การใช้ประโยชน์ที่ดินตามแนวทฤษฎีใหม่
เป็นการปรับพื้นที่ให้สอดคล้องกับแนวพระราชดำริเรื่องแหล่งน้ำ และเรื่องทฤษฎีใหม่ ซึ่งเป็นวิธีปฏิบัติในการทำการเกษตรผสมผสานของเกษตรกรที่เป็นเจ้าของที่ดินจำนวนน้อย (10-15 ไร่) เพื่อเป็นรูปแบบตัวอย่างแก่เกษตรกร หรือผู้ที่สนใจ ได้เกิดแนวความคิดนำไปปฏิบัติต่อไป
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชกระแสให้เจ้าหน้าที่มูลนิธิชัยพัฒนา หาซื้อที่ดินติดกับวัดชัยมงคล ตำบลห้วยบง อำเภอเมือง จังหวัดสระบุรี เพื่อให้มูลนิธิชัยพัฒนาทดสอบทฤษฎีใหม่ในดินแห้งแล้งและขาดธาตุอาหารโดยใช้ “วัด” เป็นศูนย์กลางการประสานความร่วมมือระหว่างชาวบ้าน และราชการหน่วยงานต่างๆ ซึ่ง 4 ปี ต่อมา ก็ได้ผลยืนยันได้ว่า การพัฒนาทฤษฎีใหม่ เป็นแนวทางที่ถูกต้องเหมาะสม
ตามหลักทฤษฎีใหม่ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ พื้นที่เกษตรกรไทยส่วนใหญ่จะต้องมีเฉลี่ยราว 10-15 ไร่ต่อครอบครัว ควรทำการแบ่งพื้นที่ทั้งหมดดังนี้
- 30% ขุดสระน้ำเพื่อใช้ในการเกษตร
- 30% นาข้าว
- 30% พืชไร่ พืชสวน
- 10% เป็นที่อยู่อาศัย เลี้ยงสัตว์ ปลูกพืชผักสวนครัว ถนน คันคูดิน หรือคูคลอง
พื้นที่ที่ 1. พื้นที่บ้านเกษตรกรตัวอย่างของศูนย์ฯ ซึ่งอยู่ท้ายอ่างเก็บน้ำตัวที่ 12 (อ่างห้วยเจ๊ก) มีพื้นที่ประมาณ 10 ไร่ เนื้อดินเป็นดินทรายจัดอยู่ในชุดจันทึก (กลุ่มที่ 44) ขอบพื้นที่ด้านตะวันออกติดกับคลองระบายน้ำล้นจากอ่างเก็บน้ำ สภาพพื้นที่มีความลาดเทประมาณ 3-5 เป็อร์เซนต์ เดิมได้จัดให้เกษตรกรตัวอย่างเข้าอยู่อาศัยทำกิน ต่อมาภายหลังได้ปรับพื้นที่ให้สอดคล้องกับแนวพระราชดำริเรื่องแหล่งน้ำและทฤษฎีใหม่ โดยมีสัดส่วนในการแบ่งพื้นที่ คือ 20:20:50:10 เนื่องจากพื้นที่อยู่ท้ายอ่างเก็บน้ำและเนื้อดินเป็นทรายจัด ดังนั้น ทางระบายน้ำล้นจึงมีน้ำซึมซับให้เก็บกักไว้พอใช้ได้ตลอดปี ศูนย์ฯ ได้เลือกพื้นที่แห่งนี้เป็นตัวอย่างเพราะเดิมเป็นบ้านเกษตรกรตัวอย่างอยู่แล้ว และเป็นพื้นที่ต่ำท้ายอ่างเก็บน้ำ สามารถที่จะมองเห็นลักษณะการใช้พื้นที่ได้ชัดเจน สะดวกต่อการบรรยายสรุปในการศึกษาดูงานให้เห็นองค์ประกอบหลักตามแนวพระราชดำริ ที่จะนำไปประยุกต์ใช้กับพื้นที่ในลักษณะใกล้เคียงกัน โดยได้จัดรูปแบบบ้านเกษตรกรตัวอย่าง ให้เป็นการทำการเกษตรผสมผสานอย่างยั่งยืน เน้นการปรับปรุงโครงสร้างและความอุดมสมบูรณ์ของดิน โดยใช้ปุ๋ยอินทรีย์ เป็นหลัก ตลอดจนแสดงรูปแบบต่าง ๆ ในการป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืช โดยไม่ใช้สารเคมี เช่น ใช้สารสะเดา ตะไคร้หอม เป็นพืชไล่แมลง การใช้กาวดักแมลง การปลูกพืชสลับ การปลูกพืชหมุนเวียน เป็นต้น เกษตรกรสามารถหมุนเวียนใช้แรงงาน ในการผลิตพืชและสัตว์เพื่อบริโภคส่วนที่เหลือก็จำหน่ายเป็นรายได้ทั้งปี สามารถใช้เป็นต้นแบบแก่ผู้สนใจและเกษตรกรทั่วไปโดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นตัวอย่างแก่เกษตรกรในหมู่บ้านบริเวณรอบศูนย์ฯ ที่มีพื้นที่อยู่ท้ายอ่างเก็บน้ำต่าง ๆ ซึ่งสภาพพื้นที่คล้าย ๆ กัน ได้นำไปขยายผลในพื้นที่ของตนให้แพร่หลายต่อไป
วิธีการดำเนินงาน
ได้ดำเนินการจัดแบ่งพื้นที่บ้านเกษตรกรตัวอย่าง ซึ่งมีแรงงาน 2-3 คน เนื้อที่ 10 ไร่ ตามองค์ประกอบของทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริ แต่ปรับเปลี่ยนสัดส่วนของพื้นที่ต่าง ๆ ตามความเหมาะสมของพื้นที่ ดังนี้
- 20% แรก จัดเป็นพื้นที่แหล่งน้ำและเลี้ยงปลาประมาณ 2 ไร่
- 20% ที่สอง เป็นพื้นที่ปลูกข้าว 2 ไร่
- 50% ที่สาม เป็นพื้นที่ปลูกพืชผสมผสาน 5 ไร่
- 10% สุดท้าย เป็นที่อยู่อาศัย และถนนภายในพื้นที่ 1 ไร่
พื้นที่ส่วนที่สองประมาณ 2 ไร่ (20% ของพื้นที่) อยู่ติดกับทางระบายน้ำและบ่อน้ำที่ขุดไว้ สามารถสูบน้ำขึ้นจากบ่อมาหล่อเลี้ยงได้โดยง่าย ใช้ประโยชน์เป็นนาข้าว ซึ่งสามารถปลูกได้ถึง 2 ครั้ง โดยนาปีปลูกข้าวดอกมะลิ 105 นาปรังปลูกข้าวอายุสั้น เช่น พันธุ์ชัยนาท 1 พันธุ์พิษณุโลก หรือสุพรรณบุรี 60 ซึ่งจะได้ผลผลิตเพียงพอสำหรับการบริโภคภายในครอบครัว เรือน ซึ่งมีแรงงาน 2-3 คน และยังมีช่วงเวลาเพียงพอที่จะปลูกพืชตระกูลถั่ว เพื่อเป็นการปรับปรุงดินได้อีก 1 ครั้ง ซึ่งในพื้นที่ตัวอย่างนี้ได้ใช้โสนอัฟริกันเป็นพืชสลับ เนื่องจากให้ปริมาณอินทรียวัตถุสูง มีปมที่รากและตลอดลำต้น ช่วยตรึงไนโตรเจนในอากาศได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์และประหยัดค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงดินและเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดินได้อย่างมาก และในพื้นที่ส่วนที่เป็นนาทำนี้ หากเป็นที่ลุ่มมีปริมาณน้ำมากเพียงพอ ควรขุดร่องให้รอบและเลี้ยงปลาในนาข้าว โดยจะก่อให้เกิดประโยชน์เกื้อกูลกันในการที่ปลาจะกินแมลงศัตรูข้าว และถ่ายมูลให้เป็นปุ๋ยแก่นาข้าวด้วย
พื้นที่ส่วนที่สาม เป็นการปลูกพืชผสมผสานเนื้อที่ 5 ไร่ (50% ของพื้นที่) ไม้ผล เนื้อที่ 3.25 ไร่
ได้คัดเลือกพันธุ์ไม้ผลที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมและพื้นที่ 5 ชนิด ได้แก่มะม่วง กระท้อน ขนุน และส้มโอ ซึ่งเป็นพืชที่สามารถอยู่ได้ในสภาพพื้นที่แห้งแล้ง ปริมาณฝนน้อย แปรปรวน ไม่แน่นอน ระยะห่างระหว่างหลุม 8´ 8 เมตร ขุดหลุมขนาด 1´ 1 เมตร ลึก 1 เมตร คลุกเคล้าด้วยปุ๋ยหมักอัตรา 50 กก./หลุม เป็นพืชหลัก ปลูกแซมด้วยไม้ผลพุ่มกลาง เช่น กล้วย มะละกอ ฝรั่ง และพืชพุ่มเล็ก เช่น พริก มะเขือ เพื่อเป็นพืชรายได้ในช่วงที่พืชหลักยังไม่ให้ผลผลิต
พืชไร่เนื้อที่ 0.50 ไร่ ทำการไถพื้นที่ หว่านปุ๋ยหมัก อัตรา 4 ตัน/ไร่ ไถพรวนแล้วยกร่องยาว ตลอดทั้งพื้นที่เพื่อทำการปลูกพืชไร่ต่าง ๆ เช่น ข้าวโพดหวาน ถั่วลิสง ถั่วเขียว หมุนเวียนสลับกันไปตลอดปี
พืชผัก เนื้อที่ 0.75 ไร่ ทำการไถพื้นที่หว่านปุ๋ยหมัก อัตรา 8 ตัน/ไร่ ไถพรวนแล้วยกร่อง เพื่อปลูกพืชผักหลายชนิด เช่นถั่วฝักยาว ผักคะน้า ผักกาดขาว กล่ำปลี ผักกวางตุ้ง ผักบุ้ง ฯลฯ หมุนเวียนตลอดไปทั้งปี โดยจะใส่ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอก (มูลไก่เนื้อ) คลุกเคล้าดินทุกครั้งก่อนปลูกใหม่
ไม้ดอก เนื้อที่ 0.25 ไร่ ทำการไถพื้นที่หว่านปุ๋ยหมัก อัตรา 8 ตัน/ไร่ ไถพรวนแล้วยกร่องปลูกไม้ดอก เช่น มะลิ กุหลาบ
สวนป่า เนื้อที่ 0.25 ไร่
เป็นพืชที่ปลูกสร้างสวนป่าและสวนสมุนไพร ได้คัดเลือกไม้ป่าและไม้โตเร็วที่เหมาะสมกับพื้นที่สามารถใช้ประโยชน์ได้ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ปลูกผสมผสานกันทั้งในบริเวณสวนป่าและบริเวณขอบเขตพื้นที่ ไม้ป่าดังกล่าว ได้แก่ สะเดา มะขามเปรี้ยว ตีนเป็ด ยางนา และมะค่าโมง ส่วนสมุนไพรที่ปลูกภายในสวนป่า ได้แก่ สมุนไพรที่สามารถนำมาใช้ได้ในชีวิตประจำวัน หรือคราวจำเป็น เช่น ขมิ้นชัน เสลดพังพอน ฟ้าทะลายโจร พริกไทย เป็นต้น
พื้นที่ส่วนสุดท้าย โครงสร้างพื้นฐาน เนื้อที่ 1 ไร่ (10% ของพื้นที่) เป็นพื้นที่ปลูกบ้านอยู่อาศัย และพืชผักสวนครัว รวมทั้งถนนเพื่ออำนวยความสะดวกในพื้นที่
การจัดการน้ำของพื้นที่บ้านเกษตรกรตัวอย่าง
การใช้น้ำในบริเวณพื้นที่แห่งนี้ใช้ 2 ลักษณะ คือในช่วงฤดูฝน ได้อาศัยน้ำฝนเป็นหลัก ส่วนใหญ่ในช่วงฤดูแล้งหรือฝนทิ้งช่วงจะอาศัยน้ำจากบ่อน้ำที่ขุดไว้ขึ้นมาหล่อเลี้ยงพื้นที่ โดยได้ทำฝ่ายทดน้ำเล็ก ๆ ในทางระบายน้ำล้นจากอ่างเก็บน้ำตัวที่ 12 (อ่างห้วยเจ๊ก) ที่มีน้ำซึมตลอดปี ให้น้ำมีระดับสูงขึ้น ซึ่งเพียงพอต่อการเติมให้กับบ่อที่ขุดไว้ให้พอใช้ได้ตลอดทั้งปี
อ่างเก็บน้ำตัวที่ 12 -------->ฝ่ายทดน้ำ -------> บ่อน้ำในแปลง
หลักการในการดำเนินการในพื้นที่บ้านเกษตรกรตัวอย่าง
- ดำเนินการเกษตรโดยยึดหลักธรรมชาติตามแนวทางไปสู่ระบบการเกษตรแบบยั่งยืน
- ทำการเกษตรแบบผสมผสานเน้นความหลากหลายของชนิดพืชเพื่อการบริโภคและลดการระบาดของแมลงศัตรูพืช
- เน้นการปรับปรุงบำรุงดินด้วยอินทรียวัตถุเป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจากดินชุดที่จันทึกเป็นดินทรายจัดมีปริมาณอินทรียวัตถุ และความอุดมสมบูรณ์ของดินน้อยมาก
- ไม่ใช้สารเคมีในการป้องกันกำจัดแมลง ปลูกพืชหมุนเวียน ใช้สารสกัดจากพืช เช่น สะเดา ตะไคร้หอม ใช้กาวดักแมลง ใช้ไฟล่อแมลงให้เป็นอาหารปลา ฯลฯ เป็นต้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น