หน้าเว็บ

วันพุธที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

การได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ที่ดิน



การได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ที่ดิน

1.     การได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดิน ก่อนประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับเช่นได้มาโดยได้โฉนดแผนที่โฉนด ตราจอง, หรือตราจองที่ตราว่าได้ทำประโยชน์แล้ว, ได้มาซึ่งที่บ้านที่สวน ตามกฎหมายเบ็ดเสร็จ บทที่ 42 ที่ดินประเภทนี้เป็นที่มีกรรมสิทธิ์แต่ไม่มีหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์และไม่ถือว่าเป็นที่ดินมือเปล่า ฎีกาที่ 1570/2500 ที่พิพาทซึ่งเจ้าของได้ครอบครองทำที่ดินให้เป็นที่บ้านที่สวนมาก่อนประกาศใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ 4 และพระราชบัญญัติ ออกโฉนดที่ดิน (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2479 แล้วแม้ที่ดินพิพาทจะเป็นที่ดินมือเปล่าไม่มีหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ก็ต้องนำกฎหมายลักษณะเบ็ดเสร็จบทที่ 42 มาใช้บังคับคดี โดยถืออายุความสละที่ดิน 9ปี 10 ปี หาใช่อายุความ 1 ปี ไม่
2.     การได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดิน ได้มาโดยขอออกโฉนดที่ดินตั้งตำบลและได้มาโดยขอออกโฉนดที่ดินเฉพาะราย (ประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 58 และ 59)
3.     การได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยนิติกรรม เช่น โดยการซื้อขายแลกเปลี่ยนให้จำนอง, ขายฝาก ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่มิฉะนั้นเป็นโมฆะ
4.     การได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยผลของกฎหมาย เช่น
4.1.  ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินจากที่งอกริมตลิ่ง ที่ดินแปลงใดเกิดที่งอกริมตลิ่งที่งอกนั้นเป็นทรัพย์สินของเจ้าของที่ดินแปลงนั้น โดยหลักของที่งอกริมตลิ่งจะต้องเกิดขึ้นโดย ธรรมชาติและติดต่อเป็นผืนเดียวกันแต่เจ้าของที่ดินมีจะมีกรรมสิทธิ์ในที่งอกได้ต้องเป็นที่ที่มีหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ เช่น โฉนดที่ดิน ถ้าเจ้าของที่ดินแปลงใดเป็นที่มือเปล่าเกิดที่งอกออกมาเจ้าของที่แปลงนั้นก็มีแต่สิทธิครอบครองที่งอกเท่านั้นดังนั้นหากเป็นงอกออกมาจากที่ดินมีโฉนดเจ้าของที่ดิน แปลงดังกล่าวมีกรรมสิทธิ์ในที่งอกผู้อื่นจะแย่งการครอบครองที่ดินส่วนนี้ต้องครองครองปรปักษ์เกินกว่า 10 ปีจึงได้กรรมสิทธิ์ หากเป็นที่งอกออกมาจากที่ดินมือเปล่า (ส.ค.1., นส.3) เจ้าของมีเพียงสิทธิครอบครองหากผู้อื่นแย่งการครอบครองและเจ้าของไม่ฟ้องร้องเรียกคืนภายใน1 ปี เจ้าของสิ้นสิทธิในที่งอกนั้น
4.2.  ได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 "บุคคลใดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้โดยความสงบและโดยเปิดเผย ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลา 10 ปีท่านว่าบุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์" ที่ดินที่จะถูกครอบครองปรปักษ์ได้ จะต้องเป็นที่ดินของผู้อื่นที่มีหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ (โฉนดที่ดิน, โฉนดแผนที่, โฉนดตราจองตราจองที่ตราว่าได้ทำประโยชน์แล้วที่บ้านที่สวนตามกฎหมายเบ็ดเสร็จ(บทที่42) ที่ดินมือเปล่า (ส.ค.1,น.ส.3) จะถูกครอบครองปรปักษ์ไม่ได้ เช่น ก.ครอบครองที่ดินมือเปล่าอย่างเจ้าของมา 10 ปี ก.ก็คงมีเพียงสิทธิครอบครองเท่านั้น การได้กรรมสิทธิ์โดยครอบครองปรปักษ์จะต้องให้ศาลสั่งว่า ได้มาโดยครอบครองปรปักษ์แล้วนำคำสั่งศาลไปขอจดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานที่ดินประเภทได้มาโดยการครอบครอง หากเจ้าของได้โดยการครอบครองบางส่วนก็ไปขอจดทะเบียนในประเภทได้มาโดยการครอบครองเฉพาะส่วนหรือได้รับแบ่งมาโดยการครอบครอง
4.3.  การได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยทางมรดกการจะมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินมรดกที่ดินมรดกนั้นต้องเป็นที่มีหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์เช่น โฉนดที่ดินถ้าที่ดินมรดกเป็นที่มือเปล่าเช่นที่ น.ส.3, ส.ค.1 ก็มีเพียงสิทธิครอบครอง ได้ทรัพย์มาโดยทางมรดกนี้จะต้องจดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานที่ดินเสียก่อนจึงจะมีการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนได้เช่น นาย ก. ทำพินัยกรรมยกที่ดินโฉนดให้นาย ข. เมื่อนาย ก. ตาย นาย ข. ก็ได้รับมรดกทันทีโดยผลของกฎหมายโดยไม่ต้องจดทะเบียนเนื่องจากพินัยกรรม มีผลเมื่อเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย หรือหากไม่มีพินัยกรมเมื่อเจ้าของมรดกถึงแก่ความตายมรดกก็ตกไปยังทายาทโดยธรรมทันทีแต่ต่อมาหากนาย ข.ต้องการขายที่ดินมรดกให้นาย ค. นาย ข.จะทำไม่ได้เพราะชื่อในโฉนดยังเป็นชื่อนายก. เจ้าของเดิมอยู่ นาย ข.จะต้องจดทะเบียน การได้มาประเภทมรดก ลงชื่อนาย ข. เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์เสียก่อน จึงจะเอาที่ดินไปจดทะเบียนขายให้นาย ค. ต่อไปได้เนื่องจากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 วรรค 2 บัญญัติว่า "ถ้าผู้ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพย์สิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่น นอกจากนิติกรรมสิทธิ์ของผู้ได้มานั้นถ้ายังมิได้จดทะเบียนไซร้ท่านว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนไม่ได้"การได้มาทางมรดก ก็เป็นการได้มาโดยทางอื่นนอกจากนิติกรรมเช่นกัน

วันอังคารที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ที่ดินตาบอด



ที่ดินตาบอด เป็นชื่อเรียกตามภาษาชาวบ้านทั่วไป ที่หมายถึงที่ดินที่ไม่มีทางออกสู่ทางหลัก หรือทางสาธารณะ ที่ดินตาบอดนี้เป็นที่ดินที่มักจะสร้างปัญหาให้กับคนที่เป็นเจ้าของที่ดินแปลงนั้นเสมอๆ เพราะว่าการที่ไม่มีทางเข้าออกนั้น มันทำให้เจ้าของที่ดินเข้าไปทำประโยชน์ในที่ดินของตัวเองได้อย่างเต็มที่ หรือบางที่ก็อาจจะไม่สามารถทำประโยชน์ในที่ดินได้เลย สาเหตุก็เพราะว่า เมื่อไม่มีทางเข้าออกในที่ดินของตัวเองแล้ว มันก็ต้องอาศัยตัดผ่านเข้าไปยังที่ดินของคนอื่นเขา ซึ่งตรงนี้แหละที่เป็นปัญหา คือ เจ้าของที่ดินที่ถูกผ่านไม่ค่อยจะยินดีจะให้ใครมาผ่านเขาออกซักเท่าไหร่ บางครั้งก็อาจถึงขั้นลงไม้ลงมือฆ่ากันตายเลยก็มีอยู่บ่อยๆ ก็ระวังๆกันไว้ด้วยนะครับ    
          ปกติที่ดินทุกแปลงจะมีการทำทางเข้าทางออกอยู่ด้วยเสมอ และหากรายใดไม่มีทางเข้าออกจริงๆ ก็มักจะมีการพูดคุยกับที่ดินแปลงข้างเคียง เพื่อขอเปิดทางเข้าออกไปสู่ถนนหลักได้  ซึ่งสมัยก่อนการพูดคุยกันไม่ใช่ยาก เพราะว่าในสมัยนั้นมันต้องพึ่งพาอาศัยกันในฐานะเพื่อนบ้าน แต่พอมาถึงยุคปัจจุบัน ซึ่งอะไรๆ มันก็เปลี่ยนไป ทุกสิ่งทุกอย่างขึ้นอยู่กับผลประโยชน์ที่ตัวเองจะได้รับ หากไม่มีข้อเสนอที่ดี ก็อย่าหวังมาคุยกันให้เปลืองน้ำลายเลย มันก็เป็นเสียอย่างงั้นไป
          ปัญหาที่ดินตาบอดปัจจุบันที่พบ มักจะเกิดจากการแบ่งที่ดินจากแปลงใหญ่ มาซอยย่อยออกมาเป็นแปลงเล็กๆ เพื่อแบ่งระหว่างพี่น้อง หรือกรณีที่เป็นการขอใช้ทางที่ดินของคนอื่น แล้วต่อมาภายหลังลูกหลานเขาไม่อยากให้ใช้เป็นทางเข้าออก ก็มาปิดเสียอย่างนี้เป็นต้น  ดังนั้นเมื่อใครมีปัญหาเกี่ยวกับที่ดินตาบอดที่ใกล้เคียงกับที่เล่ามานี้ ก็อย่าเพิ่งตกอกตกใจ หรือมานั่งร้องห่มร้องไห้ให้เสียสุขภาพจิตไปนะครับ เพราะเรื่องเหล่านี้มันมีทางแก้อยู่แล้วครับท่าน
          หากกรณีที่ที่ดินตาบอดไม่มีทางออก เพราะว่ามีที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่ หรือว่ามีทางออกแต่ว่าทางเข้าออกนั้นเข้าออกได้ลำบาก เพราะว่าต้องข้ามสระ ข้ามบึง ข้ามทะเล หรือว่ามันเป็นทางชัน ซึ่งทำให้การเข้าออกนั้นลำบากมากๆๆ อย่างนี้กฎหมายก็บอกว่า เจ้าของที่ดินนั้นมีสิทธิที่จะขอทางจำเป็นในการเข้าออก ผ่านที่ดินที่ล้อมอยู่ ออกไปสู่ทางสาธารณะได้ครับ 
          เมื่อได้ทางจำเป็นมาแล้ว การทำทางเข้าออกก็ต้องทำพอสมควร หรือตามความจำเป็นที่จะต้องใช้เท่านั้น โดยคำนึงให้เจ้าของที่ดินที่ถูกใช้เป็นทางเข้าออกนั้น เสียหายน้อยที่สุด ไม่ใช่ว่าใช้เป็นแค่ทางเดินเข้าเดินออก แต่ไปทำทางกว้างเสียรถบรรทุกวิ่งเข้าออกได้ อย่างนี้ก็เกินไป เอาแค่ใช้แค่ไหนก็ทำทางเท่านั้นนะครับ หากกรณีจำเป็นต้องใช้รถวิ่งเข้าออกด้วย อย่างนี้ก็สามารถสร้างถนนผ่านเลยก็ได้ 
          เมื่อได้ทางเข้าออกมาเป็นประโยชน์กับที่ดินของตัวเองสมใจแล้ว ก็อย่าเพิ่งเอาแต่ดีใจไปนะครับ เพราะว่าของฟรีไม่มีในโลก  ผู้ใช้ทางต้องเสียค่าทดแทนให้แก่เจ้าของที่ดินที่ถูกใช้เป็นทางผ่านนั้นด้วยนะครับ ส่วนจะเป็นค่าทดแทนความเสียหายเป็นจำนวนเท่าไหร่ ตรงนี้ก็ต้องไปประเมินและตกลงกันอีกครั้งครับ ซึ่งค่าทดแทนที่ว่านี้ อาจจะเป็นเงินก้อนเดียว หรือเป็นเงินรายปีก็ได้เช่นกัน และสุดท้ายหากตกลงกันได้ด้วยดี ก็ควรจะพากันไปจดทะเบียนภารจำยอมกันให้เรียบร้อยด้วยนะครับ
          สุดท้ายนี้ ในการใช้สิทธิตามกฎหมาย โดยการไปขอทางจำเป็น ถ้าเป็นการไปขอโดยปากเปล่ากับเจ้าของที่ดินแปลงที่ล้อมอยู่ เพื่อขอทางเข้าออกอย่างตรงๆ ส่วนมากแล้วคงไม่มีใครยินยอม ซึ่งหากกรณีเป็นอย่างนี้ การขอใช้สิทธิในเรื่องทางจำเป็นก็คงต้องไปพึ่งโรงพึ่งศาลแทนแหละครับ

ทางจำเป็น



 ทางจำเป็น

ทางจำเป็นคืออะไร
            ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้บัญญัติเรื่องทางจำเป็นไว้ในมาตรา ๑๓๔๙ ว่า “ที่ดินแปลงใดมีที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกถึงทางสาธารณะได้ไซร้ ท่านว่าเจ้าของที่ดินแปลงนั้นจะผ่านที่ดินซึ่งล้อมอยู่ไปสู่ทางสาธารณะได้
            ที่ดินแปลงใดมีทางออกได้   แต่เมื่อต้องข้ามสระ  บึงหรือทะเล   หรือมีที่ชัน อันระดับที่ดินกับทางสาธารณะสูงกว่ากันมากไซร้ ท่านว่าให้ใช้ความในวรรคต้นบังคับ
            ที่และวิธีทำทางผ่านนั้นต้องเลือกให้พอควรแก่ความจำเป็นของผู้มีสิทธิจะผ่าน กับทั้งให้คำนึงถึงที่ดินที่ล้อมอยู่    ให้เสียหายแต่น้อยที่สุดที่จะเป็นได้   ถ้าจำเป็นผู้มีสิทธิจะผ่านจะสร้างถนนเป็นทางผ่านก็ได้
            ผู้มีสิทธิจะผ่าน   ต้องใช้ค่าทดแทนให้แก่เจ้าของที่ดินที่ล้อมอยู่ เพื่อความเสียหายอันเกิดแต่เหตุที่มีทางผ่านนั้น    ค่าทดแทนนั้นนอกจากค่าเสียหายเพราะสร้างถนน ท่านว่าจะกำหนดเป็นเงินรายปีก็ได้”
            จากบทบัญญัติดังกล่าวนี้จะเห็นได้ว่า ทางจำเป็นเป็นการให้สิทธิเจ้าของที่ดิน รวมทั้งคนในครอบครัวหรือบริวารของเจ้าของที่ดินที่ถูกที่ดินแปลงอื่นล้อมจนไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ   สามารถผ่านที่ดินแปลงที่ล้อมอยู่ออกไปสู่ทางสาธารณะได้   ในขณะเดียวกันทางจำเป็นก็ถือเป็นกฎหมายที่จำกัดสิทธิของผู้เป็นเจ้าของที่ดินแปลงที่ล้อมอยู่ ที่จะต้องยอมให้เจ้าของที่ดินแปลงในที่ถูกล้อมผ่านที่ดินของตนออกไปสู่ทางสาธารณะ มีข้อสังเกตว่าผู้ที่จะใช้สิทธิในทางจำเป็นได้จะต้องเป็นเจ้าของที่ดิน   หากเป็นเจ้าของโรงเรือนเท่านั้นไม่ใช่เจ้าของที่ดิน แม้จะถูกที่ดินอื่นล้อมก็ไม่มีสิทธิขอใช้ทางจำเป็น และทางสาธารณะ ที่จะออกไปสู่นั้นจะเป็นถนนหรือแม่น้ำลำคลองได้ การใช้ทางจำเป็นตามที่กฎหมายบัญญัติไว้นี้มีข้อจำกัดไว้ว่าจะต้องเป็นการขอผ่านไปสู่ทางสาธารณะเท่านั้น   จะขอผ่านไปสู่สถานที่หรือทางอย่างอื่นนอกจากทางสาธารณะไม่ได้  ซึ่งต่างจากทางภาระจำยอมที่ทางภาระจำยอมอาจผ่านไปสู่ที่ใดก็ได้   นอกจากนั้นทางสาธารณะที่จะผ่านไปสู่จะต้องเป็นทางสาธารณะที่มีสภาพการใช้ประโยชน์อย่างทางสาธารณะได้    ถ้าเป็นคลองสาธารณะที่ตื้นเขินแล้วใช้ประโยชน์ในการสัญจรไปมา ไม่ได้   ก็ไม่ถือว่าเป็นทางสาธารณะในความหมายเรื่องทางจำเป็น

ทางจำเป็นเกิดขึ้นได้อย่างไร
            ทางจำเป็นเกิดจากกรณีที่ที่ดินถูกล้อมจนไม่สามารถออกสู่ทางสาธารณะ   นอกจากนี้กฎหมายก็ยังให้รวมถึงกรณีที่แม้จะออกไปสู่ทางสาธารณะได้แต่ไม่สะดวก   เช่น    การที่จะต้องข้ามสระ บึง ทะเล หรือที่ที่มีความลาดชันอันระดับที่ดินกับทางสาธารณะสูงกว่ากันมาก   ถ้าเป็นเพียงเนินดิน  ที่ยังสามารถเข้าออกสะดวกทั้งคนทั้งรถ ก็ไม่สามารถขอเปิดทางจำเป็นได้
            การได้สิทธิใช้ทางจำเป็น  ไม่จำต้องมีนิติกรรมสัญญาระหว่างเจ้าของที่ดินที่ถูกล้อมกับเจ้าของที่ดินที่ล้อมอยู่   เพราะทางจำเป็นเป็นการได้สิทธิตามกฎหมาย   และผู้ที่จะขอใช้ทางจำเป็นไม่จำเป็นต้องใช้สิทธิมานาน   ถูกล้อมวันไหน   เวลาใด   แม้จะเพิ่งเข้ามาอยู่ในที่ดินซึ่งถูกล้อมก็ขอใช้ทางจำเป็นได้

การพิจารณาทำทางจำเป็น
            การทำทางผ่านที่ดินที่ล้อมอยู่   ต้องให้พอสมควรแก่ความจำเป็นของผู้ขอผ่าน และให้ที่ดินที่ล้อมอยู่เสียหายน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้   แต่การผ่านที่ดินของผู้อื่นก็ไม่จำกัดว่าจะต้องเดินผ่านเท่านั้น ถ้าจำเป็นก็อาจทำถนนให้ยานพาหนะผ่านได้    แต่ถ้าผู้ขอผ่านไม่มีรถยนต์ใช้จะขอทำถนนสำหรับรถยนต์ไม่ได้ เพราะเกินความจำเป็น   ขอใช้ทางได้แต่เป็นทางเดินเท่านั้น   นอกจากนี้   การใช้ทางจำเป็นก็ไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นทางบก อาจเป็นทางน้ำก็ได้  เช่น  ที่ดินตั้งอยู่ในบริเวณที่มีทางสาธารณะเป็นทางน้ำ  การสัญจรไปมาต้องใช้เรือเป็นพาหนะ  เช่นนี้จะขอขุดคูทำทางน้ำสำหรับใช้เรือผ่านไปมาก็ได้   เว้นแต่จะเกินจำเป็นแก่ผู้ขอผ่านและเสียหายแก่เจ้าของที่ดินที่ให้ผ่านมาก   เช่น  ที่ดินของเขามีเนื้อที่น้อย   การขุดคูจะทำให้เขาเสียเนื้อที่มากเขาอาจให้ได้เฉพาะแต่เดินผ่านไปเท่านั้นจะขอขุดคูทำทางน้ำผ่านไม่ได้  ทั้งนี้  โดยพิจารณาว่าจะเกินความจำเป็นและเสียหายแก่เขามากน้อยเพียงใด  แต่ถ้าเขามีคูอยู่แล้ว  ก็ชอบที่จะ ขอพายเรือเข้าออกได้ การที่เจ้าของที่ดินที่ถูกล้อมจะขอใช้ทางจำเป็นเพื่อออกสู่ทางสาธารณะ   ต้องพิจารณาด้านที่ใกล้ทางสาธารณะที่สุด และเหมาะสมแก่ความจำเป็นที่สุด  ไม่ได้หมายความว่าจะออกทางใดก็ได้   อย่างไรก็ดี   แม้จะออกได้ก็ต้องให้เขาได้รับความเสียหายน้อยที่สุด จะเลือกตามชอบใจไม่ได้

การได้มาและการสิ้นสุดของทางจำเป็น
            โดยที่ทางจำเป็นเป็นเรื่องการได้สิทธิโดยกฎหมาย   ดังนั้น  การได้มาซึ่งทางจำเป็นจึงไม่ต้องจดทะเบียนแต่ประการใด   แต่ผู้ขอใช้ทางจำเป็นต้องใช้ค่าทดแทนอันเนื่องมาจากความเสียหายที่เกิดจากการใช้ทางจำเป็นนั้นให้แก่เจ้าของที่ดินที่ถูกใช้ทาง   อย่างไรก็ตาม   กฎหมายก็ไม่ได้ห้ามเจ้าของที่ดินที่จะตกลงให้จดทะเบียนเป็นทางภาระจำยอม   อาจมีการตกลงกันให้จดทะเบียนเป็นทางภาระจำยอมก็ได้  ทางจำเป็นนั้นก็กลายเป็นทางภาระจำยอมได้   อย่างไรก็ตาม  ก็เคยปรากฏว่าได้มีคำพิพากษาของศาลให้จดทะเบียนทางจำเป็น ในกรณีนี้   การจดทะเบียนสิทธิทางจำเป็นก็จะดำเนินการโดยอนุโลมปฏิบัติเช่นเดียวกับการจดทะเบียนภาระ  จำยอม
            ด้วยเหตุที่ทางจำเป็นเกิดขึ้นโดยเป็นการได้สิทธิตามกฎหมาย    ในเมื่อมีความจำเป็น  ดังนั้น  ถ้าหมดความจำเป็นไม่ถูกล้อมเมื่อใด  เช่น   ซื้อที่ดินติดต่อกับทางสาธารณะออกเองได้ ทางจำเป็นก็จะต้องสิ้นสุดไป  ขอผ่านที่เขาอีกไม่ได้

ค่าทดแทน
            ในเรื่องการขอใช้ทางจำเป็น  กฎหมายบังคับว่า ผู้มีสิทธิจะผ่านต้องใช้ค่าทดแทนให้แก่เจ้าของที่ดินที่ล้อมอยู่ โดยค่าทดแทนอาจมีได้ ๒ ประการ คือ
            ๑. ค่าทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดจากการที่มีทางผ่าน   จะเสียหายมากหรือน้อยก็แล้วแต่ชนิดของทางที่ผ่าน  เช่น  จำต้องตัดต้นไม้บางต้นเพื่อให้ทำทางผ่านไปได้
            ๒. ค่าทดแทนที่เป็นค่าใช้ที่ดินของเขาเป็นทาง   การที่ต้องมีทางผ่านไปย่อมทำให้เจ้าของที่ดิน   ไม่ได้ใช้ที่ดินตรงนั้นทำประโยชน์ได้ตามประสงค์    การใช้ค่าทดแทนในกรณีนี้คล้ายกับเป็นค่าเช่า จะตกลงกันเป็นรายปีหรือเป็นเงินก้อนก็ได้
            นอกจากทางจำเป็นจะมีขึ้นได้ดังได้กล่าวข้างต้นแล้ว  ในมาตรา ๑๓๕๐ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ยังได้บัญญัติว่า  “ถ้าที่ดินแบ่งแยกหรือแบ่งโอนกันเป็นเหตุให้แปลงหนึ่ง  ไม่มีทางออกไปสู่ทางสาธารณะไซร้   ท่านว่าเจ้าของที่ดินแปลงนั้นมีสิทธิเรียกร้องเอาทางเดินตามมาตราก่อนได้เฉพาะบนที่ดินแปลงที่ได้แบ่งแยกหรือแบ่งโอนกัน   และไม่ต้องเสียค่าทดแทน”   ตัวอย่างเช่น  ที่ดินโฉนดเลขที่ ** มีชื่อนาย ก. เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์   ด้านหนึ่งของที่ดินแปลงนี้จะอยู่ติดทางสาธารณประโยชน์   ต่อมา นาย ก. ได้จดทะเบียนแบ่งขายที่ดินแปลงนี้ออกไปอีกหลายแปลง   และได้แบ่งขายที่ดินแปลงแยกแปลงหนึ่ง  คือ โฉนดเลขที่ *** ให้แก่นาย ว.   ที่ดินโฉนดเลขที่ *** ที่นาย ว. ซื้อมาเป็นที่ดินที่อยู่ด้านในสุดและไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ ดังนี้ นาย ว. ย่อมมีสิทธิที่จะเดินผ่านที่ดินโฉนดเลขที่ ** ของนาย ก. ได้โดยไม่ต้องเสียค่าทดแทน

ข้อแตกต่างระหว่างทางจำเป็นกับภาระจำยอม
            ทางจำเป็นกับทางภาระจำยอมจะมีลักษณะใกล้เคียงกัน แต่พอจะแยกให้เห็นความแตกต่างได้ ดังนี้
            ๑. ทางจำเป็นจะต้องเป็นการขอผ่านไปสู่ทางสาธารณะเท่านั้น   ส่วนทางภาระจำยอม ไม่จำเป็นต้องเป็นการผ่านไปสู่ทางสาธารณะ จะผ่านไปสู่ที่ใดก็ได้
            ๒. ทางจำเป็นจะเกิดขึ้นได้จะต้องเป็นกรณีที่ที่ดินถูกล้อมอยู่จนออกสู่ทางสาธารณะไม่ได้  ถือเป็นการได้สิทธิโดยกฎหมาย     แต่การขอใช้ทางภาระจำยอมไม่จำเป็นจะต้องเป็นที่ดินที่ถูกล้อมจนออกสู่ทางสาธารณะไม่ได้     แม้ที่ดินไม่ถูกล้อมก็สามารถขอใช้ทางภาระจำยอมได้    โดยอาจได้สิทธิภาระจำยอมโดยนิติกรรม  หรือโดยอายุความ
            ๓. ผู้ขอใช้ทางจำเป็นจะต้องเสียค่าทดแทนให้แก่เจ้าของที่ดินที่ล้อมอยู่   แต่ทางภาระจำยอมโดยนิติกรรม   กฎหมายไม่ได้กำหนดว่าจะต้องเสียค่าทดแทนจึงแล้วแต่จะตกลงกันว่าจะมีการเสียค่าทดแทนหรือไม่
            ๔. ทางจำเป็นเป็นการได้สิทธิตามกฎหมาย   การได้สิทธิไม่จำเป็นต้องจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่   ส่วนภาระจำยอมที่ได้มาโดยนิติกรรมต้องจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่  ตามมาตรา ๑๒๙๙ วรรค ๑ มิฉะนั้นไม่บริบูรณ์

การจดทะเบียน “สิทธิทางจำเป็น”
            ทางจำเป็นเป็นการได้สิทธิโดยอำนาจของกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๔๙   โดยไม่ต้องจดทะเบียน (คำพิพากษาฎีกาที่ ๓๗๗๔/๒๕๔๙)   แต่ดังที่กล่าวไว้ข้างต้นว่า เคยปรากฏว่าศาลมีคำพิพากษาให้จดทะเบียนทางจำเป็น   ซึ่งกรมที่ดินได้พิจารณาตอบข้อหารือว่า ให้พนักงานเจ้าหน้าที่รับจดทะเบียนในประเภท “สิทธิทางจำเป็น ตามคำพิพากษา……………………….. ลงวันที่……เดือน…………พ.ศ……” โดยอนุโลมปฏิบัติตามแนวทางการจดทะเบียนประเภทภาระจำยอม   สำหรับค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนสิทธิทางจำเป็น  กรณีไม่มีค่าตอบแทนจะเสียค่าจดทะเบียนประเภทไม่มีทุนทรัพย์แปลงละ ๕๐ บาท   ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๗ (พ.ศ. ๒๕๔๑)  ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. ๒๔๙๗   ไม่เสียภาษีอากร แต่ถ้ามีการจ่ายค่าตอบแทน ให้แก่กันจะเสียค่าจดทะเบียนร้อยละ ๑ จากจำนวนเงินค่าตอบแทนตามกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๗ (พ.ศ. ๒๕๔๑)ฯ ข้อ ๒ (๗) (ฏ)    และเสียค่าอากรแสตมป์ใบรับร้อยละ ๐.๕ (ร้อยละ ๕๐ สตางค์) จากจำนวนเงินค่าตอบแทนที่จ่ายให้แก่กัน
                                         สรุปโดย กลุ่มพิจารณาปัญหาข้อหารือและร้องเรียน
                              ส่วนมาตรฐานการจดทะเบียนฯ   สำนักมาตรฐานการทะเบียนที่ดิน
                                                          กรกฎาคม   ๒๕๕๐

ภาระจำยอมในที่ดิน



ภาระจำยอมในที่ดิน

ภาระจำยอม เป็นทรัพยสิทธิ ประเภทหนึ่ง ที่ตัดทอนกรรมสิทธิ์ ในอสังหาริมทรัพย์ของบุคคลอื่น อันทำให้เจ้าของอสังหาริมทรัพย์นั้น ต้องยอมรับภาระบางอย่างซึ่งกระทบกระเทือนอำนาจกรรมสิทธิ์ เพื่อประโยชน์แก่อสังหาริมทรัพย์อื่น ๆ ในทางกฎหมายแล้ว อสังหาริมทรัพย์ที่ได้ประโยชน์จากภาระจำยอมเรียกว่า " สามยทรัพย์ " ส่วนอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ในบังคับภาระจำยอมเรียกว่า " ภารยทรัพย์ " ตัวอย่างภาระจำยอมเช่น ยอมให้มีทางเดิน หรือ ทางน้ำ ยอมให้ชายคา หรือ หน้าต่างบุคคลอื่น ล้ำเข้ามาในที่ดินของตน ยอมที่จะไม่ปลูกสร้างอาคาร ปิดบังแสงสว่าง ทางลม แก่ที่ดินข้างเคียง

สิทธิ และ หน้าที่ของ เจ้าของภารยทรัพย์มีดังนี้คือ
1. ต้องไม่ประกอบการใด ๆ เป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมนั้นลดลงไป
2. เจ้าของสามยทรัพย์ ไม่มีสิทธิเปลี่ยนแปลงใน ภารยทรัพย์ หรือ ในสามยทรัพย์ อันเป็นการเพิ่มภาระแก่ ภารยทรัพย์
3. เจ้าของสามยทรัพย์ต้องเสียค่าใช้จ่าย เพื่อรักษาและ ใช้ภาระจำยอม และ ต้องให้ภารยทรัพย์เสียหายน้อยที่สุด
4. ถ้าความต้องการของเจ้าของสามยทรัพย์เปลี่ยนแปลงไป การเปลี่ยนแปลงนั้นย่อมไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่เจ้าของสามยทรัพย์ ที่จะทำให้เกิดภาระเพิ่มขึ้น แก่ภารยทรัพย์
5. เจ้าของภารยทรัพย์อาจจะขอย้ายไปส่วนอื่น ก็ได้ แต่การย้ายนั้น ต้องไม่ ทำให้ความสะดวกแห่งสามยทรัพย์ลดน้อยลงไป
6. ถ้ามีการแบ่งภารยทรัพย์ ภาระจำยอมก็คงมีอยู่ทุกส่วน ที่แยกออกไป แต่ถ้าส่วนใดไม่ใช้ หรือ ใช้ไม่ได้ เจ้าของส่วนอาจเรียกหรือ ขอให้พ้นจากภาระจำยอมได้
7. เมื่อสามยทรัพย์ได้จำหน่ายออกไปภาระจำยอมย่อมติดไปด้วย เว้นแต่จะมีการกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น

ภาระจำยอมเป็นบทบัญญัติที่ไม่มีการจำกัดระยะเวลา เหมือนทรัพยสิทธิประเภทอื่น ดังนั้นการทำนิติกรรมที่ ก่อให้เกิดภาระจำยอมต้องกำหนดเงื่อนไงไว้ให้ชัดเจน เช่น ความกว้างความยาว การให้ยานพาหนะผ่านได้หรือไม่ หรือ การกำหนดว่าให้หมดภาระจำยอม เมื่อมีการโอน สามยทรัพย์ให้บุคคลอื่น
ภาระจำยอม อาจเกิดโดยนิติกรรม และ โอยอายุความภาระจำยอมโดยนิติกรรม จะทำได้โดยการตกลงกัน ระหว่างเจ้าของที่ดินแปลงที่จะจดเป็นภาระจำยอม และ แปลงที่จะได้ประโยชน์จากภาระจำยอม โดยต้องจดทะเบียน ต่อเจ้าหน้าที่ ส่วนภาระจำยอมที่เกิดจากอายุความ เกิดโดยที่ดินแปลง หนึ่งได้ใช้ประโยชน์ในที่ดินอีกแปลงหนึ่ง โดยสงบ เปิดเผย และ มีเจตนาเป็นเจ้าของสิทธินั้น ติดต่อกันเป็นระยะเวลาเกิน 10 ปี จนได้ภาระจำยอมโดยอายุความ

การสิ้นไปแห่งภาระจำยอม
1. ถ้า ภารยทรัพย์ หรือ สามยทรัพย์ สลายไปทั้งหมดเท่ากับภาระจำยอมจะสิ้นไปโดยอัตโนมัติ
2. เมื่อภารยทรัพย์ หรือ สามยทรัพย์ ตกเป็นเจ้าของคนเดียวกัน เจ้าของสามารถขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนภาระจำยอมได้
3. ภาระจำยอมไม่ได้ใช้ 10 ปี ติดต่อกัน ภาระจำยอม ย่อมหมดสิ้นไป
4. ภาระจำยอมหมด ประโยชน์ แก่สามยทรัพย์
5. เมื่อภาระจำยอมนั้น ยังประโยชน์ ให้แก่ สามยทรัพย์นั้น น้อยมาก เจ้าของภารยทรัพย์ขอให้พ้นจากภาระจำยอมทั้งหมด หรือ แต่บางส่วนก็ได้ แต่ต้องใช้ค่าทดแทน