นายหน้า (brokerage) เป็นสัญญาประเภทหนึ่ง ซึ่งบุคคลฝ่ายหนึ่งตกลงจะให้ค่าบำเหน็จแก่บุคคลอีกฝ่ายหนึ่งเรียกว่า "นายหน้า" (broker) เพื่อตอบแทนการที่นายหน้าได้ชี้ช่องหรือจัดการให้เขาได้เข้าทำสัญญากับบุคคลอีกฝ่าย สัญญานายหน้าอยู่ในบังคับแห่ง ป.พ.พ. บรรพ 3 เอกเทศสัญญา ลักษณะ 16 นายหน้า ซึ่งตำราบางเล่มเรียก "กฎหมายลักษณะนายหน้า"
เมื่อนายหน้าเป็นสัญญาประเภทหนึ่ง จึงต้องนำกฎหมายลักษณะสัญญามาใช้ด้วย เท่าที่ไม่ขัดกับกฎหมายลักษณะนายหน้า
เรื่องนายหน้านี้ต้องทำความเข้าใจให้ดี เพราะประกอบด้วย (1) สัญญานายหน้า และ (2) สัญญาที่นายหน้าชี้ช่องให้เกิดขึ้น ถ้าไม่อ่านให้ดีอาจฉงนสนเท่ห์ได้
เหตุผลที่เกิดนายหน้า
การที่บุคคลหนึ่งอาศัยอีกบุคคลหนึ่งช่วยเปิดทางไปสานสัมพันธ์ทางกฎหมายกับบุคคลที่สาม แทนที่จะเข้าหาบุคคลที่สามโดยตรงเลยนั้น อาจเป็นเพราะไม่รู้จักมักคุ้นด้วยกัน หรือไม่รู้จะติดต่อพบปะกันได้อย่างไร เป็นต้น บุคคลที่ช่วยเปิดทางนั้นจึงเป็นเสมือนสื่อกลางให้ผู้อื่นเกิดมาสร้างความสัมพันธ์กันในหลาย ๆ รูปแบบ โดยเฉพาะนิติสัมพันธ์ และบุคคลนี้เรียกว่า "นายหน้า"
สำหรับนายหน้าเอง อาจช่วยเหลือเช่นนั้นเพราะหวังเงินตอบแทน หรือเพราะเป็นญาติสนิทมิตรสหายกันก็ได้ แต่ส่วนใหญ่แล้ว นายหน้ามักทำหน้าที่ด้วยประสงค์ต่อค่าบำเหน็จ โดยเฉพาะนายหน้าซื้อขายอสังหาริมทรัพย์, นายหน้าเช่าอสังหาริมทรัพย์ และนายหน้าจัดหางาน เป็นต้น
องค์ประกอบแห่งสัญญา
ป.พ.พ. ม. 845 บ่งบอกว่า คู่สัญญานายหน้ามีสองฝ่าย ฝ่ายแรก คือ ผู้ตกลงจะให้บำเหน็จแก่นายหน้า เพื่อตอบแทนการที่นายหน้าได้ชี้ช่องให้เขาได้เข้าทำสัญญากับบุคลอื่น ซึ่งอาจเรียกว่า "ผู้วานนายหน้า" ก็ได้ และฝ่ายที่สอง คือ นายหน้าเอง ซึ่งทำหน้าที่ประหนึ่งคนกลางระหว่างสัญญาอีกฉบับหนึ่ง ปรกติแล้ว นายหน้ามักเป็นบุคคลธรรมดา แต่หากนิติบุคคลจะเป็นนายหน้าบ้าง ก็ทำได้โดยผ่านผู้แทนของนิติบุคคลนั้น ๆ ตามหลักทั่วไปคู่สัญญา
กฎหมายไทยไม่ได้กำหนดว่า ผู้เป็นนายหน้าได้ต้องมีความสามารถทำนิติกรรม นักกฎหมายไทยจึงเห็นต่างกันเป็นสองกลุ่ม
1. กลุ่มแรกว่า นายหน้าจะมีความสามารถทำนิติกรรม หรือไม่มี หรือมีแต่บกพร่อง เช่น เป็นผู้เยาว์ คนไร้ความสามารถ คนเสมือนไร้ความสามารถ คนวิกลจริต หรือคนล้มละลาย ก็ได้ทั้งนั้น เพราะปรกติแล้ว นายหน้าไม่จำต้องรับผิดเป็นการส่วนตัวในสัญญาที่ตนเป็นสื่อให้เกิดขึ้น
2. กลุ่มที่สอง ซึ่งเป็นเสียงส่วนน้อย ว่า นายหน้าเป็นสัญญาประเภทหนึ่ง จึงต้องบังคับตามหลักทั่วไปเกี่ยวกับสัญญาด้วย ดังนั้น ในเมื่อไม่มีกฎหมายยกเว้นเป็นพิเศษ จึงต้องนำหลักทั่วไปเรื่องความสามารถทำนิติกรรมมาใช้บังคับด้วย กลุ่มนี้เห็นว่า ถ้านายหน้ามีความสามารถดังกล่าวบกพร่อง สัญญานายหน้าจะเป็นโมฆียะตาม ป.พ.พ. ม. 153
วัตถุประสงค์แห่งสัญญา
ป.พ.พ. ม. 845 แสดงว่า สัญญานายหน้ามีวัตถุประสงค์เป็นการที่นายหน้าชี้ช่องให้ผู้วานนายหน้าได้เข้าทำสัญญากับบุคคลอื่น ซึ่งเป็นจุดต่างกับสัญญาตัวแทน ที่ตัวแทนจะเข้าทำสัญญากับบุคคลอื่นโดยตรงแทนตัวการเลย นอกจากนี้ บุคคลจะเป็นนายหน้าให้ตนเองมิได้ ต้องเป็นให้ผู้อื่นเท่านั้น และสัญญาที่จะชี้ช่องนั้น อะไรก็ได้ ไม่มีจำกัดไว้ โดยอาจเป็นสัญญาว่าจะทำสัญญากันในอนาคต เช่น สัญญาจะซื้อจะขาย ก็ได้
วัตถุแห่งสัญญา
ค่าบำเหน็จนี้ จะกำหนดเป็นจำนวนตายตัว เช่น หนึ่งแสนแปดหมื่นบาท หรือกำหนดเป็นร้อยละ เช่น ให้ได้รับค่าบำเหน็จร้อยละสามสิบจากเงินที่ผู้วานนายหน้าได้รับในการทำสัญญากับบุคคลอื่น ก็ได้ ถ้าไม่ได้ตกลงกำหนดจำนวนกันไว้ ป.พ.พ. ม. 846 ว. 2 ก็ให้ถือเอา "จำนวนตามธรรมเนียม" (usual remuneration) อันหมายความว่า จำนวนตามที่คู่สัญญาเคยให้กัน หรือจำนวนที่ผู้คนทั่วไปให้กันเป็นปรกติ ในกรณีที่คู่สัญญาไม่ได้ตกลงกันว่ามีค่าบำเหน็จ ถ้าเป็นที่รับรู้ได้อยู่แล้วว่า นายหน้ารับทำหน้าที่อย่างนั้น ๆ ก็ย่อมประสงค์ต่อค่าบำเหน็จ ป.พ.พ. ม. 846 ว. 1 ให้ถือว่า ได้ตกลงกันแล้วว่ามีค่าบำเหน็จ
แบบ
กฎหมายไทยมิได้กำหนดแบบ (form) สำหรับสัญญานายหน้าเอาไว้ ดังนั้น สัญญานายหน้าเมื่อตกลงกันได้ ก็ย่อมเกิดขึ้นทันทีตามข้อตกลงนั้น แม้เป็นเพียงการตกลงด้วยวาจา มิได้ทำเป็นหนังสือก็ตาม
ผล
ตาม ป.พ.พ. ม. 848 นายหน้าไม่ต้องรับผิดในสัญญาที่ตนเป็นสื่อให้เกิดขึ้น เพราะนายหน้ามิได้เกี่ยวข้องกับสัญญานั้นโดยตรง เว้นแต่คู่สัญญาดังกล่าวไม่ทราบนามของคู่สัญญาอีกฝ่าย เพราะนายหน้าไม่ยอมบอก อันทำให้คู่สัญญาฝ่ายนั้นไม่ทราบจะไปบังคับชำระหนี้กับใคร และเพื่อป้องกันนายหน้าทุจริตคิดไม่ซื่อด้วย ในกรณีเช่นนั้น นายหน้าต้องรับผิดตามสัญญาที่ตนเป็นสื่อให้เกิดขึ้นนั้นแทน (มิใช่รับผิดตามสัญญานายหน้า)ความรับผิดของนายหน้าเกี่ยวกับสัญญาที่ตนชี้ช่อง
"ชื่อ" ในถ้อยคำ "...มิได้บอกชื่อของฝ่ายหนึ่งให้รู้ถึงอีกฝ่ายหนึ่ง" ("...has not communicated the name of a party to the other party.") หมายถึง ชื่อตัวและชื่อสกุลของคู่สัญญาแต่ละฝ่าย ตามที่ปรากฏในทะเบียนของทางราชการ เช่น ทะเบียนบ้าน, ทะเบียนสำมะโนครัว หรือ บัตรประจำตัวประชาชน เป็นต้น เพราะการฟ้องร้องบังคับคดีกันต้องใช้ชื่อตามทะเบียนเช่นนี้
สิทธิของนายหน้าเกี่ยวกับสัญญาที่ตนชี้ช่อง
ในสัญญาที่นายหน้าเป็นสื่อให้เกิดขึ้นระหว่างผู้วานนายหน้ากับบุคคลอื่น หากต้องมีการรับเงินหรือชำระหนี้ กฎหมายให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า นายหน้าไม่มีอำนาจทำเช่นนั้นแทนผู้วานนายหน้า ดังที่ ป.พ.พ. ม. 849 ว่า "การรับเงินหรือรับชำระหนี้อันจะพึงชำระตามสัญญานั้น ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า นายหน้าย่อมไม่มีอำนาจที่จะรับแทนผู้เป็นคู่สัญญา" ทั้งนี้ เนื่องจากนายหน้ามีหน้าที่เพียงเป็นสื่อให้ผู้วานนายหน้าได้ทำสัญญากับบุคคลอื่น และนายหน้าที่ก็มิใช่ตัวแทนของผู้วานนายหน้าด้วย นายหน้าจึงไม่ควรสอดเรื่องอันมิใช่ธุระตน
คำว่า "สันนิษฐานไว้ก่อน" หมายความว่า สามารถพิสูจน์หักล้างได้ในภายหลัง เช่น นายหน้าอาจนำสืบว่า ที่จริงแล้ว ผู้วานนายหน้ามอบหมายให้ตนทำหน้าที่รับชำระหนี้แทนได้
สิทธิได้รับค่าบำเหน็จ
สิทธิของนายหน้าตามสัญญานายหน้า
ตาม ป.พ.พ. ม. 845 ว. 1 ผู้วานนายหน้าต้องจ่ายค่าบำเหน็จตามจำนวนที่ตกลงไว้ให้แก่นายหน้า เมื่อนายหน้าปฏิบัติตามสัญญานายหน้าจนสำเร็จ กล่าวคือ เมื่อนายหน้าเป็นสื่อให้ผู้วานนายหน้าได้เข้าทำสัญญากับบุคคลอื่นจนสำเร็จแล้ว
ที่ว่า "จนสำเร็จ" มิได้หมายความถึงขนาดที่สัญญาระหว่างผู้วานนายหน้ากับบุคคลอื่นจะเรียบร้อยบริบูรณ์เต็มขั้น เพียงทั้งสองตกลงผูกมัดกันว่าจะทำสัญญา แม้รายละเอียดปลีกย่อยบางเรื่องยังมิได้ตกลงกัน ก็นับได้ว่า นายหน้าบรรลุหน้าที่ของตนแล้ว เรียกค่าบำเหน็จได้ แม้ต่อมาคนทั้งสองนั้นจะไม่มาทำสัญญากันหรือผิดสัญญากันก็ตาม
เมื่อสัญญาที่นายหน้าชี้ช่องให้เกิดนั้นมีเงื่อนไขบังคับก่อน นายหน้ายังเรียกเอาค่าบำเหน็จไม่ได้ จนกว่าเงื่อนไขนั้นจะสำเร็จแล้ว เช่น ก รับเป็นนายหน้าที่ ข กับ ค ซื้อขายกระบือกันตัวหนึ่ง สัญญาซื้อขายระหว่าง ข กับ ค มีเงื่อนไขว่า กรรมสิทธิ์ในกระบือนั้นจะยังไม่โอนกันจนกว่าบุตรของ ค จะสอบเข้ามหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งในประเทศญี่ปุ่นได้ ดังนี้ ก ยังเรียกค่าบำเหน็จนายหน้ามิได้ ตราบที่บุตรของ ข ยังสอบเข้าไม่ได้
หากในการเป็นสื่อกลางของนายหน้า (1) ผู้วานนายหน้ากับบุคคลอื่นตกลงกันไม่ได้ หรือเปลี่ยนใจไม่ผูกนิติสัมพันธ์กันก็ดี, หรือ (2) เมื่อนายหน้าทำหน้าที่ไปด้วยดีแล้ว แต่สุดท้าย ผู้วานนายหน้ากับบุคคลอื่นไม่ทำสัญญากันก็ดี, หรือ (3) นายหน้าทำหน้าที่ไม่เสร็จภายในกำหนดเวลาตามสัญญานายหน้า ถ้าจะได้ตกลงกันไว้ก็ดี ทั้งสามกรณีนี้ นายหน้าไม่มีสิทธิเรียกค่าบำเหน็จเลย เว้นแต่ผู้วานนายหน้าตกลงกับนายหน้าว่า แม้งานไม่สำเร็จ ก็จะจ่ายค่าบำเหน็จให้เต็มจำนวนหรือเป็นจำนวนเท่านั้นเท่านี้
ในบางกรณี มีสัญญาเกิดขึ้นโดยอ้อมจากการชี้ช่องของนายหน้า เช่น ฮ เป็นนายหน้าให้ อ เช่านาผืนหนึ่งกับ ฬ เมื่อ อ กับ ฬ เจรจากันเสร็จแล้ว อ ไม่เห็นด้วยกับราคาที่ ฬ ตั้ง จึงไม่ทำสัญญาเช่าด้วย เผอิญว่า ห มาได้ยินเข้าจึงเข้าเช่านากับ ฬ แทน เช่นนี้แล้ว เมื่อมีคดีขึ้นสู่ศาลไทย ศาลมักพิพากษาให้ ห ต้องจ่ายค่าบำหน็จให้แก่ ฮ เพราะถือได้ว่า ห ได้ช่องทำสัญญามาจาก ฮ
สิทธิได้รับคืนซึ่งค่าใช้จ่าย
ค่าใช้จ่ายที่นายหน้าเสียไปในการทำหน้าที่ จะเรียกจากผู้วานนายหน้าได้ ก็ต่อเมื่อตกลงกันไว้เท่านั้น ตาม ป.พ.พ. ม. 845 ว. 2 ซึ่งหากตกลงกันไว้ และนายหน้าทำหน้าทสำเร็จแล้ว แม้สัญญาที่ตนรับชี้ช่องให้นั้นยังไม่ได้ทำกันขึ้น นายหน้าก็เรียกค่าใช้จ่ายได้ แต่ถ้านายหน้าทำหน้าที่ไม่สำเร็จ เขาต้องแบกรับค่าใช้จ่ายเหล่านี้เอง
การหมดสิทธิได้รับค่าบำเหน็จและค่าใช้จ่าย
เมื่อบุคคลหนึ่งชี้ช่องให้อีกบุคคลหนึ่งได้เข้าทำสัญญาฉบับหนึ่งกับบุคคลที่สาม และยังชี้ช่องให้บุคคลที่สามทำสัญญาอย่างเดียวกันกับบุคคลที่สองนั้นด้วย กล่าวคือ เป็นนายหน้าให้คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายเหมือนกัน โดยหวังเอาค่าบำเหน็จจากทั้งคู่ ดังนี้ กฎหมายก็อนุญาตให้นายหน้าทำได้ ถ้าไม่เป็นที่ขัดขวางต่อประโยชน์ของคู่สัญญาเหล่านั้น
แต่หากการที่นายหน้ารับงานซ้อนเช่นนี้ ส่งผลให้คู่สัญญาต้องเสียหายทั้งสองฝ่ายหรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ซึ่ง ป.พ.พ. ม. 847 ระบุว่า เป็นการที่นายหน้ารับค่าบำเหน็จที่ปรกติแล้วนายหน้าผู้สุจริตไม่รับกัน เช่นนี้ย่อมเป็นการฝ่าฝืนหน้าที่นายหน้าที่ดี และเป็นเหตุให้นายหน้าผู้นั้นหมดสิทธิได้รับทั้งค่าบำเหน็จและค่าใช้จ่ายจากคู่สัญญาฝ่ายที่เสียหายนั้นโดยสิ้นเชิง
เช่น ก ต้องการขายพระเครื่อง จึงติดต่อ ข ให้ช่วยหาคนมาซื้อพระเครื่องตนสักหน่อย, จังหวะเดียวกัน ข ทราบว่า ค กำลังอยากได้พระเครื่องอยู่พอดี จึงเสนอกับ ค ว่า ตนจะหาคนมาขายพระเครื่องให้, และ ข ก็ชี้ช่องให้ ก กับ ค มาทำสัญญาซื้อขายกัน โดยตกลงกันว่า ก จะจ่ายค่าบำเหน็จให้ ข หนึ่งแสนบาท และ ค จะจ่ายค่าบำเหน็จให้ ข เก้าหมื่นบาท, เช่นนี้แล้ว เห็นได้ว่า การที่ ข เป็นนายหน้าควบระหว่าง ก กับ ค ไม่ทำให้ประโยชน์ของ ก และ ค เสียแต่ประการใด กับทั้งไม่ฝ่าฝืนหน้าที่ของนายหน้าที่ดีด้วย, ข จึงมีสิทธิได้รับบำเหน็จจากทั้ง ก และ ค ตามที่ตกลงกันนั้น, ก หรือ ค จะปฏิเสธว่า ข เป็นนายหน้าควบ ไม่จ่ายค่าบำเหน็จให้ มิได้
ความระงับสิ้นลงแห่งสัญญากฎหมายไทยมิได้กำหนดอาการที่สัญญานายหน้าจะระงับสิ้นลงไว้โดยเฉพาะ จึงเป็นไปตามบทบัญญัติทั่วไปอันว่าด้วยความระงับแห่งสัญญา ดังนั้น สัญญานายหน้าย่อมสิ้นสุดลงเมื่อวัตถุประสงค์แห่งสัญญาได้บรรลุแล้ว กล่าวคือ เมื่อนายหน้าได้ทำหน้าที่ของตนจนลุล่วงเรียบร้อยแล้ว
นอกจากนี้ สัญญานายหน้าอาจระงับลง เพราะในสัญญากำหนดไว้ เช่น ให้สัญญาสิ้นสุดลงเมื่อพ้นกำหนดสิบเดือนนับแต่วันทำสัญญา หรือให้สิ้นลงเมื่อนายหน้าทำหน้าที่ไม่สำเร็จภายในกำหนดสิบเดือนนับแต่วันทำสัญญา เป็นต้น หรือเพราะถูกบอกเลิกโดยคู่สัญญาที่มีสิทธิ หรือเพราะนายหน้าและผู้วานนายหน้าตกลงเลิกสัญญากันก็ได้
อายุความ
คดีนายหน้าฟ้องเอาค่าบำเหน็จนี้ กฎหมายไทยไม่ได้กำหนดอายุความไว้เป็นพิเศษ จึงต้องใช้อายุความทั่วไป คือ สิบปี ตาม ป.พ.พ. ม. 193/30เมื่อนายหน้าทำหน้าที่จนลุล่วงแล้ว ย่อมมีสิทธิได้รับค่าบำเหน็จนายหน้าและค่าใช้จ่ายที่ตนเสียไปตามที่ตกลงกับผู้วานนายหน้าไว้ หากผู้วานนายหน้าบิดพลิ้วไม่จ่ายให้ นายหน้ามีทางแก้ไขทางเดียว คือ ฟ้องเป็นคดีต่อศาลเพื่อให้ศาลบังคับให้ผู้วานนายหน้าชำระค่าบำเหน็จและค่าใช้จ่ายบรรดามี
ในประเทศไทยมีปัญหาฟ้องร้องเรื่องนายหน้าบ่อยครั้ง ไผทชิต เอกจริยกร ศาสตราจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า
"เรื่องที่เป็นปัญหามากที่สุดที่เกิดขึ้นในทางปฏิบัติกันเสมอจนมีการฟ้องร้องกันอยู่เนือง ๆ ก็คือ เมื่อนายหน้าได้ชี้ช่องให้คู่สัญญาได้พบได้ทำสัญญากัน นายหน้ามักจะถูกคู่สัญญาบิดพลิ้วไม่ยอมชำระบำเหน็จนายหน้า โดยไปแบทำสัญญากันลับ ๆ ไม่ให้นายหน้าทราบ เพื่อหลีกเลี่ยงการชำระค่านายหน้า และจะได้เอาเงินส่วนที่เป็นบำเหน็จนายหน้าไปเป็นส่วนลดของราคาซื้อขายเพื่อเป็นการประหยัด เพราะเห็นว่านายหน้าไม่ได้ทำอะไรเลย เพียงชี้ช่องเล็ก ๆ น้อย ๆ โดยลืมไปว่าถ้าไม่มีนายหน้าแล้ว สัญญานั้น ๆ ก็คงจะไม่เกิดขึ้น..."
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น