หน้าเว็บ

วันพฤหัสบดีที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ความหมายของการเลือกทำเลที่ตั้งสถานประกอบธุรกิจ



การเลือกทำเลที่ตั้งสถานประกอบธุรกิจ หมายถึง การจัดหาหรือสรรหาสถานที่ สำหรับประกอบธุรกิจให้มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยคำนึงถึง กำไร ค่าใช้จ่าย พนักงาน ความสัมพันธ์กับลูกค้าความสะดวก ตลอดจนสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ที่ดีตลอดระยะเวลาที่ประกอบธุรกิจนั้น
ความสำคัญในการเลือกทำเลที่ตั้งสถานประกอบธุรกิจ
การเลือกทำเลที่ตั้งสถานประกอบธุรกิจ มีความสำคัญต่อความสำเร็จขององค์การธุรกิจ กล่าวคือหากเลือกทำเลที่ไม่เหมาะสม จะทำให้องค์การธุรกิจ ประสบปัญหาอื่น ๆ ตามมา เช่น ค่าขนส่งสูง เนื่องจากสถานประกอบธุรกิจอยู่ไกลจากแหล่งวัตถุดิบ และตลาด นอกจากนี้ อาจขาดแคลนแรงงานที่มีคุณภาพ ขาดแคลนวัตถุดิบ รวมไปถึงปัจจัยอื่น ๆ ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการผลิต และการปฏิบัติงานขององค์การธุรกิจ โดยทั่วไปลักษณะของทำเล จะไม่มีลักษณะใด ที่ดีกว่ากันอย่างชัดเจน แต่จะเกิดจากการพิจารณาลักษณะดีของแต่ละทำเล นำมาประกอบกัน เพื่อการตัดสินใจเลือกที่ใช้ตั้ง สถานประกอบธุรกิจ ที่อาจก่อให้เกิดปัญหาในอนาคต ให้น้อยที่สุดการเลือกทำเลที่ตั้งสถานประกอบธุรกิจต่าง ๆ โดยทั่วไปมักจะพยายามหาแหล่ง หรือทำเลที่ทำให้ต้นทุนรวม ของการผลิตสินค้าและ บริการที่ต่ำที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้แต่ลักษณะของการประกอบธุรกิจและสถานที่ประกอบกิจการย่อมแตกต่างกันในเรื่องของชนิดสินค้า ค่าใช้จ่ายและการลงทุน ดังนั้นการพิจารณาเลือกทำเลจึงต้องคำนึงถึงปัจจัยต่าง ๆ หลายประการเพราะการเลือกทำเลที่ตั้ง มีความสำคัญต่อการ ดำเนินงานขององค์การธุรกิจต่าง ๆ เช่น การวางแผนระบบการผลิต การวางผังโรงงาน การลงทุน และรายได้ เป็นต้น

ปัจจัยในการเลือกทำเลที่ตั้งสถานประกอบธุรกิจ

ปัจจัยที่เป็นองค์ประกอบใช้ในการพิจารณาเลือกทำเลที่ตั้งสถานประกอบธุรกิจ มีดังนี้
1. แหล่งวัตถุดิบและทรัพยากรธรรมชาติ
การตั้งสถานประกอบธุรกิจ โดยเฉพาะองค์การธุรกิจประเภทอุตสาหกรรม ส่งที่นำมาใช้ในการผลิตคือ วัตถุดิบ เช่นโรงงานผลิตสับปะรดกระป๋อง วัตถุดิบ คือ อะไห่และชิ้นส่วนต่าง ๆ ของรถยนต์ โรงงานผลิตเฟอร์นิเจอร์ วัตถุดิบ คือ ไม้ ฯลฯ ดังนั้นในการจัดตั้งสถานประกอบการธุรกิจ จึงต้องคำนึงถึง แหล่งวัตถุดิบ ที่นำมาใช้ในการผลิต ควรจะอยู่ในแหล่งวัตถุดิบหรืออยู่ใกล้แหล่งวัตถุดิบ เพื่อสะดวกในการจัดหาวัตถุดิบราคาวัตถุดิบ และค่าขนส่งย่อมลดลง เช่น โรงงานผลิตปลากระป๋อง ควรตั้งอยู่ใกล้ ชายฝั่งทะเลจะได้วัตถุดิบราคาถูก คุณภาพดี แต่ถ้าโรงงานผลิตปลากระป๋อง ตั้งอยู่ไกลจากชายฝั่งทะเลมาก วัตถุดิบที่จัดหาอาจไม่มีหรือมีจำนวนน้อยทำให้วัตถุดิบราคาสูง คุณภาพไม่ดี และต้องเสียค่าขนส่งสูง เป็นต้น นอกจากนั้น ต้องคำนึงถึงทรัพยากรธรรมชาติด้วย เช่น น้ำ อากาศ เนื่องจากในการผลิต ส่วนประกอบที่สำคัญที่ใช้ในการผลิต ส่วนใหญ่ต้องอาศัยน้ำ กิจการประเภทโรงงานอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ จึงตั้งอยู่ ใกล้แม่น้ำ หรือแหล่งน้ำต่าง ๆ เพื่อสะดวกในการนำน้ำมาใช้ในการผลิต
ในการตั้งสถานที่ประกอบการใกล้แม่น้ำ ต้องคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสภาพแวดล้อมด้วย เช่น ในการผลิตจะมีของเสียจากการผลิต โรงงานอุตสาหกรรม จะต้องมีระบบในการกำจัดน้ำเสีย ไม่ถ่ายเทน้ำเสียลงในแม่น้ำลำคลองหรือเปลี่ยนสภาพจากน้ำเสียให้เป็นน้ำดีก่อนที่จะ ถ่ายเทลงในแม่น้ำคลอง กรณีที่โรงงานอุตสาหกรรมเมื่อทำการผลิตแล้ว มีฝุ่นละอองหรือควันเสีย จะต้องทำการป้องกันมิให้อากาศเป็นพิษด้วย การประกอบการธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็น ประเภท พาณิชยกรรม หรือประเภทอุตสาหกรรมการเลือกทำเลที่ตั้งสถานที่ประกอบการจะ ต้องคำนึงถึงแหล่งจัดซื้อ เพื่อให้การจัดซื้อได้สินค้า หรือวัตถุดิบราคา ที่เหมาะสม เสียค่าใช้จ่ายในการจัดซื้อต่ำ คุณภาพสินค้าหรือวัตถุดิบเป็นตาม ที่ต้องการ และได้ทันเวลาที่มีความต้องการของตลาด หรือการผลิต
การจัดซื้อเพื่อให้มีประสิทธิภาพ มีขั้นตอนดังนี้
1.1 กำหนดรายละเอียดของสินค้าหรือวัตถุดิบ ที่ต้องการซื้อทั้งคุณภาพและปริมาณ
1.2 สำรวจแหล่งขาย โดยผู้ประกอบการจะต้องทราบถึงแหล่งขายสินค้าหรือวัตถุดิบที่ต้องการจัดซื้อว่าอยู่ที่ใด มีผู้ขายกี่ราย แต่ละรายกำหนดราคาขายเท่าไร คุณภาพสินค้าหรือวัตถุดิบเป็นอย่างไร มีเงื่อนไขในการขายอย่างไรบ้าง เมื่อสำรวจแหล่งขายแล้ว คาดว่าจะจัดซื้อ จากผู้ขายรายใด ควรมีการเจรจาตกลง ในเรื่องต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการจัดซื้อ ในกรณีจัดซื้อครั้งละเป็นจำนวนมาก การเจรจาระหว่าง ผู้จัดซื้อและผู้ขาย ควรจัดตั้งคณะกรรมการ เพื่อดำเนินการเป็นการป้องกันการทุจริตที่อาจจะเกิดขึ้นได้
1.3 การสั่งซื้อ หลังจากได้มีการเจรจาตกลงกันแล้ว ผู้จัดซื้อจัดทำใบสั่งซื้อ ซึ่งประกอบด้วยรายละเอียดต่าง ๆ ได้แก่ วัน เดือน ปี ที่สั่งซื้อ ราคาต่อหน่วย ราคารวม ชื่อเครื่องหมายการค้าของผู้จัดซื้อ ชื่อเครื่องหมายการค้าของผู้ขาย ระบุเงื่อนไขต่าง ๆ เช่น เงื่อนไขในการส่งมอบ เงื่อนไขในการชำระเงิน
1.4 การรับสินค้าหรือวัตถุดิบ เมื่อผู้ขายส่งสินค้าให้ผู้จัดซื้อ จะต้องมีใบกำกับสินค้าแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับ วัน เดือน ปี ที่ส่งสินค้าหรือวัตถุดิบ ปริมาณสินค้าหรือวัตถุดิบ ราคาต่อหน่วย ราคารวม ชื่อเครื่องหมายการค้าของผู้ขาย ชื่อเครื่องหมายการค้าของผู้สั่งซื้อ ผู้จัดซื้อจะต้องตรวจสอบความถูกต้อง ของสินค้าหรือวัตถุดิบที่ได้รับให้ตรงตามใบสั่งซื้อและใบกำกับสินค้า
2. แหล่งแรงงาน
แรงงาน หมายถึง สิ่งที่ได้จากความสามารถของมนุษย์ทั้งแรงงาน ที่ได้จากแรงกายและแรงงาน ที่ได้จากความคิด เพื่อนำมาใช้ในการผลิตสินค้า และบริการ ตามที่ต้องการ แรงงานที่ผู้ประกอบการต้องการ แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
2.1 แรงงานที่มีฝีมือหรือแรงงานที่มีความชำนาญ (Skilled Labour)
2.2 แรงงานไร้ฝีมือ หรือแรงงานทั่วไป (Unskilled Labour)
ผู้ประกอบการจะมีความต้องการแรงงานประเภทใด จะรู้ได้โดยการจัดทำรายละเอียดหน้าที่ของตำแหน่งงานแต่ละตำแหน่ง ต้องการแรงงานจำนวนเท่าใด และเมื่อใด โดยการเสนอจากแต่ละหน่วยงานในองค์การธุรกิจ ในการจัดหาสถานที่ประกอบการ ต้องคำนึงถึง แหล่งแรงงานที่ธุรกิจมีความต้องการ ซึ่งควรจะเป็นแหล่งที่จัดหาแรงงานได้ง่าย อัตราค่าจ้างต่ำและมีคุณภาพตามที่ต้องการ เช่น ในการดำเนินกิจการโรงงานผลิตปลากระป๋อง แรงงานที่ต้องการใช้ส่วนใหญ่เป็นประเภทแรงกาย แรงงานไร้ฝีมือ สถานที่ประกอบการตั้งในต่างจังหวัดจะหา แรงงานได้ง่าย และอัตราค่าจ้างต่ำ แต่ถ้าเป็นโรงงานผลิตสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีในการผลิตที่ทันสมัย แรงงานที่ใช้เป็นประเภทแรงงานที่ใช้ ความคิด แรงงานที่มีความชำนาญ สถานที่ประกอบการควรตั้งในเมืองใหญ่หรือใกล้เมืองใหญ่ จึงจะหาแรงงานได้ตามที่ต้องการ
3. ค่าใช้จ่ายในการขนส่ง
การเลือกสถานที่ประกอบการ จะต้องคำนึงถึงค่าใช้จ่ายในการขนส่ง ดังนี้
3.1 ค่าขนส่งวัตถุดิบไปยังโรงงานเพื่อทำการผลิต วัตถุดิบที่ใช้ผลิตส่วนใหญ่จะมีน้ำหนักมากและต้องใช้ในปริมาณที่สูงการเลือกสถานที่ประกอบการจึงควรอยู่ใกล้แหล่งวัตถุดิบเพื่อเสียค่าขนส่งในอัตราที่ถูก แต่ถ้าไม่ตั้งสถานที่ประกอบการใกล้แหล่งวัตถุดิบ ก็ควรพิจารณาระบบการขนส่งที่เหมาะสม เพื่อให้วัตถุดิบไปยังโรงงานอย่างมีประสิทธิภาพ และเสียค่าใช้จ่ายต่ำ
3.2 ค่าขนส่งสินค้าไปเพื่อเก็บรักษา เมื่อผลิตสินค้าเสร็จก่อนนำออกจำหน่ายสินค้าจะต้องได้รับการดูแลรักษา ในสภาพที่เหมาะสม เพื่อคุณภาพที่ดีของสินค้าสถานที่ประกอบการควรอยู่ใกล้คลังเก็บสินค้า เพื่อสะดวกในการขนสินค้าจากโรงงานไปเก็บรักษาในคลังสินค้า และเสียค่าใช้จ่ายต่ำ
3.3 ค่าขนส่งสินค้าออกจำหน่าย เพื่อความสะดวกของผู้บริโภค การเลือกสถานที่ประกอบการ ควรตั้งให้ใกล้แหล่งผู้บริโภค และประหยัดค่าใช้จ่าย
4. สิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ
การเลือกทำเลที่ตั้งสถานประกอบการ ควรคำนึงถึงสิ่งอำนวยความสะดวก ดังนี้
4.1 สาธารณูปโภค การเลือกสถานที่ประกอบการควรคำนึงถึงระบบการให้บริการด้านการประปา ไฟฟ้า โทรศัพท์ และการส่งไม่ว่าจะประกอบกิจการประเภท โรงงานอุตสาหกรรม หรือประเภทซื้อขายสินค้า เพราะเครื่องอำนวยความสะดวกดังกล่าว มีส่วนทำให้การประกอบธุรกิจมีความคล่องตัวสูง
4.2 สถานพยาบาล สถานีตำรวจ สถานีดับเพลิง การเลือกสถานที่ประกอบการควรคำนึงถึงสิ่งเหล่านี้ เพื่อความปลอดภัยและสะดวกในการขนส่งในการเดินทาง
5. แหล่งลูกค้า
สำหรับการประกอบกิจการประเภทโรงงานอุตสาหกรรม การจำหน่ายสินค้าจะจำหน่ายครั้งละเป็นจำนวนมาก ผู้มาซื้อคือ ผู้ค้าคนกลาง ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้อง เลือกสถานที่ตั้งใกล้ผู้บริโภคโดยตรง แต่ถ้าเป็นการประกอบกิจการประเภทผู้ค้าคนกลางที่ต้อง จำหน่ายสินค้าแก่ผู้บริโภคโดยตรง ควรเลือกสถานที่ตั้ง ใกล้ผู้บริโภค เพื่อความสะดวกในการจำหน่ายและเสียค่าขนส่งต่ำ
6. กฎหมาย ระเบียบและข้อบังคับ
การเลือกสถานที่ประกอบการจะต้องศึกษากฎหมาย ระเบียบและข้อบังคับต่าง ๆ ของสถานที่ประกอบการ เพื่อไม่ให้การประกอบการ นั้นขัดต่อกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับหรือประเพณีอันดีงามของสถานที่นั้น เช่น ในประเทศไทย พื้นที่สีเขียวจะกำหนดไว้สำหรับการประกอบการ เกษตร จะตั้งโรงงาน อุตสาหกรรมในพื้นที่สีเขียวไม่ได้ เป็นต้น
7. แหล่งเงินทุน
การเลือกสถานที่ประกอบการต้องคำนึงถึงเงินทุนที่ต้องใช้ ได้แก่ ราคาที่ดิน อัตรา ค่าแรงงาน เครื่องจักร เครื่องมือ อุปกรณ์ต่าง ๆ ค่าธรรมเนียมและภาษี ที่ต้องจ่ายให้องค์การของรัฐใน การดำเนินการจัดตั้งสถานที่ประกอบการ ซึ่งค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เหล่านี้ขึ้นอยู่กับการเลือกสถานที่ประกอบการทั้งสิ้น จากปัจจัยต่าง ๆ ดังกล่าวข้างต้น มีผลกระทบต่อการตัดสินใจเลือกสถานที่ประกอบการ โดยผู้ประกอบการควรคำนึงถึงผลตอบแทน ที่คาดว่าจะได้รับจาก การตัดสินใจเลือกสถานที่ใดเป็นสถานที่ประกอบ โดยคำนึงถึงสิ่งต่าง ๆ ต่อไปนี้
7.1 ต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายรวมต่ำสุด การตัดสินใจเลือกสถานที่ใดเป็นสถานที่ประกอบการ ต้องคำนึงถึงต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายที่ เกิดขึ้นในการเลือก สถานที่นั้น เป็นสถานประกอบการ เช่น การประกอบการโรงงานผลิตไม้แปรรูป วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตไม้แปรรูป คือ ซุงซึ่งเป็นวัตถุดิบมีน้ำหนักมาก การขนส่งค่อนข้าง ยุ่งยากและเสียค่าใช้จ่ายสูง ส่วนสินค้าสำเร็จรูป คือ ไม้แปรรูปมีน้ำหนักเบากว่าวัตถุดิบ การขนส่งค่อนข้างสะดวก และเสียค่าใช้จ่ายต่ำกว่า สถานที่ประกอบกา รโรงงานผลิตไม้แปรรูป จึงควรตั้งใกล้แหล่งวัตถุดิบมากกว่าตั้งใกล้ ผู้บริโภค เพราะจะทำให้เสียค่าขนส่งที่ถูกกว่า กรณีหาสถานที่ประกอบการในแหล่งวัตถุดิบ ไม่ได้ก็ควรหาสถานที่ตั้งใกล้แม่น้ำ เนื่องด้วยการขนส่ง ซุงสามารถใช้วิธีล่องซุงมาตามแม่น้ำ ทำให้เสียค่าขนส่งต่ำ นอกจากต้นทุนค่าขนส่งแล้ว ต้นทุนหรือ ค่าใช้จ่ายที่จะต้องนำมาประกอบการตัดสินใจ เลือกสถานที่ประกอบการ ได้แก่ ค่าแรงงาน อัตราภาษี ค่าบริการต่าง ๆ
7.2 กำไรที่สูงสุด การตัดสินใจเลือกสถานที่ใดเป็นสถานที่ประกอบการ นอกจากคำนึงถึงต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายที่ต่ำที่สุดแล้ว ควรคำนึงถึงรายรับประกอบการ ตัดสินใจด้วย หากสามารถตั้งสถานประกอบการ ในแหล่งที่ต้นทุน หรือค่าใช้จ่ายรวมต่ำกว่า ก็จะมีโอกาสหา รายรับได้มากกว่าคู่แข่ง จะทำให้ได้เปรียบ คือ กำไรสูงสุด
7.3 การเรียนลำดับปัจจัยต่าง ๆ ตามความสำคัญ เนื่องจากปัจจัยแต่ละปัจจัยมีความสำคัญแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับประเภทของการประกอบการแต่ละประเภท ดังนั้นผู้ประกอบการจึงต้องจัดลำดับความสำคัญ และรวมคะแนนแล้วจึงตัดสินใจเลือกสถานที่ประกอบธุรกิจจากการพิจารณาคะแนนที่สูงสุด

วันจันทร์ที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

การใช้ประโยชน์ที่ดินตามแนวทฤษฎีใหม่



การใช้ประโยชน์ที่ดินตามแนวทฤษฎีใหม่
เป็นการปรับพื้นที่ให้สอดคล้องกับแนวพระราชดำริเรื่องแหล่งน้ำ และเรื่องทฤษฎีใหม่ ซึ่งเป็นวิธีปฏิบัติในการทำการเกษตรผสมผสานของเกษตรกรที่เป็นเจ้าของที่ดินจำนวนน้อย (10-15 ไร่) เพื่อเป็นรูปแบบตัวอย่างแก่เกษตรกร หรือผู้ที่สนใจ ได้เกิดแนวความคิดนำไปปฏิบัติต่อไป

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชกระแสให้เจ้าหน้าที่มูลนิธิชัยพัฒนา หาซื้อที่ดินติดกับวัดชัยมงคล ตำบลห้วยบง อำเภอเมือง จังหวัดสระบุรี เพื่อให้มูลนิธิชัยพัฒนาทดสอบทฤษฎีใหม่ในดินแห้งแล้งและขาดธาตุอาหารโดยใช้ “วัด” เป็นศูนย์กลางการประสานความร่วมมือระหว่างชาวบ้าน และราชการหน่วยงานต่างๆ ซึ่ง 4 ปี ต่อมา ก็ได้ผลยืนยันได้ว่า การพัฒนาทฤษฎีใหม่ เป็นแนวทางที่ถูกต้องเหมาะสม

ตามหลักทฤษฎีใหม่ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ พื้นที่เกษตรกรไทยส่วนใหญ่จะต้องมีเฉลี่ยราว 10-15 ไร่ต่อครอบครัว ควรทำการแบ่งพื้นที่ทั้งหมดดังนี้
  • 30% ขุดสระน้ำเพื่อใช้ในการเกษตร
  • 30% นาข้าว
  • 30% พืชไร่ พืชสวน
  • 10% เป็นที่อยู่อาศัย เลี้ยงสัตว์ ปลูกพืชผักสวนครัว ถนน คันคูดิน หรือคูคลอง
จากสัดส่วนในการแบ่งพื้นที่ต้นแบบมงคลชัยพัฒนา คือ 30:30:30:10 ทางศูนย์ฯ ได้นำแนวความคิดนี้มาประยุกต์ใช้กับพื้นที่ในลักษณะใกล้เคียงกัน ขึ้นกับสภาพปัญหาแต่ละพื้นที่ สำหรับการแบ่งพื้นที่ที่เป็นตัวอย่างให้กับเกษตรกรในหมู่บ้านรอบบริเวณศูนย์ ฯ เป็นแบ่ง 2 พื้นที่ดังนี้

พื้นที่ที่ 1. พื้นที่บ้านเกษตรกรตัวอย่างของศูนย์ฯ ซึ่งอยู่ท้ายอ่างเก็บน้ำตัวที่ 12 (อ่างห้วยเจ๊ก) มีพื้นที่ประมาณ 10 ไร่ เนื้อดินเป็นดินทรายจัดอยู่ในชุดจันทึก (กลุ่มที่ 44) ขอบพื้นที่ด้านตะวันออกติดกับคลองระบายน้ำล้นจากอ่างเก็บน้ำ สภาพพื้นที่มีความลาดเทประมาณ 3-5 เป็อร์เซนต์ เดิมได้จัดให้เกษตรกรตัวอย่างเข้าอยู่อาศัยทำกิน ต่อมาภายหลังได้ปรับพื้นที่ให้สอดคล้องกับแนวพระราชดำริเรื่องแหล่งน้ำและทฤษฎีใหม่ โดยมีสัดส่วนในการแบ่งพื้นที่ คือ 20:20:50:10 เนื่องจากพื้นที่อยู่ท้ายอ่างเก็บน้ำและเนื้อดินเป็นทรายจัด ดังนั้น ทางระบายน้ำล้นจึงมีน้ำซึมซับให้เก็บกักไว้พอใช้ได้ตลอดปี ศูนย์ฯ ได้เลือกพื้นที่แห่งนี้เป็นตัวอย่างเพราะเดิมเป็นบ้านเกษตรกรตัวอย่างอยู่แล้ว และเป็นพื้นที่ต่ำท้ายอ่างเก็บน้ำ สามารถที่จะมองเห็นลักษณะการใช้พื้นที่ได้ชัดเจน สะดวกต่อการบรรยายสรุปในการศึกษาดูงานให้เห็นองค์ประกอบหลักตามแนวพระราชดำริ ที่จะนำไปประยุกต์ใช้กับพื้นที่ในลักษณะใกล้เคียงกัน โดยได้จัดรูปแบบบ้านเกษตรกรตัวอย่าง ให้เป็นการทำการเกษตรผสมผสานอย่างยั่งยืน เน้นการปรับปรุงโครงสร้างและความอุดมสมบูรณ์ของดิน โดยใช้ปุ๋ยอินทรีย์ เป็นหลัก ตลอดจนแสดงรูปแบบต่าง ๆ ในการป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืช โดยไม่ใช้สารเคมี เช่น ใช้สารสะเดา ตะไคร้หอม เป็นพืชไล่แมลง การใช้กาวดักแมลง การปลูกพืชสลับ การปลูกพืชหมุนเวียน เป็นต้น เกษตรกรสามารถหมุนเวียนใช้แรงงาน ในการผลิตพืชและสัตว์เพื่อบริโภคส่วนที่เหลือก็จำหน่ายเป็นรายได้ทั้งปี สามารถใช้เป็นต้นแบบแก่ผู้สนใจและเกษตรกรทั่วไปโดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นตัวอย่างแก่เกษตรกรในหมู่บ้านบริเวณรอบศูนย์ฯ ที่มีพื้นที่อยู่ท้ายอ่างเก็บน้ำต่าง ๆ ซึ่งสภาพพื้นที่คล้าย ๆ กัน ได้นำไปขยายผลในพื้นที่ของตนให้แพร่หลายต่อไป

วิธีการดำเนินงาน 
ได้ดำเนินการจัดแบ่งพื้นที่บ้านเกษตรกรตัวอย่าง ซึ่งมีแรงงาน 2-3 คน เนื้อที่ 10 ไร่ ตามองค์ประกอบของทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริ แต่ปรับเปลี่ยนสัดส่วนของพื้นที่ต่าง ๆ ตามความเหมาะสมของพื้นที่ ดังนี้
  • 20% แรก จัดเป็นพื้นที่แหล่งน้ำและเลี้ยงปลาประมาณ 2 ไร่
  • 20% ที่สอง เป็นพื้นที่ปลูกข้าว 2 ไร่
  • 50% ที่สาม เป็นพื้นที่ปลูกพืชผสมผสาน 5 ไร่
  • 10% สุดท้าย เป็นที่อยู่อาศัย และถนนภายในพื้นที่ 1 ไร่
พื้นที่ส่วนแรกเนื้อที่ประมาณ 2 ไร่ (20% ของพื้นที่) ได้คัดเลือกพื้นที่ต่ำที่สุดติดกับทางระบายน้ำล้นจากอ่างเก็บน้ำ ซึ่งมีน้ำซึมซับตลอดทั้งปี สามารถทำฝายทดน้ำเล็ก ๆ กักน้ำไว้เติมในบ่อที่ขุดไว้โดยขุดลึก 4 เมตร จะได้ปริมาณกักเก็บน้ำประมาณ 12,800 ลูกบาศก์เมตร ดินที่ขุดขึ้นใช้ปรับบริเวณขอบคันบ่อน้ำ สวนป่า บ้านพักอาศัยและถนนภายในพื้นที่ หลังจากกักเก็บน้ำไว้แล้ว ได้ปล่อยปลาประเภทกินพืชเพื่อใช้บริโภคและเหลือพอจำหน่ายได้ผสมผสานหลายชนิดเช่น ปลานิล ปลาตะเพียน และปลายี่สกเทศ และพื้นที่มุมบ่อด้านหนึ่งได้สร้างเล้าไก่ขนาด 3´ 6 เมตร โดยใช้วัสดุในท้องถิ่น เช่น เสาและโครงสร้างใช้ไม้ยูคาลิปตัส พื้นและฝาใช้ไม้ไผ่ หลังคามุงแฝก เลี้ยงไก่เนื้อครั้งละประมาณ 20 ตัว เพื่อใช้ประโยชน์จากเศษพืชผักที่เหลือจากการบริโภคและจำหน่ายให้เป็นอาหารเสริมลดค่าใช้จ่ายตลอดจนถ่ายมูลลงในบ่อน้ำก่อให้เกิดแพลงตอนเป็นอาหารแก่ปลาที่เลี้ยงไว้และเพิ่มธาตุอาหารในน้ำเป็นปุ๋ยต่อนาข้าวหรือพืชที่จะสูบน้ำขึ้นไปหล่อเลี้ยง ให้เกิดประโยชน์หมุนเวียนเป็นการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน บริเวณรอบบ่อที่ถมไว้ปรับพื้นที่ปลูกพืชผสมผสานต่างระดับ เช่น มะพร้าวน้ำหอม กล้วย มะละกอ แค และพืชผักต่าง ๆ ได้ ส่วนขอบบ่อที่ขุดไว้ใหม่ ๆ ปลูกหญ้าแฝกเพื่อป้องกันการชะล้างพังทลายของดินและใช้ใบของหญ้าแฝกคลุมโคนไม้ผลหรือแปลงพืชผักเพื่อช่วยรักษาความชุ่มชื้น

พื้นที่ส่วนที่สองประมาณ 2 ไร่ (20% ของพื้นที่) อยู่ติดกับทางระบายน้ำและบ่อน้ำที่ขุดไว้ สามารถสูบน้ำขึ้นจากบ่อมาหล่อเลี้ยงได้โดยง่าย ใช้ประโยชน์เป็นนาข้าว ซึ่งสามารถปลูกได้ถึง 2 ครั้ง โดยนาปีปลูกข้าวดอกมะลิ 105 นาปรังปลูกข้าวอายุสั้น เช่น พันธุ์ชัยนาท 1 พันธุ์พิษณุโลก หรือสุพรรณบุรี 60 ซึ่งจะได้ผลผลิตเพียงพอสำหรับการบริโภคภายในครอบครัว เรือน ซึ่งมีแรงงาน 2-3 คน และยังมีช่วงเวลาเพียงพอที่จะปลูกพืชตระกูลถั่ว เพื่อเป็นการปรับปรุงดินได้อีก 1 ครั้ง ซึ่งในพื้นที่ตัวอย่างนี้ได้ใช้โสนอัฟริกันเป็นพืชสลับ เนื่องจากให้ปริมาณอินทรียวัตถุสูง มีปมที่รากและตลอดลำต้น ช่วยตรึงไนโตรเจนในอากาศได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์และประหยัดค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงดินและเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดินได้อย่างมาก และในพื้นที่ส่วนที่เป็นนาทำนี้ หากเป็นที่ลุ่มมีปริมาณน้ำมากเพียงพอ ควรขุดร่องให้รอบและเลี้ยงปลาในนาข้าว โดยจะก่อให้เกิดประโยชน์เกื้อกูลกันในการที่ปลาจะกินแมลงศัตรูข้าว และถ่ายมูลให้เป็นปุ๋ยแก่นาข้าวด้วย

พื้นที่ส่วนที่สาม เป็นการปลูกพืชผสมผสานเนื้อที่ 5 ไร่ (50% ของพื้นที่) ไม้ผล เนื้อที่ 3.25 ไร่ 
ได้คัดเลือกพันธุ์ไม้ผลที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมและพื้นที่ 5 ชนิด ได้แก่มะม่วง กระท้อน ขนุน และส้มโอ ซึ่งเป็นพืชที่สามารถอยู่ได้ในสภาพพื้นที่แห้งแล้ง ปริมาณฝนน้อย แปรปรวน ไม่แน่นอน ระยะห่างระหว่างหลุม 8´ 8 เมตร ขุดหลุมขนาด 1´ 1 เมตร ลึก 1 เมตร คลุกเคล้าด้วยปุ๋ยหมักอัตรา 50 กก./หลุม เป็นพืชหลัก ปลูกแซมด้วยไม้ผลพุ่มกลาง เช่น กล้วย มะละกอ ฝรั่ง และพืชพุ่มเล็ก เช่น พริก มะเขือ เพื่อเป็นพืชรายได้ในช่วงที่พืชหลักยังไม่ให้ผลผลิต

พืชไร่เนื้อที่ 0.50 ไร่ ทำการไถพื้นที่ หว่านปุ๋ยหมัก อัตรา 4 ตัน/ไร่ ไถพรวนแล้วยกร่องยาว ตลอดทั้งพื้นที่เพื่อทำการปลูกพืชไร่ต่าง ๆ เช่น ข้าวโพดหวาน ถั่วลิสง ถั่วเขียว หมุนเวียนสลับกันไปตลอดปี

พืชผัก เนื้อที่ 0.75 ไร่ ทำการไถพื้นที่หว่านปุ๋ยหมัก อัตรา 8 ตัน/ไร่ ไถพรวนแล้วยกร่อง เพื่อปลูกพืชผักหลายชนิด เช่นถั่วฝักยาว ผักคะน้า ผักกาดขาว กล่ำปลี ผักกวางตุ้ง ผักบุ้ง ฯลฯ หมุนเวียนตลอดไปทั้งปี โดยจะใส่ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอก (มูลไก่เนื้อ) คลุกเคล้าดินทุกครั้งก่อนปลูกใหม่

ไม้ดอก เนื้อที่ 0.25 ไร่ ทำการไถพื้นที่หว่านปุ๋ยหมัก อัตรา 8 ตัน/ไร่ ไถพรวนแล้วยกร่องปลูกไม้ดอก เช่น มะลิ กุหลาบ

สวนป่า เนื้อที่ 0.25 ไร่
เป็นพืชที่ปลูกสร้างสวนป่าและสวนสมุนไพร ได้คัดเลือกไม้ป่าและไม้โตเร็วที่เหมาะสมกับพื้นที่สามารถใช้ประโยชน์ได้ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ปลูกผสมผสานกันทั้งในบริเวณสวนป่าและบริเวณขอบเขตพื้นที่ ไม้ป่าดังกล่าว ได้แก่ สะเดา มะขามเปรี้ยว ตีนเป็ด ยางนา และมะค่าโมง ส่วนสมุนไพรที่ปลูกภายในสวนป่า ได้แก่ สมุนไพรที่สามารถนำมาใช้ได้ในชีวิตประจำวัน หรือคราวจำเป็น เช่น ขมิ้นชัน เสลดพังพอน ฟ้าทะลายโจร พริกไทย เป็นต้น

พื้นที่ส่วนสุดท้าย โครงสร้างพื้นฐาน เนื้อที่ 1 ไร่ (10% ของพื้นที่) เป็นพื้นที่ปลูกบ้านอยู่อาศัย และพืชผักสวนครัว รวมทั้งถนนเพื่ออำนวยความสะดวกในพื้นที่

การจัดการน้ำของพื้นที่บ้านเกษตรกรตัวอย่าง 
การใช้น้ำในบริเวณพื้นที่แห่งนี้ใช้ 2 ลักษณะ คือในช่วงฤดูฝน ได้อาศัยน้ำฝนเป็นหลัก ส่วนใหญ่ในช่วงฤดูแล้งหรือฝนทิ้งช่วงจะอาศัยน้ำจากบ่อน้ำที่ขุดไว้ขึ้นมาหล่อเลี้ยงพื้นที่ โดยได้ทำฝ่ายทดน้ำเล็ก ๆ ในทางระบายน้ำล้นจากอ่างเก็บน้ำตัวที่ 12 (อ่างห้วยเจ๊ก) ที่มีน้ำซึมตลอดปี ให้น้ำมีระดับสูงขึ้น ซึ่งเพียงพอต่อการเติมให้กับบ่อที่ขุดไว้ให้พอใช้ได้ตลอดทั้งปี
อ่างเก็บน้ำตัวที่ 12 -------->ฝ่ายทดน้ำ -------> บ่อน้ำในแปลง

หลักการในการดำเนินการในพื้นที่บ้านเกษตรกรตัวอย่าง
  • ดำเนินการเกษตรโดยยึดหลักธรรมชาติตามแนวทางไปสู่ระบบการเกษตรแบบยั่งยืน
  • ทำการเกษตรแบบผสมผสานเน้นความหลากหลายของชนิดพืชเพื่อการบริโภคและลดการระบาดของแมลงศัตรูพืช
  • เน้นการปรับปรุงบำรุงดินด้วยอินทรียวัตถุเป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจากดินชุดที่จันทึกเป็นดินทรายจัดมีปริมาณอินทรียวัตถุ และความอุดมสมบูรณ์ของดินน้อยมาก
  • ไม่ใช้สารเคมีในการป้องกันกำจัดแมลง ปลูกพืชหมุนเวียน ใช้สารสกัดจากพืช เช่น สะเดา ตะไคร้หอม ใช้กาวดักแมลง ใช้ไฟล่อแมลงให้เป็นอาหารปลา ฯลฯ เป็นต้น

หลักการสำคัญที่จะเกิดที่งอกริมตลิ่ง



หลักประการสำคัญที่จะเกิดที่งอกริมตลิ่งได้นั้น ประกอบด้วยเงื่อนไขสำคัญดังนี้

     1. จะต้องมีริมตลิ่ง กล่าวคือ ที่ดินที่เกิดที่งอกริมตลิ่งได้นั้นจะต้องมีส่วนใดส่วนหนึ่งอยู่ติดกับน้ำ ไม่ว่าจะเป็นหนอง คลอง บึง แม่น้ำ ทะเล ทะเลสาบ

     2. ที่งอกนั้นจะต้องเกิดขึ้นตามธรรมชาติ มิใช่เกิดจากการกระทำของมนุษย์

          2.1 การถมดินออกไปไม่ถือว่าเป็นที่งอก
     คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 534/2485 ลำคลองที่ถมเป็นถนนขึ้นไม่เรียกว่าที่งอกริมตลิ่ง 
         
          2.2 หากบางฤดูน้ำท่วมถึง ไม่ถือว่าเป็นที่งอกริมตลิ่ง
     คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2199/2515 คันคลองสาธารณะซึ่งน้ำท่วมถึงทุกปีในฤดูน้ำเป็นที่ชายตลิ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภททรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันผู้ใดหามีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองไม่

          2.3 ลำรางสาธารณประโยชน์หรือลำคลอง คูน้ำ หรือแหล่งน้ำอื่นซึ่งเป็นสาธารณประโยชน์ หากตื้นเขิน ไม่ถือเป็นที่งอก
     คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1189/2534 ลำรางสาธารณประโยชน์สำหรับระบายน้ำจากภูเขาซึ่งมีมานาแล้วเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ราษฎรใช้ประโยชน์ร่วมกันแม้ต่อมาจะตื้นเขินตามธรรมชาติหรือมีผู้ถมดินรุกล้ำเข้ามาไม่มีสภาพเป็นทางระบายน้ำต่อไป และไม่มีราษฎรใช้ประโยชน์ก็ตาม เมื่อยังไม่มีการตราพระราชกฤษฎีกาเพิกถอนสภาพการเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ที่ดินนั้นก็ยังเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินอยู่เช่นเดิม

     3. การงอกของที่ริมตลิ่งนั้นจะต้องงอกจากริมตลิ่งออกไป มิใช่งอกจากที่อื่นเข้ามา

ถ้าไม่่ผิดหลัก ผมคิดว่าน่าจะขอรังวัดใหม่ได้เลยนะครับ แต่ลองปรึกษาสนงที่ดินก่อนนะครับ