หน้าเว็บ

วันจันทร์ที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2555

อุทยานแห่งชาติตาดหมอก

อุทยานแห่งชาติตาดหมอก

Image
อุทยานแห่งชาติตาดหมอก จังหวัดเพชรบูรณ์ เนื่องจากบริเวณที่ดินป่าตะเบาะ และป่าห้วยใหญ่ ในท้องที่ตำบลห้วยใหญ่ ตำบลบ้านโคก และตำบลนาป่า อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ จังหวัดเพชรบูรณ์ ประกอบด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญและมีค่า เช่น พันธุ์ไม้ ของป่า สัตว์ป่านานาชนิด ตลอดจนทิวทัศน์ ป่า ภูเขา และน้ำตกที่สวยงามยิ่ง สมควรกำหนดให้เป็นอุทยานแห่งชาติตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 เพื่อสงวนไว้ให้คงอยู่ในสภาพธรรมชาติเดิมมิให้ถูกทำลายหรือเปลี่ยนแปลงไป เพื่อประโยชน์แก่การศึกษาและรื่นรมย์ของประชาชน และเพื่ออำนวยประโยชน์อื่นแก่รัฐและประชาชน มีเนื้อที่ประมาณ 181,250 ไร่ หรือ 290 ตารางกิโลเมตร

เมื่อปี พ.ศ. 2532 จังหวัดเพชรบูรณ์ ได้พบน้ำตกสวยงามเหมาะสมที่จะปรับปรุงเป็นแหล่งท่องเที่ยว จึงได้ขอให้กรมป่าไม้ทำการสำรวจพื้นที่ส่วนหนึ่งของป่าสงวนแห่งชาติป่าตะเบาะและป่าห้วยใหญ่ ซึ่งอยู่ในพื้นที่ อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบูรณ์ เพื่อจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ และกรมป่าไม้ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าดำเนินการเมื่อกลางปี งบประมาณ 2534

กรมป่าไม้ได้มีหนังสือ ที่ กษ 0712.3/244 ลงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2539 ตามมติที่ประชุม คณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ครั้งที่ 4/2537 เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2537 การจัดตั้งอุทยานแห่งชาติตาดหมอก จังหวัดเพชรบูรณ์ ได้เห็นชอบให้กรมป่าไม้ดำเนินการตราพระราชกำหนดบริเวณที่ดินป่าตะเบาะและป่าห้วยใหญ่ ในท้องที่ตำบลห้วยใหญ่ ตำบลบ้านโคก และตำบลนาป่า อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ จังหวัดเพชรบูรณ์ ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ นำเสนอร่างพระราชกำหนดให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบ

ต่อมาส่วนอุทยานแห่งชาติได้มี หนังสือ ที่ กษ 0712.3/1275 ลงวันที่ 14 สิงหาคม 2539 ให้ส่งข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อประกอบการพิจารณาร่างพระราชกำหนดให้เป็นอุทยานแห่งชาติ ได้พิจารณาตามคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อ 22 ธันวาคม 2535 ว่าพื้นที่ทีจะกำหนดให้เป็นอุทยานแห่งชาติมีราษฎรอาศัยหรือทำกินหรือไม่ และได้รับรายงานจากอุทยานแห่งชาติตาดหมอก ตามหนังสือ ที่ กษ 0712.425/65 ลงวันที่ 18 กรกฎาคม 2539 ว่า พื้นที่ที่จะกำหนดเป็นอุทยานแห่งชาติ ไม่มีราษฎรบุกรุกครอบครองแต่อย่างใด เนื่องจากหน่วยราชการต่าง ๆ และราษฎรในท้องที่จังหวัดเพชรบูรณ์ ได้ร่วมมือกันเป็นอย่างดีเพื่อรักษาพื้นที่ป่าอนุรักษ์นี้ เพื่อจะได้เสนอประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีได้มีมติ เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2539 อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินป่าตะเบาะและป่าห้วยใหญ่ ในท้องที่ตำบลห้วยใหญ่ ตำบลบ้านโคก และตำบลนาป่า อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ จังหวัดเพชรบูรณ์ ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ ตามหนังสือ ที่ นร 0214/13816 ลงวันที่ 26 กันยายน 2539 และส่งร่างพระราชกฤษฎีกาในเรื่องนี้ไปเพื่อสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาตามมติคณะรัฐมนตรีต่อไป

สำนักงานคณะ กรรมการกฤษฎีกาได้มีหนังสือ ที่ นร 0602/105 ลงวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2540 ว่าได้ตรวจพิจารณาร่างพระราชกำหนดดังกล่าวข้างต้นเสร็จแล้ว พื้นที่ที่จะกำหนดให้เป็นอุทยานแห่งชาติตามพระราชกำหนดนี้ทับซ้อนกับพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ คือ ป่าสงวนแห่งชาติป่าตะเบาะและป่าห้วยใหญ่ ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 619 (พ.ศ. 2516) ออกตามความในพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 การทับซ้อนกับพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ดังกล่าวสมควรให้กรมป่าไม้ดำเนินการเพิกถอนป่าสงวนแห่งชาติในส่วนที่ทับซ้อนกับพื้นที่อุทยานแห่งชาติตามร่างพระราชกำหนดต่อไป และกรมป่าไม้แจ้งยืนยันร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดตามร่างคณะกรรมการกฤษฎีกาแก้ไข สำหรับข้อสังเกตของสำนักงานกฤษฎีกาฯที่ให้กรมป่าไม้ออกกฎกระทรวงเพิกถอนป่าสงวนแห่งชาติ ที่ทับซ้อนกับพื้นที่ที่ได้ประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติจะดำเนินการภายหลัง

อุทยานแห่งชาติตาดหมอก ประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติตามพระราชกฤษฎีกา ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับกฤษฎีกา เล่ม 115 ตอนที่ 78 ก หน้า 11 เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2541 จัดเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 87 ของประเทศไทย
 ลักษณะภูมิประเทศ

เป็นเทือกเขาสลับซับซ้อน เป็นต้นกำเนิดของห้วยน้ำดำ ห้วยผึ้ง ห้วยกกไฮ ฯลฯ ซึ่งเป็นต้นน้ำลำธารของลุ่มน้ำป่าสัก และลุ่มน้ำชี เป็นผืนป่าเดียวกันกับป่าอุทยานแห่งชาติน้ำหนาว เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าตะเบาะ-ห้วยใหญ่

อาณาเขตทิศเหนือติดกับอุทยานแห่งชาติน้ำหนาว เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูผาแดง จังหวัดเพชรบูรณ์ ทิศใต้จดเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าตะเบาะ-ห้วยใหญ่ จังหวัดเพชรบูรณ์ ทิศตะวันออกจดเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว จังหวัดเพชรบูรณ์ ทิศตะวันตกจด อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบูรณ์
 ลักษณะภูมิอากาศ


โดยทั่วไปอากาศหนาวเย็นในตอนดึกและตอนเช้า ส่วนใหญ่ตอนกลางวันอากาศเย็นสบาย ในฤดูฝนจะมีฝนตกชุกระหว่างเดือนกันยายน-ตุลาคม ส่วนใหญ่ฤดูหนาว อากาศหนาวเย็นมาก อากาศจะหนาวเย็นที่สุดในเดือนธันวาคมและมกราคม
 พืชพรรณและสัตว์ป่า

ส่วนที่ติดต่อกับอุทยานแห่งชาติน้ำหนาว และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียวประกอบด้วยป่าดิบเขา ป่าดิบแล้ง ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ หนาแน่นด้วยพันธุ์ไม้ชนิดต่างๆ ที่มีค่าทางเศรษฐกิจ เช่น ตะเคียน ยาง แดง สัก ก่อ ประดู่ ตะแบก ไผ่ ฯลฯ เป็นแหล่งอาศัยของสัตว์ป่าหลายชนิด ได้แก่ ช้างป่า เลียงผา หมูป่า เก้ง ลิง นกนานาชนิด สัตว์เลื้อยคลาน สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ และปลาชนิดต่าง ๆ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น