปั้นของนางอีกหลายรูปที่พอจะสันนิษฐานได้ว่านางเป็นผู้หญิงที่งดงามมากเช่น รูปประติมากรรมหินอ่อนส่วนที่เป็นใบหน้าของนางซึ่งเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์เชอเชลประเทศอัลจีเรีย รูปปั้นวีนัสเอสไควไลน์ ที่พวกโรมันปั้นให้นางแล้วใช้ชื่อเทียบเคียงกับเทพแห่งความงาม (ดาวพระศุกร์) ของพวกตน ฯลฯ