อุทยานแห่งชาติเขาค้อ ชื่อเขาค้อ มีที่มาจาก ป่าบริเวณนี้มีต้นค้อขึ้นอยู่มาก ซึ่งโดยปกติต้นค้อจะขึ้นในพื้นที่ที่มีภูมิอากาศหนาวเย็น ป่าไม้ในแถบนี้เป็นป่าเต็งรังหรือป่าไม้สลัดใบ ป่าสน และป่าดิบ ที่น่าสนใจก็คือ พันธุ์ไม้ตระกูลปาล์ม ลักษณะคล้ายต้นตาล แต่ออกผลเป็นทะลายคล้ายหมาก แม้ปัจจุบันป่าจะถูกถางไปมากก็ตาม แต่ก็ยังมีให้เห็นอยู่บ้าง จุดเด่นของเขาค้อ คือการเที่ยวชมทะเลหมอกในฤดูฝน และฤดูหนาว ซึ่งอยู่บริเวณจุดชมวิวเหนืออ่างเก็บน้ำรัตนัย ใกล้กับสถานที่สำคัญทางราชการหลายแห่ง ในอำเภอเขาค้อ นอกจากจะมีความสวยงามตามธรรมชาติแล้ว ยังเป็นสถานที่สำคัญอย่างยิ่งทางประวัติศาสตร์ของประเทศ เนื่องจากเป็นพื้นที่ ที่ทางราชการ ใช้ในการต่อสู้กับผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ในอดีต ก่อนที่ผกค. จะแพ้พ่าย และสูญหายไปจากประเทศไทย ซึ่งสถานที่สำคัญหลายแห่งบนเขาค้อ ยังปรากฎหลักฐานเหล่านี้อยู่จำนวนมาก สถานที่น่าสนใจบนเขาค้อ ชมทะเลหมอก ทะเลหมอกบนเขาค้อเกิดขึ้นบริเวณเหนืออ่างเก็บน้ำรัตนัย ทำให้สามารถชมวิวทะเลหมอกได้เป็นบริเวณกว้าง จุดหลักของการชมทะเลหมอก คือริมเส้นทางสาย 2196 บริเวณตรงข้ามที่ทำการอำเภอเขาค้อ ซึ่งมีศาลาชมวิว สถานที่ราชการ และจุดกางเต็นท์สำหรับพักแรมของหน่วยงานราชการ และรีสอร์ทเอกชนจำนวนมาก ไว้รองรับนักท่องเที่ยว ทะเลหมอกมักเกิดในฤดูฝน และฤดูหนาว ในวันที่อากาศมีความชื้นสูง หรือวันที่มีอากาศหนาวเย็น ซึ่งปกติสามารถชมทะเลหมอกได้ในวันที่ไม่มีลมแรง ส่วนวันที่มีลมแรง มักไม่มีทะเลหมอก แต่จะได้อากาศเย็นสดชื่นจากสายลมมาแทน วัดพระธาตุผาแก้ว เป็นวัดที่สร้างขึ้นใหม่ และกำลังก่อสร้างเพิ่มเติม ตั้งอยู่ในหมู่บ้านทางแดง ต.แคมป์สน บนเชิงเขาผาซ่อนแก้ว ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นวัดที่มีความสวยงามวิจิตรตระการตา เนื่องจากนำศิลปะหลายแขนงมาผนวกเข้ากับการก่อสร้างในเชิงพระพุทธศาสนา และมีที่ตั้งอยู่บนเชิงเขาสูง ที่สามารถมองเห็นทัศนียภาพรอบด้านได้ 360 องศา กลายเป็นความสวยงามที่รวมเข้าไว้ด้วยกันทั้งในทางธรรม และในทางธรรมชาติ อนุสรณ์สถานผู้เสียสละเขาค้อ อยู่บนยอดเขาสูงสุดของเขาค้อ อยู่เลยฐานอิทธิ ไปอีก 1 กิโลเมตร สร้างขึ้นเพื่อเทิดทูนวีรกรรมของพลเรือน ทหาร ตำรวจ ทหาร ผู้พลีชีพในการสู้รบเพื่อปกป้องพื้นที่ในเขตรอยต่อ 3 จังหวัด คือ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ และเลย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2511-2525 โดยสร้างด้วยหินอ่อนเป็นรูปสามเหลี่ยมสูง 24 เมตร หมายถึง การปฏิบัติการร่วมกันระหว่างพลเรือน ตำรวจ ทหารในปี พ.ศ. 2524 ผนังภายในบันทึกประวัติอนุสรณ์สถานและรายชื่อวีรชนผู้เสียสละไว้ด้วย การเดินทาง ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 2196 ไปจนถึงกิโลเมตรที่ 28 ไปเล็กน้อย มีทางแยกขวาไปเส้นทางหมายเลข 2323 ประมาณ 3 กิโลเมตร รวมระยะทางประมาณ 31 กิโลเมตร
พระบรมธาตุเจดีย์กาญจนาภิเษก ตั้งอยู่บนยอดเขาค้อ ติดกับสำนักสงฆ์วิชมัยปุญญาราม ยอดเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่อัญเชิญมาจากประเทศศรีลังกา เจดีย์แห่งนี้ชาวเพชรบูรณ์สร้างขึ้นเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสทรงครองราชย์ครบ 50 ปี ในวันสำคัญทางศาสนา เช่น วันมาฆบูชาจะมีประชาชนเดินทางมาประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ทำพิธีเวียนเทียนเป็นประจำ
หอสมุดนานาชาติเขาค้อตั้งอยู่ที่เดียวกับเจดีย์พระบรมสารีริกธาตุ เป็นหอสมุดขนาดใหญ่ออกแบบเป็นรูปเพชรคว่ำ สร้างด้วยกระจกสะท้อนแสง ภายในเก็บรักษาหนังสือทั้งภาษาไทยและ ภาษาต่างประเทศ ในเดือนธันวาคมของทุกปีจะมีการจัดงาน “วันนัดพบเอกอัครราชทูต ณ เขาค้อ”โดยเชิญเอกอัครราชทูตจากประเทศต่างๆ มาร่วมชมการแสดงศิลปวัฒนธรรมของจังหวัด
เจดีย์พระบรมสารีริกธาตุเขาค้อ ตั้งอยู่บนยอดเขาติดกับหอสมุดนานาชาติเขาค้อ บ้านกองเนียม หมู่ที่ 4 ตำบลเขาค้อ ที่ยอดเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่อัญเชิญมาจากประเทศศรีลังกา เจดีย์แห่งนี้ชาวเพชรบูรณ์สร้างขึ้นเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวโรกาสทรงครองราชย์ 50 ปี และเป็นที่สักการะบูชาของพุทธศาสนิกชน ในวันสำคัญทางศาสนาจะมีประชาชนและนักท่องเที่ยวร่วมกันประกอบพิธีทางศาสนา เช่น พิธีเวียนเทียน
พระตำหนักเขาค้อ ตั้งอยู่บนเขาย่า พระตำหนักนี้สร้างขึ้นเพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายแด่องค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวโรกาสที่เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรงานโครงการในพระราชดำริและทรงตรวจเยี่ยมราษฎรอำเภอเขาค้อและอำเภอใกล้เคียง เป็นอาคารคอนกรีตครึ่งวงกลมมีทั้งหมด 15 ห้อง รูปทรงแปลกตาไปจากพระตำหนักอื่น สามารถขออนุญาตเจ้าหน้าที่เข้าชมบริเวณโดยรอบพระตำหนักได้ การเดินทาง ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 2196 พอถึงประมาณกิโลเมตรที่ 29 ให้ไปอีกประมาณ 4 กิโลเมตร มีทางแยกด้านซ้ายไปพระตำหนัก ทางขึ้นเขาค้อค่อนข้างสูงชัน รถยนต์ควรมีสภาพดี และกำลังเครื่องยนต์สูง | |
ทิวทัศน์ของเขาค้อมองจากพระตำหนักเขาค้อ
การเดินทาง จากเพชรบูรณ์ไปเขาค้อใช้ทางหลวงหมายเลข 21 (เพชรบูรณ์-หล่มสัก) ถึงสามแยกนางั่ว ระยะทางประมาณ 13 กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายไปตามทางหลวงหมายเลข 2258 อีก 30 กิโลเมตร อีกเส้นทางหนึ่งคือ ไปตามทางหลวงหมายเลข 12 (พิษณุโลก-หล่มสัก) ถึงหลักกิโลเมตรที่ 100 (บ้านแคมป์สน) เลี้ยวซ้ายเข้าเขาค้อตามทางหลวงหมายเลข 2196 อีกประมาณ 33 กิโลเมตร พาหนะที่จะขึ้นเขาค้อ ไม่ควรใช้รถบัสขนาดใหญ่ เพราะมีทางโค้งมาก ถนนค่อนข้างแคบและลาดชัน ควรใช้รถปิคอัพหรือรถตู้สภาพดี ดูรีสอร์ทที่พักตามรายตำบลคลิ๊กที่นี่ ! |
วันพฤหัสบดีที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2555
อุทยานแห่งชาติเขาค้อ
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น