หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ความหมายของบ้าน



ความหมายของบ้าน
               บ้านเป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์ให้ความรัก ความอบอุ่น ความปลอดภัย เป็นศูนย์รวมของสมาชิกทุกคนในครอบครัวที่จะใช้ชีวิตร่วมกันอย่างมีความสุขและมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน  
               ครอบครัว หมายถึง หน่วยหนึ่งของสังคม ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกตั้งแต่ 2 คน ขึ้นไปอยู่ร่วมบ้านเดียวกัน ให้การศึกษา อบรมเลี้ยงดู 
ความหมายของคำว่า บ้าน ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตสถาน บ้าน ความหมาย ที่อยู่อาศัย สิ่งปลูกสร้างสำหรับเป็นที่อาศัย เช่น บ้านพักตากอากาศ บ้านเช่า โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างสำหรับใช้เป็นที่อาศัยซึ่งมีเจ้าบ้านครอบครอง และหมายรวมถึง แพ หรือ เรือ ซึ่งจอดเป็นประจำ
                ความสำคัญของครอบครัว ให้การศึกษา อบรมเลี้ยงดู ถ่ายทอดประสบการณ์ต่างๆและสร้างเสริมประสบการณ์ต่างๆ ให้กับสมาชิกที่อาศัยอยู่ร่วมกัน ตั้งแต่เกิดจนเจริญเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ให้ความรัก ความเมตตา การเอาใจใส่ ห่วงใย อาทร สร้างความเข้าใจ พยายามเข้าใจ และสร้างสมาชิกในครอบครัวให้มีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ที่สังคมต้องการ
ปัญหาครอบครัว 
   ปัญหาครอบครัวหมายถึงปัญหาที่เกิดขึ้นภายในครอบครัว  ได้แก่ปัญหาระหว่างสามีภรรยา ความขัดแย้งระหว่างพ่อกับแม่ พี่กับน้อง  พ่อกับลูกหรือแม่กับลูก  ปัญหาการติดต่อสื่อสารระหว่างสมาชิกภายในครอบครัว  ปัญหาความสัมพันธ์  ความไม่เข้าใจกัน  
อาการ
   ปัญหาในครอบครัวอาจแสดงอาการออกได้หลากหลายรูปแบบ เช่น บางคนมีความเครียด ปวดหัว ปวดท้องไม่ทราบสาเหตุ  หงุดหงิดง่าย ซึมเศร้า เบื่อหน่ายท้อแท้ชีวิต จนอาจถึงคิดอยากตาย  อาจมีการขัดแย้ง ทะเลาะเบาะแว้งกันบ่อยๆ  ปัญหาอาจลุกลามใหญ่โต หรือเรื้อรัง จนอาจทำให้สมาชิกครอบครัวเกิดอาการทางจิตเวช  หรือป่วยทางจิตเวชกันได้หลายคน เช่น โรคจิต โรคประสาท โรคซึมเศร้า โรคติดสารเสพติด โรคบุคลิกภาพแปรปรวน ดังนั้นการแก้ไขปัญหาครอบครัวตั้งแต่ต้น จึงช่วยป้องกันปัญหาทางจิตเวช และความเจ็บป่วยทางกายได้
การรักษา
การแก้ไขปัญหาครอบครัว สามารถให้การรักษาได้หลายระดับ  ตั้งแต่การให้คำปรึกษาครอบครัว  ไปจนถึงการรักษาแบบครอบครัวบำบัด  ซึ่งมีหลักการรักษา คือ สมาชิกครอบครัวทุกคนมีส่วนร่วมในการเข้าใจปัญหา  หาทางคลี่คลายหรือแก้ไขปัญหาร่วมกัน ช่วยกันปรับเปลี่ยนตนเอง โดยไม่ต้องรอให้อีกฝ่ายหนึ่งแก้ไขก่อน
  การรักษาวิธีนี้ แพทย์จะไม่ค้นหาตัวปัญหา หรือ คนผิด ไม่ตัดสินว่าใครผิดถูก  การช่วยกันปรับความสัมพันธ์ระหว่างกัน การวางตัวต่อกัน เพื่อให้เกิดความเข้าใจกัน บนพื้นฐานของความรัก ความอบอุ่นความห่วงใย ความปรารถนาดีต่อกัน
   ในกรณีที่ความขัดแย้งมีสะสมมานาน  การรักษาจะไม่ขุดคุ้ยความขัดแย้งเก่าๆขึ้นมาอีก  แต่จะวิเคราะห์เฉพาะปัญหาในปัจจุบัน หากลยุทธ หรือวิธีการใหม่ๆ เพื่อคลี่คลายปัญหาหรือความขัดแย้ง สร้างคุณภาพชีวิตครอบครัวเพื่อให้ทุกคนมีความสุข
การป้องกัน
   ครอบครัวที่อบอุ่น เป็นภูมิต้านทานต่อความเจ็บป่วยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น โรคทางกาย โรคทางจิต และ โรคติดสารเสพติด  การสร้างครอบครัวที่อบอุ่น ทำได้ดังนี้
1.มีการติดต่อสื่อสารที่ดี เมื่อมีคนพูด ควรมีคนรับฟัง พยายามทำความเข้าใจกัน บอกความต้องการด้วยความสงบ ไม่ต่อว่า ส่อเสียดคุกคามกัน ไม่ควรเริ่มต้นด้วยการตำหนิ ว่ากล่าว หรือจี้จุดอ่อนของอีกฝ่ายหนึ่ง
2. มีการเคารพสิทธิส่วนตัวของกันและกัน ในพื้นฐานของกติกาที่ดี ไม่มีการละเมิดสิทธิส่วนตัวซึ่งกันและกัน แต่ละคนอาจมีความคิดเห็นแตกต่างกันได้ 
3. พ่อแม่ควรมีความร่วมมือกันในการดูแลครอบครัว   การแก้ไขปัญหาต่างๆ และปัญหาพฤติกรรมเด็ก
4. การมีเวลาที่มีคุณภาพร่วมกัน แม้เวลาเพียงเล็กน้อย แต่คุณภาพที่ดีจะช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่ดี  เป็นพื้นฐานสำคัญของการพัฒนาครอบครัวที่มีคุณภาพ

วันอาทิตย์ที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2556

นายหน้า


นายหน้า (brokerage) เป็นสัญญาประเภทหนึ่ง ซึ่งบุคคลฝ่ายหนึ่งตกลงจะให้ค่าบำเหน็จแก่บุคคลอีกฝ่ายหนึ่งเรียกว่า "นายหน้า" (broker) เพื่อตอบแทนการที่นายหน้าได้ชี้ช่องหรือจัดการให้เขาได้เข้าทำสัญญากับบุคคลอีกฝ่าย สัญญานายหน้าอยู่ในบังคับแห่ง ป.พ.พ. บรรพ 3 เอกเทศสัญญา ลักษณะ 16 นายหน้า ซึ่งตำราบางเล่มเรียก "กฎหมายลักษณะนายหน้า"
เมื่อนายหน้าเป็นสัญญาประเภทหนึ่ง จึงต้องนำกฎหมายลักษณะสัญญามาใช้ด้วย เท่าที่ไม่ขัดกับกฎหมายลักษณะนายหน้า
เรื่องนายหน้านี้ต้องทำความเข้าใจให้ดี เพราะประกอบด้วย (1) สัญญานายหน้า และ (2) สัญญาที่นายหน้าชี้ช่องให้เกิดขึ้น ถ้าไม่อ่านให้ดีอาจฉงนสนเท่ห์ได้

เหตุผลที่เกิดนายหน้า

      การที่บุคคลหนึ่งอาศัยอีกบุคคลหนึ่งช่วยเปิดทางไปสานสัมพันธ์ทางกฎหมายกับบุคคลที่สาม แทนที่จะเข้าหาบุคคลที่สามโดยตรงเลยนั้น อาจเป็นเพราะไม่รู้จักมักคุ้นด้วยกัน หรือไม่รู้จะติดต่อพบปะกันได้อย่างไร เป็นต้น บุคคลที่ช่วยเปิดทางนั้นจึงเป็นเสมือนสื่อกลางให้ผู้อื่นเกิดมาสร้างความสัมพันธ์กันในหลาย ๆ รูปแบบ โดยเฉพาะนิติสัมพันธ์ และบุคคลนี้เรียกว่า "นายหน้า"

สำหรับนายหน้าเอง อาจช่วยเหลือเช่นนั้นเพราะหวังเงินตอบแทน หรือเพราะเป็นญาติสนิทมิตรสหายกันก็ได้ แต่ส่วนใหญ่แล้ว นายหน้ามักทำหน้าที่ด้วยประสงค์ต่อค่าบำเหน็จ โดยเฉพาะนายหน้าซื้อขายอสังหาริมทรัพย์, นายหน้าเช่าอสังหาริมทรัพย์ และนายหน้าจัดหางาน เป็นต้น

องค์ประกอบแห่งสัญญา

ป.พ.พ. ม. 845 บ่งบอกว่า คู่สัญญานายหน้ามีสองฝ่าย ฝ่ายแรก คือ ผู้ตกลงจะให้บำเหน็จแก่นายหน้า เพื่อตอบแทนการที่นายหน้าได้ชี้ช่องให้เขาได้เข้าทำสัญญากับบุคลอื่น ซึ่งอาจเรียกว่า "ผู้วานนายหน้า" ก็ได้ และฝ่ายที่สอง คือ นายหน้าเอง ซึ่งทำหน้าที่ประหนึ่งคนกลางระหว่างสัญญาอีกฉบับหนึ่ง ปรกติแล้ว นายหน้ามักเป็นบุคคลธรรมดา แต่หากนิติบุคคลจะเป็นนายหน้าบ้าง ก็ทำได้โดยผ่านผู้แทนของนิติบุคคลนั้น ๆ ตามหลักทั่วไปคู่สัญญา

         กฎหมายไทยไม่ได้กำหนดว่า ผู้เป็นนายหน้าได้ต้องมีความสามารถทำนิติกรรม นักกฎหมายไทยจึงเห็นต่างกันเป็นสองกลุ่ม

1.   กลุ่มแรกว่า นายหน้าจะมีความสามารถทำนิติกรรม หรือไม่มี หรือมีแต่บกพร่อง เช่น เป็นผู้เยาว์ คนไร้ความสามารถ คนเสมือนไร้ความสามารถ คนวิกลจริต หรือคนล้มละลาย ก็ได้ทั้งนั้น เพราะปรกติแล้ว นายหน้าไม่จำต้องรับผิดเป็นการส่วนตัวในสัญญาที่ตนเป็นสื่อให้เกิดขึ้น
2.   กลุ่มที่สอง ซึ่งเป็นเสียงส่วนน้อย ว่า นายหน้าเป็นสัญญาประเภทหนึ่ง จึงต้องบังคับตามหลักทั่วไปเกี่ยวกับสัญญาด้วย ดังนั้น ในเมื่อไม่มีกฎหมายยกเว้นเป็นพิเศษ จึงต้องนำหลักทั่วไปเรื่องความสามารถทำนิติกรรมมาใช้บังคับด้วย กลุ่มนี้เห็นว่า ถ้านายหน้ามีความสามารถดังกล่าวบกพร่อง สัญญานายหน้าจะเป็นโมฆียะตาม ป.พ.พ. ม. 153

วัตถุประสงค์แห่งสัญญา

          ป.พ.พ. ม. 845 แสดงว่า สัญญานายหน้ามีวัตถุประสงค์เป็นการที่นายหน้าชี้ช่องให้ผู้วานนายหน้าได้เข้าทำสัญญากับบุคคลอื่น ซึ่งเป็นจุดต่างกับสัญญาตัวแทน ที่ตัวแทนจะเข้าทำสัญญากับบุคคลอื่นโดยตรงแทนตัวการเลย นอกจากนี้ บุคคลจะเป็นนายหน้าให้ตนเองมิได้ ต้องเป็นให้ผู้อื่นเท่านั้น และสัญญาที่จะชี้ช่องนั้น อะไรก็ได้ ไม่มีจำกัดไว้ โดยอาจเป็นสัญญาว่าจะทำสัญญากันในอนาคต เช่น สัญญาจะซื้อจะขาย ก็ได้

วัตถุแห่งสัญญา

       ค่าบำเหน็จนี้ จะกำหนดเป็นจำนวนตายตัว เช่น หนึ่งแสนแปดหมื่นบาท หรือกำหนดเป็นร้อยละ เช่น ให้ได้รับค่าบำเหน็จร้อยละสามสิบจากเงินที่ผู้วานนายหน้าได้รับในการทำสัญญากับบุคคลอื่น ก็ได้ ถ้าไม่ได้ตกลงกำหนดจำนวนกันไว้ ป.พ.พ. ม. 846 ว. 2 ก็ให้ถือเอา "จำนวนตามธรรมเนียม" (usual remuneration) อันหมายความว่า จำนวนตามที่คู่สัญญาเคยให้กัน หรือจำนวนที่ผู้คนทั่วไปให้กันเป็นปรกติ  ในกรณีที่คู่สัญญาไม่ได้ตกลงกันว่ามีค่าบำเหน็จ ถ้าเป็นที่รับรู้ได้อยู่แล้วว่า นายหน้ารับทำหน้าที่อย่างนั้น ๆ ก็ย่อมประสงค์ต่อค่าบำเหน็จ ป.พ.พ. ม. 846 ว. 1 ให้ถือว่า ได้ตกลงกันแล้วว่ามีค่าบำเหน็จ

แบบ

       กฎหมายไทยมิได้กำหนดแบบ (form) สำหรับสัญญานายหน้าเอาไว้ ดังนั้น สัญญานายหน้าเมื่อตกลงกันได้ ก็ย่อมเกิดขึ้นทันทีตามข้อตกลงนั้น แม้เป็นเพียงการตกลงด้วยวาจา มิได้ทำเป็นหนังสือก็ตาม

ผล

ตาม ป.พ.พ. ม. 848 นายหน้าไม่ต้องรับผิดในสัญญาที่ตนเป็นสื่อให้เกิดขึ้น เพราะนายหน้ามิได้เกี่ยวข้องกับสัญญานั้นโดยตรง เว้นแต่คู่สัญญาดังกล่าวไม่ทราบนามของคู่สัญญาอีกฝ่าย เพราะนายหน้าไม่ยอมบอก อันทำให้คู่สัญญาฝ่ายนั้นไม่ทราบจะไปบังคับชำระหนี้กับใคร และเพื่อป้องกันนายหน้าทุจริตคิดไม่ซื่อด้วย ในกรณีเช่นนั้น นายหน้าต้องรับผิดตามสัญญาที่ตนเป็นสื่อให้เกิดขึ้นนั้นแทน (มิใช่รับผิดตามสัญญานายหน้า)ความรับผิดของนายหน้าเกี่ยวกับสัญญาที่ตนชี้ช่อง

      "ชื่อ" ในถ้อยคำ "...มิได้บอกชื่อของฝ่ายหนึ่งให้รู้ถึงอีกฝ่ายหนึ่ง" ("...has not communicated the name of a party to the other party.") หมายถึง ชื่อตัวและชื่อสกุลของคู่สัญญาแต่ละฝ่าย ตามที่ปรากฏในทะเบียนของทางราชการ เช่น ทะเบียนบ้าน, ทะเบียนสำมะโนครัว หรือ บัตรประจำตัวประชาชน เป็นต้น เพราะการฟ้องร้องบังคับคดีกันต้องใช้ชื่อตามทะเบียนเช่นนี้

สิทธิของนายหน้าเกี่ยวกับสัญญาที่ตนชี้ช่อง

          ในสัญญาที่นายหน้าเป็นสื่อให้เกิดขึ้นระหว่างผู้วานนายหน้ากับบุคคลอื่น หากต้องมีการรับเงินหรือชำระหนี้ กฎหมายให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า นายหน้าไม่มีอำนาจทำเช่นนั้นแทนผู้วานนายหน้า ดังที่ ป.พ.พ. ม. 849 ว่า "การรับเงินหรือรับชำระหนี้อันจะพึงชำระตามสัญญานั้น ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า นายหน้าย่อมไม่มีอำนาจที่จะรับแทนผู้เป็นคู่สัญญา" ทั้งนี้ เนื่องจากนายหน้ามีหน้าที่เพียงเป็นสื่อให้ผู้วานนายหน้าได้ทำสัญญากับบุคคลอื่น และนายหน้าที่ก็มิใช่ตัวแทนของผู้วานนายหน้าด้วย นายหน้าจึงไม่ควรสอดเรื่องอันมิใช่ธุระตน

คำว่า "สันนิษฐานไว้ก่อน" หมายความว่า สามารถพิสูจน์หักล้างได้ในภายหลัง เช่น นายหน้าอาจนำสืบว่า ที่จริงแล้ว ผู้วานนายหน้ามอบหมายให้ตนทำหน้าที่รับชำระหนี้แทนได้


สิทธิได้รับค่าบำเหน็จ

สิทธิของนายหน้าตามสัญญานายหน้า

ตาม ป.พ.พ. ม. 845 ว. 1 ผู้วานนายหน้าต้องจ่ายค่าบำเหน็จตามจำนวนที่ตกลงไว้ให้แก่นายหน้า เมื่อนายหน้าปฏิบัติตามสัญญานายหน้าจนสำเร็จ กล่าวคือ เมื่อนายหน้าเป็นสื่อให้ผู้วานนายหน้าได้เข้าทำสัญญากับบุคคลอื่นจนสำเร็จแล้ว

ที่ว่า "จนสำเร็จ" มิได้หมายความถึงขนาดที่สัญญาระหว่างผู้วานนายหน้ากับบุคคลอื่นจะเรียบร้อยบริบูรณ์เต็มขั้น เพียงทั้งสองตกลงผูกมัดกันว่าจะทำสัญญา แม้รายละเอียดปลีกย่อยบางเรื่องยังมิได้ตกลงกัน ก็นับได้ว่า นายหน้าบรรลุหน้าที่ของตนแล้ว เรียกค่าบำเหน็จได้ แม้ต่อมาคนทั้งสองนั้นจะไม่มาทำสัญญากันหรือผิดสัญญากันก็ตาม
เมื่อสัญญาที่นายหน้าชี้ช่องให้เกิดนั้นมีเงื่อนไขบังคับก่อน นายหน้ายังเรียกเอาค่าบำเหน็จไม่ได้ จนกว่าเงื่อนไขนั้นจะสำเร็จแล้ว เช่น ก รับเป็นนายหน้าที่ ข กับ ค ซื้อขายกระบือกันตัวหนึ่ง สัญญาซื้อขายระหว่าง ข กับ ค มีเงื่อนไขว่า กรรมสิทธิ์ในกระบือนั้นจะยังไม่โอนกันจนกว่าบุตรของ ค จะสอบเข้ามหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งในประเทศญี่ปุ่นได้ ดังนี้ ก ยังเรียกค่าบำเหน็จนายหน้ามิได้ ตราบที่บุตรของ ข ยังสอบเข้าไม่ได้
หากในการเป็นสื่อกลางของนายหน้า (1) ผู้วานนายหน้ากับบุคคลอื่นตกลงกันไม่ได้ หรือเปลี่ยนใจไม่ผูกนิติสัมพันธ์กันก็ดี, หรือ (2) เมื่อนายหน้าทำหน้าที่ไปด้วยดีแล้ว แต่สุดท้าย ผู้วานนายหน้ากับบุคคลอื่นไม่ทำสัญญากันก็ดี, หรือ (3) นายหน้าทำหน้าที่ไม่เสร็จภายในกำหนดเวลาตามสัญญานายหน้า ถ้าจะได้ตกลงกันไว้ก็ดี ทั้งสามกรณีนี้ นายหน้าไม่มีสิทธิเรียกค่าบำเหน็จเลย เว้นแต่ผู้วานนายหน้าตกลงกับนายหน้าว่า แม้งานไม่สำเร็จ ก็จะจ่ายค่าบำเหน็จให้เต็มจำนวนหรือเป็นจำนวนเท่านั้นเท่านี้
ในบางกรณี มีสัญญาเกิดขึ้นโดยอ้อมจากการชี้ช่องของนายหน้า เช่น ฮ เป็นนายหน้าให้ อ เช่านาผืนหนึ่งกับ ฬ เมื่อ อ กับ ฬ เจรจากันเสร็จแล้ว อ ไม่เห็นด้วยกับราคาที่ ฬ ตั้ง จึงไม่ทำสัญญาเช่าด้วย เผอิญว่า ห มาได้ยินเข้าจึงเข้าเช่านากับ ฬ แทน เช่นนี้แล้ว เมื่อมีคดีขึ้นสู่ศาลไทย ศาลมักพิพากษาให้ ห ต้องจ่ายค่าบำหน็จให้แก่ ฮ เพราะถือได้ว่า ห ได้ช่องทำสัญญามาจาก ฮ

สิทธิได้รับคืนซึ่งค่าใช้จ่าย

        ค่าใช้จ่ายที่นายหน้าเสียไปในการทำหน้าที่ จะเรียกจากผู้วานนายหน้าได้ ก็ต่อเมื่อตกลงกันไว้เท่านั้น ตาม ป.พ.พ. ม. 845 ว. 2  ซึ่งหากตกลงกันไว้ และนายหน้าทำหน้าทสำเร็จแล้ว แม้สัญญาที่ตนรับชี้ช่องให้นั้นยังไม่ได้ทำกันขึ้น นายหน้าก็เรียกค่าใช้จ่ายได้ แต่ถ้านายหน้าทำหน้าที่ไม่สำเร็จ เขาต้องแบกรับค่าใช้จ่ายเหล่านี้เอง

การหมดสิทธิได้รับค่าบำเหน็จและค่าใช้จ่าย

        เมื่อบุคคลหนึ่งชี้ช่องให้อีกบุคคลหนึ่งได้เข้าทำสัญญาฉบับหนึ่งกับบุคคลที่สาม และยังชี้ช่องให้บุคคลที่สามทำสัญญาอย่างเดียวกันกับบุคคลที่สองนั้นด้วย กล่าวคือ เป็นนายหน้าให้คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายเหมือนกัน โดยหวังเอาค่าบำเหน็จจากทั้งคู่ ดังนี้ กฎหมายก็อนุญาตให้นายหน้าทำได้ ถ้าไม่เป็นที่ขัดขวางต่อประโยชน์ของคู่สัญญาเหล่านั้น

แต่หากการที่นายหน้ารับงานซ้อนเช่นนี้ ส่งผลให้คู่สัญญาต้องเสียหายทั้งสองฝ่ายหรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ซึ่ง ป.พ.พ. ม. 847 ระบุว่า เป็นการที่นายหน้ารับค่าบำเหน็จที่ปรกติแล้วนายหน้าผู้สุจริตไม่รับกัน เช่นนี้ย่อมเป็นการฝ่าฝืนหน้าที่นายหน้าที่ดี และเป็นเหตุให้นายหน้าผู้นั้นหมดสิทธิได้รับทั้งค่าบำเหน็จและค่าใช้จ่ายจากคู่สัญญาฝ่ายที่เสียหายนั้นโดยสิ้นเชิง
เช่น ก ต้องการขายพระเครื่อง จึงติดต่อ ข ให้ช่วยหาคนมาซื้อพระเครื่องตนสักหน่อย, จังหวะเดียวกัน ข ทราบว่า ค กำลังอยากได้พระเครื่องอยู่พอดี จึงเสนอกับ ค ว่า ตนจะหาคนมาขายพระเครื่องให้, และ ข ก็ชี้ช่องให้ ก กับ ค มาทำสัญญาซื้อขายกัน โดยตกลงกันว่า ก จะจ่ายค่าบำเหน็จให้ ข หนึ่งแสนบาท และ ค จะจ่ายค่าบำเหน็จให้ ข เก้าหมื่นบาท, เช่นนี้แล้ว เห็นได้ว่า การที่ ข เป็นนายหน้าควบระหว่าง ก กับ ค ไม่ทำให้ประโยชน์ของ ก และ ค เสียแต่ประการใด กับทั้งไม่ฝ่าฝืนหน้าที่ของนายหน้าที่ดีด้วย, ข จึงมีสิทธิได้รับบำเหน็จจากทั้ง ก และ ค ตามที่ตกลงกันนั้น, ก หรือ ค จะปฏิเสธว่า ข เป็นนายหน้าควบ ไม่จ่ายค่าบำเหน็จให้ มิได้

ความระงับสิ้นลงแห่งสัญญากฎหมายไทยมิได้กำหนดอาการที่สัญญานายหน้าจะระงับสิ้นลงไว้โดยเฉพาะ จึงเป็นไปตามบทบัญญัติทั่วไปอันว่าด้วยความระงับแห่งสัญญา ดังนั้น สัญญานายหน้าย่อมสิ้นสุดลงเมื่อวัตถุประสงค์แห่งสัญญาได้บรรลุแล้ว กล่าวคือ เมื่อนายหน้าได้ทำหน้าที่ของตนจนลุล่วงเรียบร้อยแล้ว

นอกจากนี้ สัญญานายหน้าอาจระงับลง เพราะในสัญญากำหนดไว้ เช่น ให้สัญญาสิ้นสุดลงเมื่อพ้นกำหนดสิบเดือนนับแต่วันทำสัญญา หรือให้สิ้นลงเมื่อนายหน้าทำหน้าที่ไม่สำเร็จภายในกำหนดสิบเดือนนับแต่วันทำสัญญา เป็นต้น หรือเพราะถูกบอกเลิกโดยคู่สัญญาที่มีสิทธิ หรือเพราะนายหน้าและผู้วานนายหน้าตกลงเลิกสัญญากันก็ได้

อายุความ

คดีนายหน้าฟ้องเอาค่าบำเหน็จนี้ กฎหมายไทยไม่ได้กำหนดอายุความไว้เป็นพิเศษ จึงต้องใช้อายุความทั่วไป คือ สิบปี ตาม ป.พ.พ. ม. 193/30เมื่อนายหน้าทำหน้าที่จนลุล่วงแล้ว ย่อมมีสิทธิได้รับค่าบำเหน็จนายหน้าและค่าใช้จ่ายที่ตนเสียไปตามที่ตกลงกับผู้วานนายหน้าไว้ หากผู้วานนายหน้าบิดพลิ้วไม่จ่ายให้ นายหน้ามีทางแก้ไขทางเดียว คือ ฟ้องเป็นคดีต่อศาลเพื่อให้ศาลบังคับให้ผู้วานนายหน้าชำระค่าบำเหน็จและค่าใช้จ่ายบรรดามี
ในประเทศไทยมีปัญหาฟ้องร้องเรื่องนายหน้าบ่อยครั้ง ไผทชิต เอกจริยกร ศาสตราจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า
"เรื่องที่เป็นปัญหามากที่สุดที่เกิดขึ้นในทางปฏิบัติกันเสมอจนมีการฟ้องร้องกันอยู่เนือง ๆ ก็คือ เมื่อนายหน้าได้ชี้ช่องให้คู่สัญญาได้พบได้ทำสัญญากัน นายหน้ามักจะถูกคู่สัญญาบิดพลิ้วไม่ยอมชำระบำเหน็จนายหน้า โดยไปแบทำสัญญากันลับ ๆ ไม่ให้นายหน้าทราบ เพื่อหลีกเลี่ยงการชำระค่านายหน้า และจะได้เอาเงินส่วนที่เป็นบำเหน็จนายหน้าไปเป็นส่วนลดของราคาซื้อขายเพื่อเป็นการประหยัด เพราะเห็นว่านายหน้าไม่ได้ทำอะไรเลย เพียงชี้ช่องเล็ก ๆ น้อย ๆ โดยลืมไปว่าถ้าไม่มีนายหน้าแล้ว สัญญานั้น ๆ ก็คงจะไม่เกิดขึ้น..."