ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
ภาค 1
ข้อความเบื้องต้น
ลักษณะ 1
หลักทั่วไป
มาตรา 1 ในประมวล กฎหมายนี้ ถ้าคำใดมีคำอธิบายไว้แล้ว
ให้ถือตามความหมายดังได้อธิบายไว้ เว้นแต่ข้อความในตัวบทจะขัดกับคำอธิบายนั้น
มาตรา 2 ในประมวลกฎหมายนี้
(1) "ศาล" หมายความถึงศาลยุติธรรมหรือผู้พิพากษา
ซึ่งมีอำนาจทำการอันเกี่ยวกับคดีอาญา
(2) "ผู้ต้องหา" หมายความถึงบุคคลผู้ถูกหาว่าได้กระทำความผิดแต่ยังมิได้ถูกฟ้องต่อศาล
(3) "จำเลย" หมายความถึงบุคคลซึ่งถูกฟ้องยังศาลแล้วโดยข้อหาว่าได้กระทำความผิด
(4) "ผู้เสียหาย" หมายความถึงบุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำผิดฐานใดฐานหนึ่ง
รวมทั้งบุคคลอื่นที่มีอำนาจจัดการแทนได้ดังบัญญัติไว้ในมาตรา 4,5 และ 6
(5) "พนักงานอัยการ" หมายความถึงเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ฟ้องผู้ต้องหาต่อศาล
ทั้งนี้จะเป็นข้าราชการในกรมอัยการหรือเจ้าพนักงานอื่นผู้มีอำนาจเช่นนั้นก็ได้
(6) "พนักงานสอบสวน" หมายความถึงเจ้าพนักงานซึ่งกฎหมายให้มีอำนาจและหน้าที่ทำการสอบสวน
(7) "คำร้องทุกข์" หมายความถึงการที่ผู้เสียหายได้กล่าวหาต่อเจ้าหน้าที่ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้
ว่ามีผู้กระทำความผิดขึ้น จะรู้ตัวผู้กระทำความผิดหรือไม่ก็ตาม
ซึ่งกระทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหาย
และการกล่าวหาเช่นนั้นได้กล่าวโดยมีเจตนาจะให้ผู้กระทำความผิดได้รับโทษ
(8) "คำกล่าวโทษ" หมายความถึงการที่บุคคลอื่นซึ่งไม่ใช่ผู้เสียหายได้กล่าวหาต่อเจ้าหน้าที่ว่ามีบุคคลรู้ตัวหรือไม่ก็ดีได้กระทำความผิดอย่างหนึ่งขึ้น
(9) "หมายอาญา" หมายความถึงหนังสือบงการซึ่งออกตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้
สั่งให้เจ้าหน้าที่ทำการจับ ขัง จำคุก หรือปล่อยผู้ต้องหา จำเลยหรือนักโทษ
หรือให้ทำการค้น รวมทั้งสำเนาหมายเช่นนี้อันได้รับรองว่าถูกต้อง
และคำบอกกล่าวทางโทรเลขว่าได้ออกหมายจับแล้วดั่งที่บัญญัติไว้ในมาตรา 77
(10) "การสืบสวน" หมายความถึงการแสวงหาข้อเท็จจริงและหลักฐานซึ่งพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจได้ปฏิบัติไปตามอำนาจและหน้าที่เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน
และเพื่อที่จะทราบรายละเอียดแห่งความผิด
(11) "การสอบสวน" หมายความถึงการรวบรวมพยานหลักฐานและการดำเนินการทั้งหลายอื่นตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้
ซึ่งพนักงานสอบสวนได้ทำไปเกี่ยวกับความผิดที่กล่าวหา
เพื่อที่จะทราบข้อเท็จจริงหรือพิสูจน์ความผิดและเพื่อจะเอาตัวผู้กระทำผิดมาฟ้องลงโทษ
(12) "การไต่สวนมูลฟ้อง" หมายความถึงกระบวนไต่สวนของศาลเพื่อวินิจฉัยถึงมูลคดีซึ่งจำเลยต้องหา
(13) "ที่รโหฐาน" หมายความถึงที่ต่าง ๆ
ซึ่งมิใช่ที่สาธารณสถานดั่งบัญญัติไว้ในกฎหมายลักษณะอาญา
(14) "โจทก์" หมายความถึงพนักงานอัยการ หรือผู้เสียหายซึ่งฟ้องคดีอาญาต่อศาล
หรือทั้งคู่ในเมื่อพนักงานอัยการและผู้เสียหายเป็นโจทก์ร่วมกัน
(15) "คู่ความ" หมายความถึงโจทก์ฝ่ายหนึ่งและจำเลยอีกฝ่ายหนึ่ง
(16) "พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ" หมายความถึงเจ้าพนักงานซึ่งกฎหมายให้มีอำนาจและหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน
ให้รวมทั้งพัศดี เจ้าพนักงานกรมสรรพสามิต กรมศุลกากร กรมเจ้าท่า
พนักงานตรวจคนเข้าเมือง และเจ้าพนักงานอื่น ๆ
ในเมื่อทำการอันเกี่ยวกับการจับกุมปราบปรามผู้กระทำผิดกฎหมาย
ซึ่งตนมีหน้าที่ต้องจับกุมหรือปราบปราม
(17)(1) "พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่" หมายความถึงเจ้าพนักงานดังต่อไปนี้
(ก) ปลัดกระทรวงมหาดไทย
(ข) รองปลัดกระทรวงมหาดไทย
(ค) ผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย
(ฆ) ผู้ช่วยปลัดกระทรวงมหาดไทย
(ง) อธิบดีกรมการปกครอง
(จ) รองอธิบดีกรมการปกครอง
(ฉ) ผู้อำนวยการกองการสอบสวนและนิติการ
กรมการปกครอง
(ช) หัวหน้าฝ่ายและหัวหน้างานในกองการสอบสวนและนิติการ
กรมการปกครอง
(ซ) ผู้ตรวจราชการกรมการปกครอง
(ฌ) ผู้ว่าราชการจังหวัด
(ญ) รองผู้ว่าราชการจังหวัด
(ฎ) ปลัดจังหวัด
(ฏ) นายอำเภอ
(ฐ) ปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอ
(ฑ) อธิบดีกรมตำรวจ
(ฒ) รองอธิบดีกรมตำรวจ
(ณ) ผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจ
(ด) ผู้บัญชาการตำรวจ
(ต) รองผู้บัญชาการตำรวจ
(ถ) ผู้ช่วยบัญชาการตำรวจ
(ท) ผู้บังคับการตำรวจ
(ธ) รองผู้บังคับการตำรวจ
(น) หัวหน้าตำรวจภูธรจังหวัด
(บ) รองหัวหน้าตำรวจภูธรจังหวัด
(ป) ผู้กำกับการตำรวจ
(ผ) ผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดเขต
(ฝ) รองผู้กำกับการตำรวจ
(พ) รองผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดเขต
(ฟ) สารวัตรใหญ่ตำรวจ
(ภ) สารวัตรตำรวจ
(ม) ผู้บังคับกองตำรวจ
(ย) หัวหน้าสถานีตำรวจซึ่งมียศตั้งแต่ชั้นนายร้อยตำรวจตรีหรือ
เทียบเท่านายร้อยตำรวจตรีขึ้นไป
(ร) หัวหน้ากิ่งสถานีตำรวจซึ่งมียศตั้งแต่ชั้นนายร้อยตำรวจตรีหรือเทียบเท่านายร้อยตำรวจตรีขึ้นไป
ทั้งนี้ หมายความรวมถึงผู้รักษาการแทนเจ้าพนักงานดังกล่าวแล้ว
แต่ผู้รักษาการแทนเจ้าพนักงานใน (ม) (ย) และ (ร) ต้องมียศตั้งแต่ชั้นนายร้อยตำรวจตรีหรือเทียบเท่านายร้อยตำรวจตรีขึ้นไปด้วย
(18) "สิ่งของ" หมายความถึงสังหาริมทรัพย์ใด
ซึ่งอาจใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีอาญาได้ ให้รวมทั้งจดหมาย
โทรเลขและเอกสารอย่างอื่น ๆ
(19) "ถ้อยคำสำนวน" หมายความถึงหนังสือใดที่ศาลจดเป็นหลักฐานแห่งรายละเอียดทั้งหลายในการดำเนินคดีอาญาในศาลนั้น
(20) "บันทึก" หมายความถึงหนังสือใดที่พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจจดไว้เป็นหลักฐานในการสอบสวนความผิดอาญา
รวมทั้งบันทึกคำร้องทุกข์และคำกล่าวโทษด้วย
(21) "ควบคุม" หมายถึงการควบคุมหรือกักขังผู้ถูกจับโดยพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจในระหว่างสืบสวนและสอบสวน
(22) "ขัง" หมายความถึงการกักขังจำเลยหรือผู้ต้องหาโดยศาล
มาตรา 3 บุคคลดังระบุไว้ในมาตรา
4,5 และ 6 มีอำนาจจัดการต่อไปนี้แทนผู้เสียหายตามเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้น
ๆ
(1) ร้องทุกข์
(2) เป็นโจทก์ฟ้องคดีอาญา
หรือเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ
(3) เป็นโจทก์ฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา
(4) ถอนฟ้องคดีอาญาหรือคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา
(5) ยอมความในคดีความผิดส่วนตัว
มาตรา 4 ในคดีอาญาซึ่งผู้เสียหายเป็นหญิงมีสามี
หญิงนั้นมีสิทธิฟ้องคดีได้เอง โดยมิต้องได้รับอนุญาตของสามีก่อน
ภายใต้บังคับแห่งมาตรา 5(2) สามีมีสิทธิฟ้องคดีอาญาแทนภริยาได้
ต่อเมื่อได้รับอนุญาตโดยชัดแจ้งจากภริยา
มาตรา 5 บุคคลเหล่านี้จัดการแทนผู้เสียหายได้
(1) ผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้อนุบาล
เฉพาะแต่ในความผิดซึ่งได้กระทำต่อผู้เยาว์ หรือผู้ไร้ความสามารถซึ่งอยู่ในความดูแล
(2) ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน
สามีหรือภริยา
เฉพาะแต่ในความผิดอาญาซึ่งผู้เสียหายถูกทำร้ายถึงตายหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถจะจัดการเองได้
(3) ผู้จัดการหรือผู้แทนอื่น ๆ
ของนิติบุคคล เฉพาะความผิดซึ่งกระทำลงแก่นิติบุคคลนั้น
มาตรา 6 ในคดีอาญาซึ่งผู้เสียหายเป็นผู้เยาว์ไม่มีผู้แทนโดยชอบธรรม
หรือเป็นผู้วิกลจริตหรือคนไร้ความสามารถไม่มีผู้อนุบาล
หรือซึ่งผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้อนุบาลไม่สามารถจะทำการตามหน้าที่โดยเหตุหนึ่งเหตุใด
รวมทั้งมีผลประโยชน์ขัดกันกับผู้เยาว์หรือคนไร้ความสามารถนั้น ๆ ญาติของผู้นั้น
หรือผู้มีประโยชน์เกี่ยวข้องอาจร้องต่อศาลขอให้ตั้งเขาเป็นผู้แทนเฉพาะคดีได้
เมื่อได้ไต่สวนแล้วให้ศาลตั้งผู้ร้องหรือบุคคลอื่น
ซึ่งยินยอมตามที่เห็นสมควรเป็นผู้แทนเฉพาะคดี
เมื่อไม่มีบุคคลใดเป็นผู้แทนให้ศาลตั้งพนักงานฝ่ายปกครองเป็นผู้แทน
ห้ามมิให้เรียกค่าธรรมเนียมในเรื่องขอตั้งเป็นผู้แทนเฉพาะคดี
มาตรา 7 ในการสอบสวน
ไต่สวนมูลฟ้องหรือพิจารณาคดีที่นิติบุคคลเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลย
ให้ออกหมายเรียกผู้จัดการหรือผู้แทนอื่น ๆ ของนิติบุคคลนั้น
ให้ไปยังพนักงานสอบสวนหรือศาล แล้วแต่กรณี
ถ้าผู้จัดการหรือผู้แทนของนิติบุคคลนั้นไม่ปฏิบัติตามหมายเรียกจะออกหมายจับผู้นั้นมาก็ได้
แต่ห้ามมิให้ใช้บทบัญญัติว่าด้วยปล่อยชั่วคราว ขัง
หรือจำคุกแก่ผู้จัดการหรือผู้แทนนิติบุคคล
ในคดีที่นิติบุคคล นั้นเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลย
มาตรา 7 ทวิ(1) ผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหาที่ถูกควบคุมหรือขัง มีสิทธิดังต่อไปนี้
(1) พบและปรึกษาผู้ที่จะเป็นทนายสองต่อสอง
(2) ได้รับการเยี่ยมตามสมควร
(3) ได้รับการรักษาพยาบาลโดยเร็วเมื่อเกิดการเจ็บป่วย
ให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจซึ่งรับมอบตัวผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหามีหน้าที่แจ้งให้ผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหานั้นทราบถึงสิทธิตามวรรคหนึ่ง
มาตรา 8 นับแต่เวลาที่ยื่นฟ้องแล้ว
จำเลยมีสิทธิดังต่อไปนี้
(1) แต่งทนายแก้ต่างในชั้นไต่สวนมูลฟ้องหรือพิจารณาในศาลชั้นต้นตลอดจนชั้นศาลอุทธรณ์และศาลฎีกา
(2) พูดจากับทนายหรือผู้ที่จะเป็นทนายสองต่อสอง
(3) ตรวจดูสำนวนการไต่สวนมูลฟ้องหรือพิจารณาของศาล
และคัดสำเนาหรือขอสำเนาที่รับรองว่าถูกต้องโดยเสียค่าธรรมเนียม
(4) ตรวจดู สิ่งที่ยื่นเป็นพยานหลักฐาน
และคัดสำเนาหรือถ่ายรูปสิ่งนั้น ๆ
ถ้าจำเลยมีทนาย ๆ นั้นย่อมมีสิทธิทำนองเดียวกับจำเลยดั่งกล่าวมาแล้วนั้นด้วย
มาตรา 9 บันทึกต้องระบุสถานที่
วันเดือนปีที่ทำ นาม และตำแหน่งของเจ้าพนักงานผู้ทำ
เมื่อเจ้าพนักงานทำบันทึกโดยรับคำสั่งจากศาลหรือโดยคำสั่งหรือคำขอของเจ้าพนักงานอื่น
ให้เจ้าพนักงานนั้นกล่าวไว้ด้วยว่าได้รับคำสั่งหรือคำขอเช่นนั้น
และแสดงด้วยว่าได้ทำไปอย่างใด
ให้เจ้าพนักงานผู้ทำบันทึกลงลายมือชื่อของตนในบันทึกนั้น
มาตรา 10 ถ้อยคำสำนวนต้องระบุชื่อศาล
สถานที่ และวันเดือนปีที่จด ถ้าศาลจดถ้อยคำสำนวนตามคำสั่งหรือประเด็นของศาลอื่น
ให้กล่าวเช่นนั้นและแสดงด้วยว่าได้ทำไปอย่างใด
ผู้พิพากษาที่จดถ้อยคำสำนวนต้องลงลายมือชื่อของตนในถ้อยคำสำนวนนั้น
มาตรา 11 บันทึกหรือถ้อยคำสำนวนนั้นให้เจ้าพนักงานหรือศาลอ่านให้ผู้ให้ถ้อยคำฟัง
ถ้ามีข้อความแก้ไข ทักท้วง หรือเพิ่มเติม
ให้แก้ให้ถูกต้องหรือมิฉะนั้นก็ให้บันทึกไว้ และให้ผู้ให้ถ้อยคำลงลายมือชื่อรับรองว่าถูกต้องแล้ว
ถ้าบุคคลที่ต้องลงลายมือชื่อในบันทึกหรือถ้อยคำสำนวนไม่สามารถหรือไม่ยอมลง
ให้บันทึกหรือรายงานเหตุนั้นไว้
มาตรา 12 เอกสารซึ่งศาลหรือเจ้าพนักงานเป็นผู้ทำคำร้องทุกข์คำกล่าวโทษ
คำให้การจำเลยหรือคำร้องซึ่งยื่นต่อเจ้าพนักงานหรือศาลจักต้องเขียนด้วยน้ำหมึกหรือพิมพ์ดีดหรือพิมพ์
ถ้ามีผิดที่ใดห้ามมิให้ลบออกให้เพียงแต่ขีดฆ่าคำผิดนั้นแล้วเขียนใหม่ ผู้พิพากษา
เจ้าพนักงานหรือบุคคลผู้แก้ไขเช่นนั้นต้องลงนามย่อรับรองไว้ที่ข้างกระดาษ
ถ้อยคำตกเติมในเอกสารดังบรรยายในมาตรานี้ต้องลงนามย่อของผู้พิพากษา
เจ้าพนักงานหรือบุคคลผู้ซึ่งตกเติมนั้นกำกับไว้
มาตรา 13 การสอบสวน
ไต่สวนมูลฟ้องหรือพิจารณา ให้ใช้ภาษาไทย
แต่ถ้ามีการจำเป็นต้องแปลภาษาไทยเป็นภาษาต่างประเทศ หรือภาษาต่างประเทศเป็นภาษาไทย
ก็ให้ใช้ล่ามแปล
เมื่อมีล่ามแปลคำให้การ คำพยานหรืออื่น ๆ
ล่ามต้องแปลให้ถูกต้องล่ามต้องสาบานหรือปฏิญาณตนว่าจะทำหน้าที่โดยสุจริตใจ
จะไม่เพิ่มเติมหรือตัดทอนสิ่งที่แปล
ให้ล่ามลงลายมือชื่อในคำแปลนั้น
ในกรณีที่ผู้เสียหาย ผู้ต้องหา จำเลย
หรือพยานไม่สามารถพูดหรือเข้าใจภาษาไทยได้และไม่มีล่าม ให้พนักงานสอบสวน
พนักงานอัยการ หรือศาลจังหวัดหาล่ามให้โดยมิชักช้า
(1)ให้พนักงานสอบสวน
พนักงานอัยการ
หรือศาลสั่งจ่ายค่าป่วยการแก่ล่ามที่จัดหาให้ตามมาตรานี้ตามระเบียบที่กระทรวงมหาดไทย
สำนักงานอัยการสูงสุด หรือกระทรวงยุติธรรม แล้วแต่กรณี
กำหนดโดยได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงการคลัง
มาตรา 13 ทวิ(2) ในกรณีที่ผู้เสียหาย ผู้ต้องหา จำเลย
หรือพยานไม่สามารถพูดหรือได้ยินหรือสื่อความหมายได้และไม่มีล่ามภาษามือ
ให้พนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ หรือศาลจัดหาล่ามภาษามือให้ หรือจัดถาม
ตอบหรือสื่อความหมายโดยวิธีอื่นที่เห็นสมควร
ให้พนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ หรือศาลสั่งจ่ายค่าป่วยการแก่ล่ามภาษามือที่จัดหาให้ตามมาตรานี้
ตามระเบียบที่กระทรวงมหาดไทย สำนักงานอัยการสูงสุด หรือกระทรวงยุติธรรม
แล้วแต่กรณี กำหนดโดยได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงการคลัง
มาตรา 14 ในระหว่างทำการสอบสวน
ไต่สวนมูลฟ้องหรือพิจารณาถ้ามีเหตุควรเชื่อว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นผู้วิกลจริตและไม่สามารถต่อสู้คดีได้
ให้พนักงานสอบสวนหรือศาลแล้วแต่กรณี
สั่งให้พนักงานแพทย์ตรวจผู้นั้นเสร็จแล้วให้เรียกพนักงานแพทย์ผู้นั้นมาให้ถ้อยคำ
หรือให้การว่าตรวจได้ผลประการใด
ในกรณีที่พนักงานสอบสวนหรือศาลเห็นว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นผู้วิกลจริตและไม่สามารถต่อสู้คดีได้
ให้งดการสอบสวน
ไต่สวนมูลฟ้องหรือพิจารณาไว้จนกว่าผู้นั้นหายวิกลจริตหรือสามารถจะต่อสู้คดีได้
และให้มีอำนาจส่งตัวผู้นั้นไปยังโรงพยาบาลโรคจิตหรือมอบให้แก่ผู้อนุบาล
ข้าหลวงประจำจังหวัดหรือผู้อื่นที่เต็มใจรับไปดูแลรักษาก็ได้ตามแต่จะเห็นสมควร
กรณีที่ศาลงดการไต่สวนมูลฟ้องหรือพิจารณาดังบัญญัติไว้ในวรรคก่อนศาลจะสั่งจำหน่ายคดีเสียชั่วคราวก็ได้
มาตรา 15 วิธีพิจารณาข้อใดซึ่งประมวลกฎหมายนี้มิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ
ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับเท่าที่พอจะใช้บังคับได้
ลักษณะ 2
อำนาจพนักงานสอบสวนและศาล
หมวด 1
หลักทั่วไป
มาตรา 16 อำนาจศาล
อำนาจผู้พิพากษา อำนาจพนักงานอัยการและอำนาจพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ
ในการที่จะปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้
ต้องเป็นไปตามกฎหมายและข้อบังคับทั้งหลายอันว่าด้วยการจัดตั้งศาลยุติธรรม
และระบุอำนาจและหน้าที่ของผู้พิพากษา
หรือซึ่งว่าด้วยอำนาจและหน้าที่ของพนักงานอัยการหรือพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจนั้น
ๆ
หมวด 2
อำนาจสืบสวนและสอบสวน
มาตรา 17 พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจมีอำนาจทำการสืบสวนคดีอาญาได้
มาตรา 18(1) ในจังหวัดอื่นนอกจากจังหวัดพระนครและจังหวัดธนบุรีพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่
ปลัดอำเภอ
และข้าราชการตำรวจซึ่งมียศตั้งแต่ชั้นนายร้อยตำรวจตรีหรือเทียบเท่านายร้อยตำรวจตรีขึ้นไปมีอำนาจสอบสวนความผิดอาญาซึ่งได้เกิด หรืออ้าง หรือเชื่อว่าได้เกิดภายในเขตอำนาจของตน
หรือผู้ต้องหามีที่อยู่ หรือถูกจับภายในเขตอำนาจของตนได้
สำหรับในจังหวัดพระนครและจังหวัดธนบุรี
ให้ข้าราชการตำรวจซึ่งมียศตั้งแต่ชั้นนายร้อยตำรวจตรีหรือเทียบเท่านายร้อยตำรวจตรีขึ้นไป
มีอำนาจสอบสวนความผิดอาญาซึ่งได้เกิด หรืออ้าง หรือเชื่อว่าได้เกิดภายในเขตอำนาจของตน
หรือผู้ต้องหามีที่อยู่ หรือถูกจับภายในเขตอำนาจของตนได้
ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติในมาตรา 19 มาตรา 20 และมาตรา
21 ความผิดอาญาได้เกิดในเขตอำนาจพนักงานสอบสวนคนใด
โดยปกติให้เป็นหน้าที่พนักงานสอบสวนผู้นั้นเป็นผู้รับผิดชอบในการสอบสวนความผิดนั้น
ๆ เพื่อดำเนินคดี เว้นแต่เมื่อมีเหตุจำเป็นหรือเพื่อความสะดวก
จึงให้พนักงานสอบสวนแห่งท้องที่ที่ผู้ต้องหามีที่อยู่หรือถูกจับ
เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการสอบสวน
ในเขตท้องที่ใดมีพนักงานสอบสวนหลายคน
การดำเนินการสอบสวนให้อยู่ในความรับผิดชอบของพนักงานสอบสวนผู้เป็นหัวหน้าในท้องที่นั้น
หรือผู้รักษาการแทน
มาตรา 19 ในกรณีดังต่อไปนี้
(1) เป็นการไม่แน่ว่าการกระทำผิดอาญาได้กระทำในท้องที่ใดในระหว่างหลายท้องที่
(2) เมื่อความผิดส่วนหนึ่งกระทำในท้องที่หนึ่ง
แต่อีกส่วนหนึ่งในอีกท้องที่หนึ่ง
(3) เมื่อความผิดนั้นเป็นความผิดต่อเนื่องและกระทำต่อเนื่องกันในท้องที่ต่าง
ๆ เกินกว่าท้องที่หนึ่งขึ้นไป
(4) เมื่อเป็นความผิดซึ่งมีหลายกรรม
กระทำลงในท้องที่ต่าง ๆ กัน
(5) เมื่อความผิดเกิดขึ้นขณะผู้ต้องหากำลังเดินทาง
(6) เมื่อความผิดเกิดขึ้นขณะผู้เสียหายกำลังเดินทาง
พนักงานสอบสวนในท้องที่หนึ่งท้องที่ใดที่เกี่ยวข้องมีอำนาจสอบสวนได้
ในกรณีข้างต้นพนักงานสอบสวนต่อไปนี้ เป็นผู้รับผิดชอบในการสอบสวน
(ก) ถ้าจับผู้ต้องหาได้แล้ว
คือพนักงานสอบสวนซึ่งท้องที่ที่จับได้อยู่ในเขตอำนาจ
(ข) ถ้าจับผู้ต้องหายังไม่ได้
คือพนักงานสอบสวนซึ่งท้องที่ที่พบการกระทำผิดก่อนอยู่ในเขตอำนาจ
มาตรา 20 ถ้าความผิดซึ่งมีโทษตามกฎหมายไทยได้กระทำลงนอกราชอาณาจักรไทย
ให้อธิบดีกรมอัยการหรือผู้รักษาการแทนเป็นพนักงานสอบสวนที่รับผิดชอบ
หรือจะมอบหมายหน้าที่นั้นให้พนักงานสอบสวนคนใดก็ได้
ในกรณีจำเป็น พนักงานสอบสวนต่อไปนี้
มีอำนาจสอบสวนในระหว่างรอคำสั่งจากอธิบดีกรมอัยการหรือผู้รักษาการแทน
(1) พนักงานสอบสวน
ซึ่งผู้ต้องหาถูกจับในเขตอำนาจ
(2) พนักงานสอบสวน
ซึ่งรัฐบาลประเทศอื่นหรือบุคคลที่ได้รับความเสียหายได้ร้องฟ้องให้ทำโทษผู้ต้องหา
มาตรา 21 ในกรณีที่ไม่แน่ว่าพนักงานสอบสวนคนใดในจังหวัดเดียวกันควรเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ
ให้ข้าหลวงประจำจังหวัดนั้นมีอำนาจชี้ขาดแต่ในจังหวัดพระนครและธนบุรี
ให้ผู้บังคับบัญชาของพนักงานสอบสวนซึ่งมีตำแหน่งตั้งแต่รองอธิบดีกรมตำรวจขึ้นไปเป็นผู้ชี้ขาด
ในกรณีที่ไม่แน่ว่าพนักงานสอบสวนคนใดในระหว่างหลายจังหวัด
ควรเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ ให้อธิบดีกรมอัยการหรือผู้ทำการแทนเป็นผู้ชี้ขาด
การรอคำชี้ขาดนั้น ไม่เป็นเหตุให้งดการสอบสวน
หมวด 3
อำนาจศาล
มาตรา 22 เมื่อความผิดเกิดขึ้น
อ้างหรือเชื่อว่าได้เกิดขึ้นในเขตอำนาจของศาลใด ให้ชำระที่ศาลนั้น แต่ถ้า
(1) เมื่อจำเลยมีที่อยู่
หรือถูกจับในท้องที่หนึ่งหรือเมื่อเจ้าพนักงานทำการสอบสวนในท้องที่หนึ่งนอกเขตของศาลดั่งกล่าวแล้ว
จะชำระที่ศาลซึ่งท้องที่นั้น ๆ อยู่ในเขตอำนาจก็ได้
(2) เมื่อความผิดเกิดขึ้นนอกราชอาณาจักรไทย
ให้ชำระคดีนั้นที่ศาลอาญา ถ้าการสอบสวนได้กระทำลงในท้องที่หนึ่ง ซึ่งอยู่ในเขตของศาลใดให้ชำระที่ศาลนั้นได้ด้วย
มาตรา 23 เมื่อศาลแต่สองศาลขึ้นไปต่างมีอำนาจชำระคดี
ถ้าได้ยื่นฟ้องคดีนั้นต่อศาลหนึ่งซึ่งตามฟ้องความผิดมิได้เกิดในเขต
โจทก์หรือจำเลยจะร้องขอให้โอนคดีไปชำระที่ศาลอื่นซึ่งความผิดได้เกิดในเขตก็ได้
ถ้าโจทก์ยื่นฟ้องต่อศาลซึ่งความผิดเกิดในเขต
แต่ต่อมาความปรากฏแก่โจทก์ว่าการพิจารณาคดีจะสะดวกยิ่งขึ้นถ้าให้อีกศาลหนึ่งซึ่งมีอำนาจชำระคดีได้พิจารณาคดีนั้น
โจทก์จะยื่นคำร้องต่อศาลซึ่ง
คดีนั้นอยู่ในระหว่างพิจารณาขอโอนคดีไปยังอีกศาลหนึ่งก็ได้
แม้ว่าจำเลยจะคัดค้านก็ตาม เมื่อศาลเห็นสมควรจะโอนคดีไปหรือยกคำร้องเสียก็ได้
มาตรา 24 เมื่อความผิดหลายเรื่องเกี่ยวพันกันโดยเหตุหนึ่งเหตุใดเป็นต้นว่า
(1) ปรากฏว่าความผิดหลายฐานได้กระทำลงโดยผู้กระทำผิดคนเดียวกัน
หรือผู้กระทำผิดหลายคนเกี่ยวพันกันในการกระทำความผิดฐานหนึ่งหรือหลายฐาน
จะเป็นตัวการ ผู้สมรู้หรือรับของโจรก็ตาม
(2) ปรากฏว่าความผิดหลายฐานได้กระทำลงโดยมีเจตนาอย่างเดียวกัน
หรือโดยผู้กระทำผิดทั้งหลายได้คบคิดกันมาแต่ก่อนแล้ว
(3) ปรากฏว่าความผิดฐานหนึ่งเกิดขึ้นโดยมีเจตนาช่วยผู้กระทำผิดอื่นให้พ้นจากรับโทษในความผิดอย่างอื่นซึ่งเขาได้กระทำไว้
ดังนี้จะฟ้องคดีทุกเรื่อง
หรือฟ้องผู้กระทำความผิดทั้งหมดต่อศาลซึ่งมีอำนาจชำระในฐานความผิดซึ่งมีอัตราโทษสูงกว่าไว้ก็ได้
ถ้าความผิดอันเกี่ยวพันกันมีอัตราโทษอย่างสูงเสมอกัน
ศาลซึ่งมีอำนาจชำระ
ก็คือศาลซึ่งรับฟ้องเรื่องหนึ่งเรื่องใดในความผิดเกี่ยวพันกันนั้นไว้ก่อน
มาตรา 25 ศาลซึ่งรับฟ้องคดีเกี่ยวพันกันไว้จะพิจารณาพิพากษารวมกันไปก็ได้
ถ้าศาลซึ่งรับฟ้องคดีเกี่ยวพันกันไว้
เห็นว่าเป็นการสมควรที่ความผิดฐานหนึ่ง ควรได้ชำระในศาลซึ่งตามปกติมีอำนาจจะชำระ
ถ้าหากว่าคดีนั้นไม่เกี่ยวกับคดีเกี่ยวพันกัน เมื่อศาลเดิมได้ตกลงกับอีกศาลหนึ่งแล้ว
จะสั่งให้ไปฟ้องยังศาลอื่นนั้นก็ได้
มาตรา 26 หากว่าตามลักษณะของความผิด
ฐานะของจำเลยจำนวนจำเลย ความรู้สึกของประชาชนส่วนมากแห่งท้องถิ่นนั้น หรือเหตุผล
อย่างอื่น อาจมีการขัดขวางต่อการไต่สวนมูลฟ้องหรือพิจารณา
หรือน่ากลัวว่าจะเกิดความไม่สงบหรือเหตุร้ายอย่างอื่นขึ้น
เมื่อโจทก์หรือจำเลยยื่นเรื่องราวต่ออธิบดีศาลฎีกาขอให้โอนคดีไปศาลอื่น
ถ้าอธิบดีศาลฎีกาอนุญาตตามคำขอนั้น
ก็ให้สั่งโอนคดีไปยังศาลดั่งที่อธิบดีศาลฎีการะบุไว้
คำสั่งของอธิบดีศาลฎีกาอย่างใด
ย่อมเด็ดขาดเพียงนั้น
มาตรา 27 ผู้พิพากษาในศาลใดซึ่งชำระคดีอาญา
จะถูกตั้งรังเกียจตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งซึ่งบัญญัติไว้ในเรื่องนั้นก็ได้
ลักษณะ 3
การฟ้องคดีอาญาและคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา
--------
หมวด 1
การฟ้องคดีอาญา
มาตรา 28 บุคคลเหล่านี้มีอำนาจฟ้องคดีอาญาต่อศาล
(1) พนักงานอัยการ
(2) ผู้เสียหาย
มาตรา 29 เมื่อ ผู้เสียหายได้ยื่นฟ้องแล้วตายลง ผู้บุพการี
ผู้สืบสันดาน
สามีหรือภริยาจะดำเนินคดีต่างผู้ตายต่อไปก็ได้
ถ้าผู้เสียหายที่ตายนั้นเป็นผู้เยาว์
ผู้วิกลจริต หรือผู้ไร้ความสามารถซึ่งผู้แทนโดยชอบธรรม ผู้อนุบาล หรือผู้แทนเฉพาะคดีได้ยื่นฟ้องแทนไว้แล้วผู้ฟ้องแทนนั้นจะว่าคดีต่อไปก็ได้
มาตรา 30 คดีอาญาใดซึ่งพนักงานอัยการยื่นฟ้องต่อศาลแล้ว
ผู้เสียหายจะยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในระยะใดระหว่างพิจารณาก่อนศาลชั้นต้นพิพากษาคดีนั้นก็ได้
มาตรา 31 คดีอาญาที่มิใช่ความผิดต่อส่วนตัวซึ่งผู้เสียหายยื่นฟ้องแล้วพนักงานอัยการจะยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในระยะใดก่อนคดีเสร็จเด็ดขาดก็ได้
มาตรา 32 เมื่อพนักงานอัยการและผู้เสียหายเป็นโจทก์ร่วมกันถ้าพนักงานอัยการเห็นว่าผู้เสียหายจะกระทำให้คดีของอัยการเสียหาย
โดยกระทำหรือละเว้นกระทำการใด ๆ ในกระบวนพิจารณา
พนักงานอัยการมีอำนาจร้องต่อศาลให้สั่งผู้เสียหายกระทำหรือละเว้นกระทำการนั้น ๆ
ได้
มาตรา 33 คดีอาญาเรื่องเดียวกันซึ่งทั้งพนักงานอัยการและผู้เสียหายต่างได้ยื่นฟ้องในศาลชั้นต้นศาลเดียวกันหรือต่างศาลกัน
ศาลนั้น ๆ
มีอำนาจสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกัน
เมื่อศาลเห็นชอบโดยพลการหรือโดยโจทก์ยื่นคำร้องในระยะใดก่อนมีคำพิพากษา
แต่ทว่าจะมีคำสั่งเช่นนั้นไม่ได้
นอกจากจะได้รับความยินยอมของศาลอื่นนั้นก่อน
มาตรา 34 คำสั่งไม่ฟ้องคดี
หาตัดสิทธิผู้เสียหายฟ้องคดีโดยตนเองไม่
มาตรา 35 คำร้องขอถอนฟ้องคดีอาญาจะยื่นเวลาใดก่อนมีคำพิพากษาของศาลชั้นต้นก็ได้
ศาลจะมีคำสั่งอนุญาตหรือมิอนุญาตให้ถอนก็ได้ แล้วแต่ศาลจะเห็นสมควรประการใด
ถ้าคำร้องนั้นได้ยื่นในภายหลังเมื่อจำเลยให้การแก้คดีแล้ว
ให้ถามจำเลยว่าจะคัดค้านหรือไม่ แล้วให้ศาลจดคำแถลงของจำเลยไว้
ในกรณีที่จำเลยคัดค้านการถอนฟ้อง ให้ศาลยกคำร้องขอถอนฟ้องนั้นเสีย
คดีความผิดต่อส่วนตัวนั้น
จะถอนฟ้องหรือยอมความในเวลาใดก่อนคดีถึงที่สุดก็ได้ แต่ถ้าจำเลยคัดค้าน
ให้ศาลยกคำร้องขอถอนฟ้องนั้นเสีย
มาตรา 36 คดีอาญาซึ่งได้ถอนฟ้องไปจากศาลแล้ว
จะนำมาฟ้องอีกหาได้ไม่ เว้นแต่จะเข้าอยู่ในข้อยกเว้นต่อไปนี้
(1) ถ้าพนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องคดีอาญาซึ่งไม่ใช่ความผิดต่อส่วนตัวไว้แล้วได้ถอนฟ้องคดีนั้นไป
การถอนนี้ไม่ตัดสิทธิผู้เสียหายที่จะยื่นฟ้องคดีนั้นใหม่
(2) ถ้าพนักงานอัยการถอนคดีซึ่งเป็นความผิดต่อส่วนตัวไป
โดยมิได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากผู้เสียหาย
การถอนนั้นไม่ตัดสิทธิผู้เสียหายที่จะยื่นฟ้องคดีนั้นใหม่
(3) ถ้าผู้เสียหายได้ยื่นฟ้องคดีอาญาไว้แล้วได้ถอนฟ้องคดีนั้นเสียการถอนนี้ไม่ตัดสิทธิพนักงานอัยการที่จะยื่นฟ้องคดีนั้นใหม่
เว้นแต่คดีซึ่งเป็นความผิดต่อส่วนตัว
มาตรา 37(1) คดีอาญาเลิกกันได้
ดังต่อไปนี้
(1) ในคดีมีโทษปรับสถานเดียว
เมื่อผู้กระทำผิดยินยอมเสียค่าปรับในอัตราอย่างสูงสำหรับความผิดนั้นแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ก่อนศาลพิจารณา
(2) ในคดีความผิดที่เป็นลหุโทษหรือความผิดที่มีอัตราโทษไม่สูงกว่าความผิดลหุโทษ
หรือคดีอื่นที่มีโทษปรับสถานเดียวอย่างสูงไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท
หรือความผิดต่อกฎหมายเกี่ยวกับภาษีอากรซึ่งมีโทษปรับอย่างสูงไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท
เมื่อผู้ต้องหาชำระค่าปรับตามที่พนักงานสอบสวนได้เปรียบเทียบแล้ว
(3) ในคดีความผิดที่เป็นลหุโทษหรือความผิดที่มีอัตราโทษไม่สูงกว่าความผิดลหุโทษ
หรือคดีที่มีโทษปรับสถานเดียวอย่างสูงไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทซึ่งเกิดในกรุงเทพมหานคร
เมื่อผู้ต้องหาชำระค่าปรับตามที่นายตำรวจประจำท้องที่ตั้งแต่ตำแหน่งสารวัตรขึ้นไป
หรือนายตำรวจชั้นสัญญาบัตรผู้ทำการในตำแหน่งนั้น ๆ ได้เปรียบเทียบแล้ว
(4) ในคดีซึ่งเปรียบเทียบได้ตามกฎหมายอื่น
เมื่อผู้ต้องหาได้ชำระค่าปรับตามคำเปรียบเทียบของพนักงานเจ้าหน้าที่แล้ว
มาตรา 38 ความผิดตามอนุมาตรา
(2)(3) และ (4) แห่งมาตราก่อน
ถ้าเจ้าพนักงานดั่งกล่าวในมาตรานั้นเห็นว่าผู้ต้องหาไม่ควรได้รับโทษถึงจำคุกให้มีอำนาจเปรียบเทียบดังนี้
(1) ให้กำหนดค่าปรับซึ่งผู้ต้องหาจะพึงชำระ
ถ้าผู้ต้องหาและผู้เสียหายยินยอมตามนั้น
เมื่อผู้ต้องหาได้ชำระเงินค่าปรับตามจำนวนที่เจ้าหน้าที่กำหนดให้ภายในเวลาอันสมควรแต่ไม่เกินสิบห้าวันแล้ว
คดีนั้นเป็นอันเสร็จเด็ดขาด
ถ้าผู้ต้องหาไม่ยินยอมตามที่เปรียบเทียบ
หรือเมื่อยินยอมแล้ว ไม่ชำระเงินค่าปรับภายในเวลากำหนดในวรรคก่อน
ให้ดำเนินคดีต่อไป
(2) ในคดีมีค่าทดแทน
ถ้าผู้เสียหายและผู้ต้องหายินยอมให้เปรียบเทียบให้เจ้าหน้าที่กะจำนวนตามที่เห็นสมควรหรือตามที่คู่ความตกลงกัน
มาตรา 39 สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปดังต่อไปนี้
(1) โดยความตายของผู้กระทำผิด
(2) ในคดีความผิดต่อส่วนตัว เมื่อได้ถอนคำร้องทุกข์ ถอนฟ้อง
หรือยอมความกันโดยถูกต้องตามกฎหมาย
(3) เมื่อคดีเลิกกันตามมาตรา 37
(4) เมื่อมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้อง
(5) เมื่อมีกฎหมายออกใช้ภายหลังการกระทำผิดยกเลิกความผิดเช่นนั้น
(6) เมื่อคดีขาดอายุความ
(7) เมื่อมีกฎหมายยกเว้นโทษ
หมวด 2
การฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา
มาตรา 40 การฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาจะฟ้องต่อศาล
ซึ่งพิจารณาคดีอาญาหรือต่อศาลที่มีอำนาจชำระคดีแพ่งก็ได้
การพิจารณาคดีแพ่งต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
มาตรา 41 ถ้าการพิจารณาคดีแพ่งจักทำให้การพิจารณาคดีอาญาเนิ่นช้าหรือติดขัด
ศาลมีอำนาจสั่งให้แยกคดีแพ่งออกจากคดีอาญา และพิจารณาต่างหากโดยศาลที่มีอำนาจชำระ
มาตรา 42 ในการพิจารณาคดีแพ่ง
ถ้าพยานหลักฐานที่นำสืบแล้วในคดีอาญายังไม่เพียงพอ ศาลจะเรียกพยานหลักฐานมาสืบเพิ่มเติมอีกก็ได้
ในกรณีเช่นนั้นศาลจะพิพากษาคดีอาญาไปทีเดียว
ส่วนคดีแพ่งจะพิพากษาในภายหลังก็ได้
มาตรา 43 คดีลักทรัพย์
วิ่งราว ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ โจรสลัด
กรรโชก ฉ้อโกง ยักยอกหรือรับของโจร
ถ้าผู้เสียหายมีสิทธิที่จะเรียกร้องทรัพย์สินหรือราคาที่เขาสูญเสียไปเนื่องจากการกระทำผิดคืน เมื่อพนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีอาญา
ก็ให้เรียกทรัพย์สินหรือราคาแทนผู้เสียหายด้วย
มาตรา 44 การเรียกทรัพย์สินหรือราคาคืนตามมาตราก่อน
พนักงานอัยการจะขอรวมไปกับคดีอาญาหรือจะยื่นคำร้องในระยะใดระหว่างที่คดีอาญากำลังพิจารณาอยู่ในศาลชั้นต้นก็ได้
คำพิพากษาในส่วนเรียกทรัพย์สินหรือราคาให้รวมเป็นส่วนหนึ่งแห่งคำพิพากษาในคดีอาญา
มาตรา 45 คดีเรื่องใดถึงแม้ว่าได้ฟ้องในทางอาญาแล้ว
ก็ไม่ตัดสิทธิผู้เสียหายที่จะฟ้องในทางแพ่งอีก
มาตรา 46 ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่ง
ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา
มาตรา 47 คำพิพากษาคดีส่วนแพ่งต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายอันว่าด้วยความรับผิดของบุคคลในทางแพ่ง
โดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าจำเลยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิดหรือไม่
ราคาทรัพย์สินที่สั่งให้จำเลยใช้แก่ผู้เสียหาย
ให้ศาลกำหนดตามราคาอันแท้จริง ส่วนจำนวนเงินค่าทดแทนที่ผู้เสียหายจะได้รับนั้น
ให้ศาลกำหนดให้ตามความเสียหายแต่ต้องไม่เกินคำขอ
มาตรา 48 เมื่อศาลพิพากษาให้คืนทรัพย์สิน
แต่ยังไม่ปรากฏตัวเจ้าของ เมื่อใดปรากฏตัวเจ้าของแล้ว
ให้เจ้าหน้าที่ซึ่งรักษาของคืนของนั้นให้แก่เจ้าของไป
ในกรณีที่ปรากฏตัวเจ้าของ
ให้ศาลพิพากษาสั่งให้เจ้าหน้าที่ซึ่งรักษาของคืนของนั้นให้แก่เจ้าของไป
เมื่อมีการโต้แย้งกัน
ให้บุคคลที่อ้างว่าเป็นเจ้าของอันแท้จริงในทรัพย์สินนั้นฟ้องเรียกร้องยังศาลที่มีอำนาจชำระ
มาตรา 49 แม้จะไม่มีฟ้องคดีส่วนแพ่งก็ตาม
เมื่อพิพากษาคดีส่วนอาญา ศาลจะสั่งให้คืนทรัพย์สินของกลางแก่เจ้าของก็ได้
มาตรา 50 ในกรณีที่ศาลสั่งให้คืนทรัพย์สินหรือใช้ราคาแก่ผู้เสียหายตามมาตรา
43 และ 44 ให้ถือว่าผู้เสียหายนั้นเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา
มาตรา 51 ถ้าไม่มีผู้ใดฟ้องทางอาญา
สิทธิของผู้เสียหายที่จะฟ้องทางแพ่งเนื่องจากความผิดนั้นย่อมระงับไปตามกำหนดเวลาดั่งที่กฎหมายลักษณะอาญาบัญญัติไว้ในเรื่องอายุความฟ้องคดีอาญา แม้ถึงว่าผู้เยาว์หรือผู้วิกลจริตในมาตรา 183
แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์จะเป็นผู้ฟ้องหรือได้ฟ้องต่างหากจากคดีอาญาก็ตาม
ถ้าคดีอาญาใดได้ฟ้องต่อศาลแล้ว
แต่คดียังไม่เด็ดขาด
อายุความซึ่งผู้เสียหายมีสิทธิจะฟ้องคดีแพ่งย่อมสะดุดหยุดลงตามมาตรา 79 แห่งกฎหมายลักษณะอาญา
ถ้าโจทก์ได้ฟ้องคดีอาญาและศาลพิพากษาลงโทษจำเลยจนคดีเด็ดขาดแล้วก่อนที่ได้ยื่นฟ้องคดีแพ่ง
สิทธิของผู้เสียหายที่จะฟ้องคดีแพ่งย่อมมีตามกำหนดอายุความในมาตรา 168 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ถ้าโจทก์ได้ฟ้องคดีอาญาและศาลพิพากษายกฟ้องปล่อยจำเลยจนคดีเด็ดขาดแล้วก่อนที่ได้ยื่นฟ้องคดีแพ่ง
สิทธิของผู้เสียหายจะฟ้องคดีแพ่งย่อมมีอายุความตามหลักทั่วไปในเรื่องอายุความแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ลักษณะ 4
หมายเรียกและหมายอาญา
หมวด 1
หมายเรียก
มาตรา 52 การที่จะให้บุคคลใดมาที่พนักงานสอบสวนหรือมาที่พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่หรือมาศาล
เนื่องในการสอบสวน การไต่สวนมูลฟ้อง การพิจารณาคดี
หรือการอย่างอื่นตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ จักต้องมีหมายเรียกของพนักงานสอบสวนหรือพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่หรือของศาล
แล้วแต่กรณี
แต่ในกรณีที่พนักงานสอบสวนหรือพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่ไปทำการสอบสวนด้วยตนเอง
ย่อมมีอำนาจที่จะเรียกผู้ต้องหาหรือพยานมาได้โดยไม่ต้องออกหมายเรียก
มาตรา 53 หมายเรียกต้องทำเป็นหนังสือและมีข้อความดั่งต่อไปนี้
(1) สถานที่ที่ออกหมาย
(2) วันเดือนปีที่ออกหมาย
(3) ชื่อและตำบลที่อยู่ของบุคคลที่ออกหมายเรียกให้มา
(4) เหตุที่ต้องเรียกผู้นั้นมา
(5) สถานที่
วันเดือนปีและเวลาที่จะให้ผู้นั้นไปถึง
(6) ลายมือชื่อและประทับตราของศาล
หรือลายมือชื่อและตำแหน่งเจ้าพนักงานผู้ออกหมาย
มาตรา 54 ในการกำหนดวันและเวลาที่จะให้มาตามหมายเรียกนั้นให้พึง
ระลึกถึงระยะทางใกล้ไกล เพื่อให้ผู้ถูกเรียกมีโอกาสมาถึงตามวันเวลากำหนดในหมาย
มาตรา 55 การส่งหมายเรียกแก่ผู้ต้องหา
จะส่งให้แก่บุคคลผู้อื่นซึ่งมิใช่สามีภริยา
ญาติหรือผู้ปกครองของผู้รับหมายรับแทนนั้นไม่ได้
มาตรา 56 เมื่อบุคคลที่รับหมายเรียกอยู่ต่างท้องที่กับท้องที่ซึ่งออกหมายเป็นหมายศาลก็ให้ส่งไปศาล
เป็นหมายพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจให้ส่งยังพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจที่มีอำนาจออกหมายเรียกซึ่งผู้ถูกเรียกอยู่ในท้องที่
เมื่อศาลหรือพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจได้รับหมายเช่นนั้น แล้ว
ก็ให้สลักหลังหมายแล้วจัดการส่งแก่ผู้รับต่อไป
หมวด 2
หมายอาญา
ส่วนที่ 1
หลักทั่วไป
มาตรา 57 ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติในมาตรา
78,79,8O,92 และ 94 แห่งประมวลกฎหมายนี้
จะจับ ขัง จำคุกหรือค้นในที่รโหฐานหาตัวคนหรือสิ่งของ ต้องมีหมายอาญาสำหรับการนั้น
บุคคลที่ต้องขังหรือจำคุกตามหมายศาล
จะปล่อยไปได้ก็เมื่อมีหมายปล่อยของศาล
มาตรา 58 เจ้าพนักงานและศาลมีอำนาจออกหมายอาญาได้ภายในเขตอำนาจดั่งต่อไปนี้
(1) ถ้าเป็นหมายจับผู้ต้องหาที่มิได้อยู่ในอำนาจศาล
ได้แก่พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่
(2) ถ้าเป็นหมายจับจำเลยหรือผู้ต้องหาที่อยู่ในอำนาจศาล
ได้แก่ศาล
(3) ถ้าเป็นหมายค้น
ได้แก่ศาลหรือพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่
(4) ถ้าเป็นหมายขัง จำคุกหรือปล่อย
ได้แก่ศาล
มาตรา 59 เจ้าพนักงานหรือศาลผู้มีอำนาจออกหมายจับ
หมายค้น หรือหมายขัง จะออกหมายนั้นโดยพลการหรือโดยมีผู้ร้องขอก็ได้
ในกรณีที่มีผู้ร้องขอ
เจ้าพนักงานหรือศาลผู้ออกหมายจะต้องสอบให้ปรากฏเหตุผลสมควรที่จะออกหมายนั้นเสียก่อน
เหตุผลนี้จะได้มาจากคำแจ้งความโดยสาบานตัวหรือจากพฤติการณ์อย่างอื่นก็ได้
มาตรา 60 หมาย จับ ค้น
ขัง จำคุกหรือปล่อยต้องทำเป็นหนังสือและมีข้อความดั่งต่อไปนี้
(1) สถานที่ที่ออกหมาย
(2) วันเดือนปีที่ออกหมาย
(3) เหตุที่ต้องออกหมาย
(4) (ก) ในกรณีออกหมายจับ
ต้องระบุชื่อหรือรูปพรรณของบุคคลที่จะจับ
(ข) ในกรณีออกหมายขัง
จำคุกหรือปล่อย ต้องระบุชื่อบุคคลที่จะถูกขัง จำคุกหรือปล่อย
(ค) ในกรณีออกหมายค้น
ให้ระบุสถานที่ที่จะค้นและชื่อหรือรูปพรรณบุคคล
หรือลักษณะสิ่งของที่ต้องการค้นกำหนดวันเวลาที่จะทำการค้น
และชื่อกับตำแหน่งของเจ้าพนักงานผู้จะทำการค้นนั้น
(5) (ก) ในกรณีออกหมายจับ
หมายขังหรือหมายค้น ให้ระบุความผิด
(ข) ในกรณีออกหมายจำคุก
ให้ระบุความผิดและกำหนดโทษตามคำพิพากษา
(ค) ในกรณีออกหมายขังหรือจำคุก
ให้ระบุสถานที่ซึ่งจะให้ขังหรือจำคุก
(ง) ในกรณีออกหมายปล่อย
ให้ระบุเหตุที่ให้ปล่อย
(6) ลายมือชื่อและประทับตราของศาล หรือลายมือชื่อและตำแหน่งของเจ้าพนักงานผู้ออกหมาย
มาตรา 61 ภายใต้บังคับแห่งมาตรา
97 พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจมีอำนาจและหน้าที่จัดการให้เป็นไปตามหมายอาญา
ซึ่งได้มอบหรือส่งมาให้จัดการภายในอำนาจของเขา
หมายอาญาใดซึ่งศาลได้ออกหรือสลักหลัง จะมอบหรือส่งไปยังพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจซึ่งอยู่ภายในเขตอำนาจของศาลดั่งระบุในหมาย
หรือแก่หัวหน้าพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจประจำจังหวัดหรืออำเภอ
ซึ่งจะให้จัดการให้เป็นไปตามหมายนั้นก็ได้
ในกรณีหลังเจ้าพนักงานผู้ได้รับหมายต้องรับผิดชอบในการจัดการตามหมายนั้น
จะจัดการเองหรือสั่งให้เจ้าพนักงานรองลงไปจัดการให้ก็ได้
หรือจะมอบหรือส่งสำเนาหมายอันรับรองว่าถูกต้องให้แก่พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจคนอื่นซึ่งมีหน้าที่จัดการตามหมายซึ่งตนได้รับนั้นก็ได้
ถ้าหมายนั้นได้มอบหรือส่งให้แก่เจ้าพนักงานตั้งแต่สองนายขึ้นไป
เจ้าพนักงานจะจัดการตามหมายนั้นแยกกันหรือร่วมกันก็ได้
หมายอาญาใดซึ่งพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่เป็นผู้ออกเจ้าพนักงานนั้นจะจัดการตามหมายด้วยตนเองภายในเขตอำนาจหรือจะจัดการให้เป็นไปดั่งบัญญัติไว้ในวรรค
2 และ 3 ก็ได้
มาตรา 62 ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติทั้งหลายในประมวลกฎหมายนี้ซึ่งว่าด้วยการจับและค้น
เจ้าพนักงานผู้จัดการตามหมายนั้นต้องแจ้งข้อความในหมายให้แก่ผู้เกี่ยวข้องทราบ
และถ้ามีคำขอร้อง ให้ส่งหมายนั้นให้เขาตรวจดู
การแจ้งข้อความในหมาย
การส่งหมายให้ตรวจดูและวันเดือนปีที่จัดการเช่นนั้นให้บันทึกไว้ในหมายนั้น
มาตรา 63 เมื่อเจ้าพนักงานได้จัดการตามหมายอาญาแล้ว
ให้บันทึกรายละเอียดในการจัดการนั้น
ถ้าจัดการตามหมายไม่ได้ให้บันทึกพฤติการณ์ไว้แล้วให้ส่งบันทึกนั้นไปยังเจ้าหน้าที่ผู้ออกหมายโดยเร็ว
มาตรา 64 ถ้าบุคคลที่มีชื่อในหมายอาญาถูกจับ
หรือบุคคลหรือสิ่งของที่มีหมายให้ค้นได้ค้นพบแล้ว
ถ้าสามารถจะทำได้
ก็ให้ส่งบุคคลหรือสิ่งของนั้นโดยด่วนไปยังผู้ออกหมายเว้นแต่จะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น
มาตรา 65 ถ้าบุคคลที่ถูกจับตามหมายหลบหนีหรือมีผู้ช่วยให้หนีไปได้เจ้าพนักงานผู้จับมีอำนาจติดตามจับกุมผู้นั้นโดยไม่ต้องมีหมายอีก
ส่วนที่ 2
หมายจับ
มาตรา 66 เหตุที่จะออกหมายจับได้มีดั่งต่อไปนี้
(1) เมื่อผู้ต้องหาซึ่งถูกสงสัยโดยมีเหตุอันควร หรือจำเลยเป็นผู้ไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง
(2) เมื่อความผิดที่ผู้ต้องหาถูกสงสัยโดยมีเหตุอันควรหรือที่จำเลยถูกฟ้องนั้น
มีอัตราโทษอย่างสูงตั้งแต่สามปีขึ้นไป
(3) เมื่อผู้ต้องหาหรือจำเลยซึ่งไม่ได้ถูกควบคุมหรือขังอยู่
ไม่มาตามหมายเรียกหรือตามนัดโดยไม่มีข้อแก้ตัวอันควรก็ดี ได้หนีไปก็ดี
มีเหตุอันควรสงสัยว่าจะหลบหนีหรือจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานโดยทางตรงหรือทางอ้อมก็ดี
(4) เมื่อผู้ต้องหาหรือจำเลย
ซึ่งถูกปล่อยชั่วคราว มิสามารถทำสัญญาประกันให้จำนวนเงินสูงกว่าเดิมหรือหาหลักประกันมาเพิ่มหรือให้ดีกว่าเดิมตามมาตรา
115
มาตรา 67 จะออกหมายจับบุคคลที่ยังไม่รู้จักชื่อก็ได้แต่ต้องบอกรูปพรรณของผู้นั้นให้ละเอียดเท่าที่จะทำได้
มาตรา 68 หมายจับคงใช้ได้อยู่จนกว่าจะจับได้
เว้นแต่ความผิดอาญาตามหมายนั้นขาดอายุความหรือเจ้าพนักงานหรือศาลผู้ออกหมายนั้นได้ถอนหมายคืน
ส่วนที่ 3
หมายค้น
----------------------
มาตรา 69 เหตุที่จะออกหมายค้นได้มีดังต่อไปนี้
(1) เพื่อพบและยึดสิ่งของซึ่งจะเป็นพยานหลักฐานประกอบการสอบสวนไต่สวนมูลฟ้องหรือพิจารณา
(2) เพื่อพบและยึดสิ่งของซึ่งมีไว้เป็นความผิด
หรือได้มาโดยผิดกฎหมาย
หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าได้ใช้หรือตั้งใจจะใช้ในการกระทำความผิด
(3) เพื่อพบและช่วยบุคคลซึ่งได้ถูกหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังโดยมิชอบด้วยกฎหมาย
(4) เพื่อพบบุคคลซึ่งมีหมายให้จับ
(5) เพื่อพบและยึดสิ่งของตามคำพิพากษาหรือตามคำสั่งศาล
ในกรณีที่จะพบหรือจะยึดโดยวิธีอื่นไม่ได้แล้ว
มาตรา 70 หมายค้นซึ่งออกเพื่อพบและจับบุคคลนั้นห้ามมิให้ออก
เว้นแต่จะมีหมายจับบุคคลนั้นด้วย
และเจ้าพนักงานซึ่งจะจัดการตามหมายค้นนั้นต้องมีทั้งหมายค้นและหมายจับ
ส่วนที่ 4
หมายขัง หมายจำคุก หมายปล่อย
--------------------------
มาตรา 71 เมื่อจับผู้ต้องหาหรือจำเลยได้มาแล้ว
ในระยะใดระหว่างสอบสวน ไต่สวนมูลฟ้องหรือพิจารณา
ศาลจะออกหมายขังผู้ต้องหาหรือจำเลยไว้ก็ได้
ในระหว่างสอบสวนพนักงานอัยการหรือพนักงานสอบสวนมีอำนาจยื่นคำร้องขอให้ศาลออกหมายขังตามความในมาตรา
87
ในระหว่างไต่สวนมูลฟ้องหรือพิจารณาศาลจะออกหมายขังโดยพลการหรือโดยโจทก์ยื่นคำร้องก็ได้
หมายขังคงใช้ได้อยู่จนกว่าศาลจะได้เพิกถอน
โดยออกหมายปล่อยหรือออกหมายจำคุกแทน
มาตรา 72 หมายปล่อยผู้ต้องหาหรือจำเลยซึ่งต้องขังอยู่ตามหมายศาลให้ออกในกรณีต่อไปนี้
(1) เมื่อศาลสั่งปล่อยชั่วคราว
(2) เมื่อพนักงานอัยการหรือพนักงานสอบสวนขอให้ศาลปล่อย
โดยเห็นว่าไม่จำเป็นต้องขังไว้ระหว่างสอบสวน
(3) เมื่อพนักงานอัยการร้องต่อศาลว่าได้ยุติการสอบสวนแล้ว
โดยคำสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหา
(4) เมื่อพนักงานอัยการไม่ฟ้องผู้ต้องหาในเวลาที่ศาลกำหนด
(5) เมื่อศาลไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่าคดีไม่มีมูลและสั่งให้ยกฟ้องเว้นแต่เมื่อโจทก์ร้องขอและศาลเห็นสมควรให้ขังจำเลยไว้ระหว่างอุทธรณ์ฎีกา
(6) เมื่อโจทก์ถอนฟ้องหรือมีการยอมความในคดีความผิดต่อส่วนตัวหรือเมื่อศาลพิจารณาแล้วพิพากษาหรือมีคำสั่งให้ยกฟ้อง
เว้นแต่ศาลเห็นสมควรให้ขังจำเลยไว้ระหว่างอุทธรณ์ฎีกา
(7) เมื่อศาลพิพากษาให้ลงโทษจำเลยอย่างอื่นซึ่งไม่ใช่โทษประหารชีวิต
จำคุกหรือให้อยู่ภายในเขตที่อันมีกำหนด
ถ้าโทษอย่างอื่นนั้นเป็นโทษปรับเมื่อจำเลยได้เสียค่าปรับแล้ว หรือศาลให้ปล่อยชั่วคราวโดยมีกำหนดวันเพื่อให้จำเลยหาเงินค่าปรับมาชำระต่อศาล
มาตรา 73 คดีใดอยู่ระหว่างอุทธรณ์ฎีกา
ถ้าจำเลยต้องควบคุมหรือขังมาแล้วเท่ากับหรือเกินกว่ากำหนดจำคุกหรือกำหนดจำคุกแทนตามคำพิพากษาให้ศาลออกหมายปล่อยจำเลย
เว้นแต่จะเห็นสมควรเป็นอย่างอื่นในกรณีที่โจทก์ อุทธรณ์ฎีกาในทำนองขอให้เพิ่มโทษ
มาตรา 74 ภายใต้บังคับแห่งมาตรา 73 และ 185
วรรค 2 เมื่อผู้ใดต้องคำพิพากษาให้จำคุกหรือประหารชีวิตหรือจะต้องจำคุกแทนค่าปรับ
ให้ศาลออกหมายจำคุกผู้นั้นไว้
มาตรา 75 เมื่อผู้ต้องคำพิพากษาให้จำคุกถูกจำครบกำหนดแล้วหรือได้รับพระราชทานอภัยโทษให้ปล่อย
หรือมีคำวินิจฉัยให้ปล่อยตัวไปโดยมีเงื่อนไขหรือมีกฎหมายยกเว้นโทษ
หรือโทษจำคุกนั้นหมดไปโดยเหตุอื่น ให้ศาลออกหมายปล่อยผู้นั้นไป
มาตรา 76 หมายขัง
หมายจำคุก หรือหมายปล่อย
ต้องจัดการตามนั้นโดยพลัน
ลักษณะ 5
จับ ขัง จำคุก ค้น ปล่อยชั่วคราว
-------------------
หมวด 1
จับ ขัง จำคุก
มาตรา 77 หมายจับใช้ได้ทั่วราชอาณาจักร
การจัดการตามหมายจับนั้นจะจัดการตามสำเนาหมายอันรับรองว่าถูกต้องแล้ว
หรือตามโทรเลขแจ้งว่าได้ออกหมายแล้วก็ได้
แต่ในกรณีหลังให้ส่งหมายหรือสำเนาอันรับรองแล้วไปยังเจ้าพนักงานผู้จัดการตามหมายโดยพลัน
มาตรา 78 พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจจะจับผู้ใดโดยไม่มีหมายจับนั้นไม่ได้
เว้นแต่ในกรณีต่อไปนี้
(1) เมื่อบุคคลนั้นได้กระทำความผิดซึ่งหน้าดั่งบัญญัติไว้ในมาตรา
80
(2) เมื่อพบบุคคลนั้นกำลังพยายามกระทำความผิด
หรือพบโดยมีพฤติการณ์อันควรสงสัยว่าผู้นั้นจะกระทำความผิดโดยมีเครื่องมือ
อาวุธหรือวัตถุอย่างอื่นอันสามารถอาจใช้ในการกระทำความผิด
(3) เมื่อมีเหตุอันควรสงสัยว่าผู้นั้นได้กระทำความผิดมาแล้วและจะหลบหนี
(4) เมื่อมีผู้ขอให้จับโดยแจ้งว่าบุคคลนั้นได้กระทำความผิด
และแจ้งด้วยว่าได้ร้องทุกข์ไว้ตามระเบียบแล้ว
เมื่อพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่จับด้วยตนเองไม่ต้องมีหมาย
แต่ต้องเป็นในกรณีที่อาจออกหมายจับได้ หรือจับได้ตามประมวลกฎหมายนี้
มาตรา 79 ราษฎรจะจับผู้อื่นไม่ได้เว้นแต่จะเข้าอยู่ในเกณฑ์แห่งมาตรา
82 หรือเมื่อผู้นั้นกระทำความผิดซึ่งหน้า และความผิดนั้นได้ระบุไว้ในบัญชีท้ายประมวลกฎหมายนี้ด้วย
มาตรา 80 ที่เรียกว่าความผิดซึ่งหน้านั้น
ได้แก่ความผิดซึ่งเห็นกำลังกระทำ
หรือพบในอาการใดซึ่งแทบจะไม่มีความสงสัยเลยว่าเขาได้กระทำผิดมาแล้วสด ๆ
อย่างไรก็ดี
ความผิดอาญาดั่งระบุไว้ในบัญชีท้ายประมวลกฎหมายนี้ให้ถือว่าความผิดนั้นเป็นความผิดซึ่งหน้าในกรณีดั่งนี้
(1) เมื่อบุคคลหนึ่งถูกไล่จับดั่งผู้กระทำโดยมีเสียงร้องเอะอะ
(2) เมื่อพบบุคคลหนึ่งแทบจะทันทีทันใดหลังจากการกระทำผิดในถิ่นแถวใกล้เคียงกับที่เกิดเหตุนั้นและมีสิ่งของที่ได้มาจากการกระทำผิด
หรือมีเครื่องมือ อาวุธหรือวัตถุอย่างอื่นอันสันนิษฐานได้ว่าได้ใช้ในการกระทำผิด
หรือมีร่องรอยพิรุธเห็นประจักษ์ที่เสื้อผ้าหรือเนื้อตัวของผู้นั้น
มาตรา 81 จะมีหมายจับหรือไม่ก็ตาม
ห้ามมิให้จับ
(1) ในที่รโหฐาน
เว้นแต่จะได้ทำตามบทบัญญัติในประมวลกฎหมายนี้อันว่าด้วยการค้นในที่รโหฐาน
(2) ในพระราชวัง
หรือในที่ซึ่งพระมหากษัตริย์ พระมเหษี
หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ประทับหรืออยู่
นอกจากจะได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยก่อน
มาตรา 82 เจ้าพนักงานผู้จัดการตามหมายจับ
จะขอความช่วยเหลือจากบุคคลใกล้เคียงเพื่อจัดการตามหมายนั้นก็ได้ แต่จะบังคับให้ผู้ใดช่วยโดยอาจเกิดอันตรายแก่เขานั้นไม่ได้
มาตรา 83 ในการจับนั้น
เจ้าพนักงานหรือราษฎรซึ่งทำการจับต้องแจ้งแก่ผู้ที่จะถูกจับนั้นว่าเขาต้องถูกจับ
แล้วสั่งให้ผู้ถูกจับไปยังที่ทำการของพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจพร้อมด้วยผู้จับ
แต่ถ้าจำเป็นก็ให้จับตัวไป
ถ้าบุคคลซึ่งจะถูกจับขัดขวางหรือจะขัดขวางการจับ
หรือหลบหนีหรือพยายามจะหลบหนี
ผู้ทำการจับมีอำนาจใช้วิธีหรือความป้องกันทั้งหลายเท่าที่เหมาะแก่พฤติการณ์แห่งเรื่องในการจับผู้นั้น
มาตรา 84 เจ้าพนักงานหรือราษฎรผู้ทำการจับต้องเอาตัวผู้ถูกจับไปยังที่ทำการของพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจโดยทันที
และเมื่อถึงที่นั้นแล้วถ้ามีหมายจับก็ให้เอาออกอ่านให้ผู้ถูกจับฟัง
ทั้งให้แจ้งเหตุที่จับนั้นด้วย
พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจซึ่งมีผู้นำผู้ถูกจับมาส่งนั้นจะควบคุมผู้ถูกจับไว้
หรือปล่อยชั่วคราวก็ได้ เมื่อจับโดยมีหมายให้รายงานต่อไปยังเจ้าหน้าที่ซึ่งออกหมายนั้น
ถ้าเจ้าหน้าที่ซึ่งออกหมายต้องการตัว ก็ให้จัดการส่งผู้ถูกจับไปให้
ถ้าราษฎรเป็นผู้จับให้บันทึกชื่อ อาชีพ
ที่อยู่ของผู้จับ อีกทั้งข้อความและพฤติการณ์แห่งการจับนั้นไว้
แล้วให้ผู้จับลงลายมือชื่อกำกับไว้เป็นสำคัญ
ในกรณีที่จำเป็น เจ้าพนักงานหรือราษฎรที่ทำการจับจะจัดการพยาบาลผู้ถูกจับเสียก่อนนำตัวไปส่งตามมาตรานี้ก็ได้
มาตรา 85 เจ้าพนักงานผู้จับหรือรับตัวผู้ถูกจับไว้ มีอำนาจค้นตัวผู้ต้องหา และยึดสิ่งของต่าง ๆ
ที่อาจใช้เป็นพยานหลักฐานได้
การค้นนั้นจักต้องทำโดยสุภาพ
ถ้าค้นผู้หญิงต้องให้หญิงอื่นเป็นผู้ค้น
สิ่งของใดที่ยึดไว้เจ้าพนักงานมีอำนาจยึดไว้จนกว่าคดีถึงที่สุด
เมื่อเสร็จคดีแล้วก็ให้คืนแก่ผู้ต้องหาหรือแก่ผู้อื่น
ซึ่งมีสิทธิเรียกร้องขอคืนสิ่งของนั้น เว้นแต่ศาลจะสั่งเป็นอย่างอื่น
มาตรา 86 ห้ามมิให้ใช้วิธีควบคุมผู้ถูกจับเกินกว่าที่จำเป็นเพื่อป้องกันมิให้เขาหนีเท่านั้น
มาตรา 87(1) ห้ามมิให้ควบคุมผู้ถูกจับไว้เกินกว่าจำเป็นตามพฤติการณ์แห่งคดี
ในกรณีซึ่งเป็นความผิดลหุโทษ
หรือความผิดที่มีอัตราโทษไม่สูงกว่าความผิดลหุโทษ
จะควบคุมผู้ถูกจับไว้ได้เท่าเวลาที่จะถามคำให้การและที่จะรู้ตัวว่าเป็นใครและที่อยู่ของเขาอยู่ที่ไหนเท่านั้น
(2)ห้ามมิให้ควบคุมผู้ถูกจับไว้เกินกว่าสี่สิบแปดชั่วโมงนับแต่เวลาที่ผู้ถูกจับมาถึงที่ทำการของพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ
แต่มิให้นับเวลาเดินทางตามปกติที่นำตัวผู้ถูกจับมาศาลรวมเข้าในกำหนดเวลาสี่สิบแปดชั่วโมงนั้นด้วย
ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นเพื่อทำการสอบสวน หรือมีเหตุจำเป็นอย่างอื่น
จะยืดเวลาเกินกว่าสี่สิบแปดชั่วโมงก็ได้เท่าเหตุจำเป็น
ทั้งนี้รวมกันแล้วมิให้เกินสามวัน
ถ้าเกิดความจำเป็นที่จะควบคุมผู้ถูกจับไว้เกินกว่ากำหนดเวลาในวรรคก่อนเพื่อให้การสอบสวนเสร็จสิ้น
ให้ส่งผู้ต้องหามาศาล ให้พนักงานอัยการหรือพนักงานสอบสวนยื่นคำร้องต่อศาล
ขอหมายขังผู้ต้องหานั้นไว้ ให้ศาลสอบถามผู้ต้องหาว่า
จะมีข้อคัดค้านประการใดหรือไม่
และศาลอาจเรียกพนักงานอัยการหรือพนักงานสอบสวนมาชี้แจงเหตุจำเป็น
หรืออาจเรียกพยานหลักฐานมาเพื่อประกอบการพิจารณาก็ได้
ในกรณีความผิดอาญาที่ได้กระทำลงมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกินหกเดือนหรือปรับไม่เกินห้าร้อยบาท
หรือทั้งจำทั้งปรับ
ศาลมีอำนาจสั่งขังได้ครั้งเดียว มีกำหนดได้ไม่เกินเจ็ดวัน
ในกรณีความผิดอาญาที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงตั้งแต่สิบปีขึ้นไปจะมีโทษปรับด้วยหรือไม่ก็ตาม
ศาลมีอำนาจสั่งขังหลายครั้งติด ๆ กันได้
แต่ครั้งหนึ่งต้องไม่เกินสิบสองวันและรวมกันทั้งหมดต้องไม่เกินสี่สิบแปดวัน
ในกรณีความผิดอาญาที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงตั้งแต่สิบปีขึ้นไปจะมีโทษปรับด้วยหรือไม่ก็ตาม
ศาลมีอำนาจสั่งขังหลายครั้งติด ๆ กันได้ แต่ครั้งหนึ่งต้องไม่เกินสิบสองวันและรวมกันทั้งหมดต้องไม่เกินแปดสิบสี่วัน
ในกรณีที่ศาลสั่งขังครบสี่สิบแปดวันแล้ว
หากพนักงานอัยการหรือพนักงานสอบสวนยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอขังต่อไปอีกโดยอ้างเหตุจำเป็น
ศาลจะสั่งขังต่อไปได้ก็ต่อเมื่อพนักงานอัยการหรือพนักงานสอบสวนได้แสดงถึงเหตุจำเป็น
และนำพยานหลักฐานมาให้ศาลไต่สวนจนเป็นที่พอใจแก่ศาล
การไต่สวนชั้นนี้ผู้ต้องหาจะแต่งทนายเพื่อแถลงข้อคัดค้าน และซักถามพยานก็ได้
ถ้าพนักงานสอบสวนต้องไปทำการสอบสวนในท้องที่อื่นนอกเขตของศาลซึ่งได้สั่งขังผู้ต้องหาไว้
พนักงานสอบสวนจะยื่นคำร้องขอให้โอนการขังไปยังศาลในท้องที่ที่จะต้องไปทำการสอบสวนนั้นก็ได้
เมื่อศาลที่สั่งขังไว้เห็นเป็นการสมควรก็ให้สั่งโอนไป
มาตรา 88 นับแต่เวลาที่ยื่นฟ้องจำเลยที่ต้องขังตามหมายศาล
ๆ จะขังจำเลยต่อไปหรือปล่อยชั่วคราวก็ได้
มาตรา 89 หมายขังหรือหมายจำคุกต้องจัดการให้เป็นไปตามนั้นในเขตของศาลซึ่งออกหมาย
(1)ในกรณีที่มีเหตุจำเป็น
เมื่อพนักงานสอบสวนร้องขอและศาลได้ไต่สวนแล้วศาลอาจสั่งขังผู้ต้องหาไว้ ณ สถานที่ที่พนักงานสอบสวนร้องขอ
โดยให้อยู่ในความควบคุมของพนักงานสอบสวนตามกำหนดเวลาที่ศาลเห็นสมควร
มาตรา 90 เมื่อมีการอ้างว่าบุคคลใดต้องถูกควบคุมหรือขังโดยผิดกฎหมายหรือถูกจำคุกผิดจากคำพิพากษาของศาล
บุคคลเหล่านี้มีอำนาจยื่นคำร้องต่อศาลขอให้ปล่อย คือ
(1) บุคคลที่ถูกเข้าเช่นนั้น
(2) สามีภริยาหรือญาติของผู้นั้นหรือผู้มีประโยชน์เกี่ยวข้อง
(3) พนักงานอัยการ
(4) ผู้บัญชาการเรือนจำหรือพัศดี
เมื่อได้รับคำร้องดั่งนั้น
ให้ศาลหมายเรียกเจ้าพนักงานหรือบุคคลอื่นซึ่งก่อให้เกิดการควบคุม ขัง หรือจำคุก
และผู้ที่ถูกควบคุม ขัง หรือจำคุกมาพร้อมกัน
ถ้าเป็นที่พอใจศาลว่าการควบคุมหรือการขังนั้นผิดกฎหมายหรือการจำคุกนั้นผิดจากคำพิพากษา
ก็ให้ศาลสั่งปล่อยตัวผู้นั้นไป
หมวด 2
ค้น
มาตรา 91 ให้นำบทบัญญัติแห่งมาตรา
81(2) มาบังคับในเรื่องค้นโดยอนุโลม
มาตรา 92 ห้ามมิให้ค้นในที่รโหฐานโดยไม่มีหมายค้นเว้นแต่พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจเป็นผู้ค้น
และในกรณีต่อไปนี้
(1) เมื่อมีเสียงร้องให้ช่วยมาจากข้างในที่รโหฐาน
(2) เมื่อปรากฏความผิดซึ่งหน้ากำลังกระทำลงในที่รโหฐาน
(3) เมื่อบุคคลที่ได้กระทำความผิดซึ่งหน้า
ขณะที่ถูกไล่จับหนีเข้าไปหรือมีเหตุอันแน่นแฟ้นควรสงสัยว่าได้เข้าไปซุกซ่อนตัวอยู่ในที่รโหฐานนั้น
(4) เมื่อมีความสงสัยตามสมควรว่าสิ่งของที่ได้มาโดยการกระทำผิดได้ซ่อนหรืออยู่ในนั้น
ประกอบทั้งต้องมีเหตุอันควรเชื่อว่าเนื่องจากการเนิ่นช้ากว่าจะเอาหมายค้นมาได้สิ่งของนั้นจะถูกโยกย้ายเสียก่อน
(5) เมื่อที่รโหฐานนั้นผู้จะต้องถูกจับเป็นเจ้าบ้าน
และการจับนั้นมีหมายจับหรือจับตามมาตรา 78
เมื่อพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่ค้นด้วยตนเองไม่ต้องมีหมาย
ค้นก็ได้ แต่ต้องเป็นในกรณีที่อาจออกหมายค้นหรือค้นได้ตามประมวลกฎหมายนี้
มาตรา 93 ห้ามมิให้ทำการค้นบุคคลใดในที่สาธารณสถาน
เว้นแต่พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจเป็นผู้ค้นในเมื่อมีเหตุอันควรสงสัยว่าบุคคลนั้นมีสิ่งของในความครอบครองเพื่อจะใช้ในการกระทำความผิด
หรือซึ่งได้มาโดยการกระทำความผิดหรือซึ่งมีไว้เป็นความผิด
มาตรา 94 ให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจที่ทำการค้นในที่รโหฐาน
สั่งเจ้าของหรือคนอยู่ในนั้นหรือผู้รักษาสถานที่ซึ่งจะค้น
ให้ยอมให้เข้าไปโดยมิหวงห้าม อีกทั้งให้ความสะดวกตามสมควรทุกประการในอันที่จะจัดการตามหมาย
ทั้งนี้ให้พนักงานผู้นั้นแสดงหมาย
หรือถ้าค้นได้โดยไม่ต้องมีหมายก็ให้แสดงนามและตำแหน่ง
ถ้าบุคคลดังกล่าวในวรรคต้นมิยอมให้เข้าไป
เจ้าพนักงานมีอำนาจใช้กำลังเพื่อเข้าไป ในกรณีจำเป็นจะเปิดหรือทำลายประตูบ้าน
ประตูเรือนหน้าต่าง รั้วหรือสิ่งกีดขวางอย่างอื่นทำนองเดียวกันนั้นก็ได้
มาตรา 95 ในกรณีค้นหาสิ่งของที่หาย
ถ้าพอทำได้
จะให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองสิ่งของนั้นหรือผู้แทนของเขาไปกับเจ้าพนักงานในการค้นนั้นด้วยก็ได
้
มาตรา 96 การค้นในที่รโหฐานต้องกระทำระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นและตก
มีข้อยกเว้นดั่งนี้
(1) เมื่อลงมือค้นแต่ในเวลากลางวัน
ถ้ายังไม่เสร็จจะค้นต่อไปในเวลากลางคืนก็ได้
(2) ในกรณีฉุกเฉินอย่างยิ่งหรือซึ่งมีกฎหมายอื่นบัญญัติให้ค้นได้เป็นพิเศษ
จะทำการค้นในเวลากลางคืนก็ได้
(3) การค้นเพื่อจับผู้ดุร้ายหรือผู้ร้ายสำคัญจะทำในเวลากลางคืนก็ได้แต่ต้องมีอนุญาตพิเศษจากอธิบดีกรมตำรวจหรือข้าหลวงประจำจังหวัดเพื่อการค้นในจังหวัดนั้น
ส่วนหัวหน้าในการค้นนั้น
ต้องเป็นนายอำเภอหรือนายตำรวจซึ่งมียศตั้งแต่ชั้นนายร้อยตำรวจตรีขึ้นไป
มาตรา 97 ในกรณีที่ค้นโดยมีหมาย
เจ้าพนักงานผู้มีชื่อในหมายค้นหรือผู้รักษาการแทนเท่านั้น มีอำนาจเป็นหัวหน้าไปจัดการให้เป็นไปตามหมายนั้น
มาตรา 98 การค้นในที่รโหฐานนั้นจะค้นได้แต่เฉพาะเพื่อหาตัวคนหรือสิ่งของที่ต้องการค้นเท่านั้น
แต่มีข้อยกเว้นดั่งนี้
(1) ในกรณีที่ค้นหาสิ่งของโดยไม่จำกัดสิ่ง
เจ้าพนักงานผู้คนมีอำนาจยึดสิ่งของใด ๆ ซึ่งน่าจะใช้เป็นพยานหลักฐานเพื่อเป็นประโยชน์หรือยันผู้ต้องหาหรือจำเลย
(2) เจ้าพนักงานซึ่งทำการค้นมีอำนาจจับบุคคลหรือสิ่งของอื่นในที่ค้นนั้นได้
เมื่อมีหมายอีกต่างหาก หรือในกรณีความผิดซึ่งหน้า
มาตรา 99 ในการค้นนั้น
เจ้าพนักงานต้องพยายามมิให้มีการเสียหายและกระจัดกระจายเท่าที่จะทำได้
มาตรา 100 ถ้ามีเหตุอันควรสงสัยว่าบุคคลซึ่งอยู่ในที่ซึ่งค้นหรือจะถูกค้น
จะขัดขวางถึงกับทำให้การค้นไร้ผล
เจ้าพนักงานผู้ค้นมีอำนาจเอาตัวผู้นั้นควบคุมไว้หรือให้อยู่ในความดูแลของเจ้าพนักงานในขณะที่ทำการค้นเท่าที่จำเป็น
เพื่อมิให้ขัดขวางถึงกับทำให้การค้นนั้นไร้ผล
ถ้ามีเหตุอันควรสงสัยว่าบุคคลนั้นได้เอาสิ่งของที่ต้องการพบซุกซ่อนในร่างกาย
เจ้าพนักงานผู้ค้นมีอำนาจค้นตัวผู้นั้นได้ดั่งบัญญัติไว้ตามมาตรา 85
มาตรา 101 สิ่งของซึ่งยึดได้ในการค้น
ให้ห่อหรือบรรจุหีบห่อตีตราไว้หรือให้ทำเครื่องหมายไว้เป็นสำคัญ
มาตรา
102 การค้นในที่รโหฐานนั้น
ก่อนลงมือค้นให้เจ้าพนักงานผู้ค้นแสดงความบริสุทธิ์เสียก่อน
และเท่าที่สามารถจะทำได้ให้ค้นต่อหน้าผู้ครอบครองสถานที่หรือบุคคลในครอบครัวของผู้นั้น
หรือถ้าหาบุคคลเช่นกล่าวนั้นไม่ได้ก็ให้ค้นต่อหน้าบุคคลอื่นอย่างน้อยสองคนซึ่งเจ้าพนักงานได้ขอร้องมาเป็นพยาน
การค้นที่อยู่หรือสำนักงานของผู้ต้องหาหรือจำเลยซึ่งถูกควบคุมหรือขังอยู่ให้ทำต่อหน้าผู้นั้น
ถ้าผู้นั้นไม่สามารถหรือไม่ติดใจมากำกับจะตั้งผู้แทน หรือให้พยานมากำกับก็ได้
ถ้าผู้แทนหรือพยานไม่มี ให้ค้นต่อหน้าบุคคลในครอบครัวหรือต่อหน้าพยานดั่งกล่าวในวรรคก่อน
สิ่งของใดที่ยึดได้ต้องให้ผู้ครอบครองสถานที่
บุคคลในครอบครัวผู้ต้องหา จำเลย ผู้แทนหรือพยานดูเพื่อให้รับรองว่าถูกต้อง
ถ้าบุคคลเช่นกล่าวนั้นรับรองหรือไม่ยอมรับรองก็ให้บันทึกไว้
มาตรา 103 ให้เจ้าพนักงานผู้ค้นบันทึกรายละเอียดแห่งการค้น
และสิ่งของที่ค้นได้นั้นต้องมีบัญชีรายละเอียดไว้
บันทึกการค้นและบัญชีสิ่งของนั้นให้อ่านให้ผู้ครอบครองสถานที่
บุคคลในครอบครัว ผู้ต้องหา จำเลย ผู้แทนหรือพยานฟัง แล้วแต่กรณี
แล้วให้ผู้นั้นลงลายมือชื่อรับรองไว้
มาตรา 104 เจ้าพนักงานที่ค้นโดยมีหมาย
ต้องรีบส่งบันทึกและบัญชีดั่งกล่าวในมาตราก่อนพร้อมด้วยสิ่งของที่ยึดมา
ถ้าพอจะส่งได้ ไปยังผู้ออกหมายหรือเจ้าพนักงานอื่นตามที่กำหนดไว้ในหมาย
ในกรณีที่ค้นโดยไม่มีหมายโดยเจ้าพนักงานอื่นซึ่งไม่ใช่พนักงานสอบสวนให้ส่งบันทึก
บัญชีและสิ่งของไปยังพนักงานสอบสวนหรือเจ้าหน้าที่ใดซึ่งต้องการสิ่งเหล่านั้น
มาตรา 105 จดหมาย
ไปรษณียบัตร โทรเลข สิ่งพิมพ์หรือเอกสารอื่นซึ่งส่งทางไปรษณีย์และโทรเลข
จากหรือถึงผู้ต้องหาหรือจำเลย
และยังมิได้ส่งถ้าเจ้าหน้าที่ต้องการเพื่อประโยชน์แห่งการสอบสวน ไต่สวนมูลฟ้อง
พิจารณาหรือการกระทำอย่างอื่นตามประมวลกฎหมายนี้ ให้ขอคำสั่งจากศาลถึงเจ้าหน้าที่ไปรษณีย์โทรเลขให้ส่งเอกสารนั้นมา
ถ้าอธิบดีกรมตำรวจหรือข้าหลวงประจำจังหวัดเห็นว่าเอกสารนั้นต้องการใช้เพื่อการดังกล่าวแล้ว
ระหว่างที่ขอคำสั่งต่อศาลมีอำนาจขอให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายไปรษณีย์โทรเลขเก็บเอกสารนั้นไว้ก่อน
บทบัญญัติแห่งมาตรานี้ไม่ใช้ถึงเอกสารโต้ตอบระหว่างผู้ต้องหาหรือจำเลยกับทนายความของผู้นั้น
หมวด 3
ปล่อยชั่วคราว
มาตรา 106(1) คำร้องขอให้ปล่อยผู้ต้องหาหรือจำเลยชั่วคราวโดยไม่ต้องมีประกันหรือมีประกัน
หรือมีประกันและหลักประกัน ไม่ว่าผู้นั้นต้องควบคุมหรือขังตามหมายศาล ย่อมยื่นได้โดยผู้ต้องหา
จำเลย หรือผู้มีประโยชน์เกี่ยวข้องดังนี้
(1) เมื่อผู้ต้องหาถูกควบคุมอยู่และยังมิได้ถูกฟ้องต่อศาล
ให้ยื่นต่อพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการ แล้วแต่กรณี
(2) เมื่อผู้ต้องหาต้องขังตามหมายศาลและยังมิได้ถูกฟ้องต่อศาล
ให้ยื่นต่อศาลนั้น
(3) เมื่อผู้ต้องหาถูกฟ้องแล้ว
ให้ยื่นต่อศาลชั้นต้นที่ชำระคดีนั้น
(4)(2) เมื่อศาลอ่านคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์แล้ว
แม้ยังไม่มีการยื่นอุทธรณ์หรือฎีกา หรือมีการยื่นอุทธรณ์หรือฎีกาแล้วแต่
ยังไม่ได้ส่งสำนวนไปยังศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกา ให้ยื่นต่อศาลชั้นต้นที่ชำระคดีนั้น
ในกรณีที่ศาลชั้นต้นเห็นสมควรให้ปล่อยชั่วคราว
ให้ศาลชั้นต้นสั่งอนุญาตมิฉะนั้นให้รีบส่งคำร้องพร้อมสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาเพื่อสั่ง
แล้วแต่กรณี
(5) เมื่อศาลส่งสำนวนไปยังศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาแล้วจะยื่นต่อศาลชั้นต้นที่ชำระคดีนั้น
หรือจะยื่นต่อศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกา แล้วแต่กรณีก็ได้
ในกรณีที่ยื่นต่อศาลชั้นต้น
ให้ศาลชั้นต้นรีบส่งคำร้องไปยังศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาเพื่อสั่ง แล้วแต่กรณี
มาตรา 107 เมื่อได้รับคำร้องให้ปล่อยชั่วคราว
ให้เจ้าพนักงานหรือศาลรีบสั่งโดยอาศัยหลักเกณฑ์ในหกมาตราต่อไปนี้
มาตรา 108 ในการวินิจฉัยคำร้องให้ปล่อยชั่วคราว
ให้พึงพิจารณาข้อเหล่านี้ประกอบ
(1) ความหนักเบาแห่งข้อหา
(2) พยานหลักฐานที่นำมาสืบแล้วมีเพียงใด
(3) พฤติการณ์ต่าง ๆ แห่งคดีเป็นอย่างไร
(4) เชื่อถือผู้ร้องขอประกันหรือหลักประกันได้เพียงใด
(5) ผู้ต้องหาหรือจำเลยน่าจะหลบหนีหรือไม่
(6) ภัยอันตรายหรือความเสียหายที่จะเกิดจากการปล่อยชั่วคราวมีเพียงใดหรือไม่
(7) ในกรณีที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยต้องขังตามหมายศาล
ถ้ามีคำคัดค้านของพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการหรือโจทก์ แล้วแต่กรณี
ศาลพึงรับประกอบการวินิจฉัยได้
มาตรา 109(1) ในกรณีที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยต้องหาหรือถูกฟ้องในความผิดมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสิบปี
ถ้ามีคำร้องขอให้ปล่อยชั่วคราวในระหว่างสอบสวนหรือระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น
ศาลจะต้องถามพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ หรือโจทก์ว่าจะคัดค้านประการใดหรือไม่
ถ้าไม่อาจถามได้โดยมีเหตุอันควรศาลจะงดการถามเสียก็ได้แต่ต้องบันทึกเหตุนั้นไว้
มาตรา 110 ในคดีมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสามปีขึ้นไป
ผู้ที่ถูกปล่อยชั่วคราวต้องมีประกัน และจะมีหลักประกันด้วยหรือไม่ก็ได้
ในคดีอย่างอื่นจะปล่อยชั่วคราวโดยไม่มีประกันเลย
หรือมีประกันหรือมีประกันและหลักประกันด้วยก็ได้(2)มาตรา 111 เมื่อจะปล่อยชั่วคราวโดยไม่มีประกันเลย
ก่อนที่จะปล่อยไปให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยสาบานหรือปฏิญาณตนว่าจะมาตามนัดหรือหมายเรียก
มาตรา 112 เมื่อจะปล่อยชั่วคราวโดยมีประกัน
หรือมีประกันและหลักประกัน ก่อนปล่อยไปให้ผู้ประกันหรือผู้เป็นหลักประกันลงลายมือชื่อในสัญญาประกันนั้น
ในสัญญาประกันนอกจากข้อความอย่างอื่นอันพึงมี
ต้องมีข้อความดั่งนี้ด้วย
(1) ผู้ถูกปล่อยชั่วคราวหรือผู้ประกัน
แล้วแต่กรณี จะปฏิบัติตามนัดหรือหมายเรียกของเจ้าพนักงานหรือศาล
ซึ่งให้ปล่อยชั่วคราว
(2) เมื่อผิดสัญญาจะใช้เงินจำนวนที่ระบุไว้
มาตรา 113(3) เมื่อพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการสั่งปล่อยชั่วคราวไม่ว่าจะมีประกันหรือมีประกันและหลักประกันหรือไม่
การปล่อยชั่วคราวนั้น
ให้ใช้ได้ระหว่างการสอบสวนหรือจนกว่าผู้ต้องหาถูกศาลสั่งขังระหว่างสอบสวนหรือจนถึงศาลประทับฟ้อง
แต่มิให้เกินสามเดือนนับแต่วันแรกที่มีการปล่อยชั่วคราว
ไม่ว่าเป็นการปล่อยชั่วคราวโดยพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการในกรณีที่มีเหตุจำเป็นทำให้ไม่อาจทำการสอบสวนได้เสร็จภายในกำหนดสามเดือนจะยืดเวลาการปล่อยชั่วคราวให้เกินสามเดือนก็ได้
แต่มิให้เกินหกเดือน
เมื่อการปล่อยชั่วคราวสิ้นสุดลงตามวรรคหนึ่งแล้ว
ถ้ายังมีความจำเป็นที่จะต้องควบคุมผู้ต้องหาไว้ต่อไปให้ส่งผู้ต้องหามาศาล
และให้นำบทบัญญัติมาตรา 87 วรรคสี่ถึงวรรคเก้า มาใช้บังคับ
มาตรา 114 เมื่อจะปล่อยชั่วคราวโดยให้มีประกันและหลักประกันด้วยก่อนปล่อยตัวไป
ให้ผู้ร้องขอประกันจัดหาหลักประกันมาดั่งต้องการ
หลักประกันมี 3 ชนิด คือ
(1) มีเงินสดมาวาง
(2) มีหลักทรัพย์อื่นมาวาง
(3) มีบุคคลมาเป็นหลักประกัน
โดยแสดงหลักทรัพย์
มาตรา 115 โดยความปรากฏต่อมา
หรือเนื่องจากกลฉ้อฉลหรือผิดหลง ปรากฏว่าสัญญาประกันต่ำไปหรือหลักประกันไม่เพียงพอ
เจ้าพนักงานหรือศาลมีอำนาจเรียกผู้ที่เกี่ยวข้องกับสัญญาประกันมาพร้อมกัน
ในกรณีแรกให้เปลี่ยนสัญญาประกันให้จำนวนเงินสูงขึ้น
ในกรณีหลังให้เรียกหลักประกันเพิ่มหรือดีกว่าเดิม
ในกรณีที่ศาลปล่อยชั่วคราว
และคดีขึ้นไปสู่ศาลสูง ๆ มีอำนาจแก้คำสั่งศาลล่างให้จำเลยทำหรือหาประกันเป็นจำนวนเงินสูงขึ้น
หรือถ้าเห็นว่าหลักประกันไม่เพียงพอจะสั่งให้หาหลักประกันเพิ่มหรือดีกว่าเดิมก็ได้
มาตรา 116 การขอถอนสัญญาประกันหรือขอถอนหลักประกัน
ย่อมทำได้เมื่อผู้ทำสัญญามอบตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยคืนต่อเจ้าพนักงานหรือศาล
มาตรา 117 เมื่อผู้ต้องหาหรือจำเลยหนีหรือจะหลบหนี
บุคคลซึ่งทำสัญญาประกันหรือเป็นหลักประกันอาจขอให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจที่ใกล้ที่สุดจับผู้ต้องหาหรือจำเลยนั้น
ถ้ามิสามารถจะขอความช่วยเหลือจากเจ้าพนักงานเช่นนั้นได้ทันท่วงที
ก็ให้มีอำนาจจับผู้ต้องหาหรือจำเลยนั้นได้เอง แล้วส่งไปยังพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจที่ใกล้ที่สุด
และให้พนักงานนั้นรีบจัดส่งผู้ต้องหาหรือจำเลยนั้นไปยังเจ้าพนักงานหรือศาล
โดยคิดค่าพาหนะจากบุคคลนั้น
มาตรา 118 เมื่อคดีถึงที่สุดหรือความรับผิดตามสัญญาประกันหมดไปตามมาตรา
116 หรือโดยเหตุอื่น ให้คืนหลักประกันแก่ผู้ที่ควรรับไป
มาตรา 119(1) ในกรณีผิดสัญญาประกันต่อศาล
ศาลมีอำนาจสั่งบังคับตามสัญญาประกันหรือตามที่ศาลเห็นสมควรโดยมิต้องฟ้อง
เมื่อศาลสั่งประการใดแล้ว
ฝ่ายผู้ถูกบังคับตามสัญญาประกันหรือพนักงานอัยการมีอำนาจอุทธรณ์ได้คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ให้เป็นที่สุด
มาตรา 119 ทวิ(2)
ในกรณีที่ศาลสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวผู้ร้องขอมีสิทธิยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งนั้นได้
ดังต่อไปนี้
(1) คำสั่งของศาลชั้นต้น
ให้อุทธรณ์ไปยังศาลอุทธรณ์
(2) คำสั่งของศาลอุทธรณ์
ให้อุทธรณ์ไปยังศาลฎีกา
ให้ศาลชั้นต้นที่รับคำร้องอุทธรณ์คำสั่งรีบส่งคำร้องดังกล่าวพร้อมด้วยสำนวนความ
หรือสำเนาสำนวนความเท่าที่จำเป็นไปยังศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกา แล้วแต่กรณี
เพื่อพิจารณา และมีคำสั่งโดยเร็ว
คำสั่งของศาลอุทธรณ์ที่ไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว
ยืนตามศาลชั้นต้นให้เป็นที่สุด แต่ทั้งนี้
ไม่ตัดสิทธิที่จะยื่นคำร้องให้ปล่อยชั่วคราวใหม่
ภาค 2
สอบสวน
ลักษณะ 1
หลักทั่วไป
มาตรา 120 ห้ามมิให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีใดต่อศาล
โดยมิได้มีการสอบสวนในความผิดนั้นก่อน
มาตรา 121 พนักงานสอบสวนมีอำนาจสอบสวนคดีอาญาทั้งปวง
แต่ถ้าเป็นคดีความผิดต่อส่วนตัว
ห้ามมิให้ทำการสอบสวนเว้นแต่จะมีคำร้องทุกข์ตามระเบียบ
มาตรา 122 พนักงานสอบสวนจะไม่ทำการสอบสวนในกรณีต่อไปนี้ก็ได้
(1) เมื่อผู้เสียหายขอความช่วยเหลือ
แต่ไม่ยอมร้องทุกข์ตามระเบียบ
(2) เมื่อผู้เสียหายฟ้องคดีเสียเองโดยมิได้ร้องทุกข์ก่อน
(3) เมื่อมีหนังสือกล่าวโทษเป็นบัตรสนเท่ห์
หรือบุคคลที่กล่าวโทษด้วยปากไม่ยอมบอกว่าเขาคือใคร
หรือไม่ยอมลงลายมือชื่อในคำกล่าวโทษหรือบันทึกคำกล่าวโทษ
มาตรา 123 ผู้เสียหายอาจร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนได้
คำร้องทุกข์นั้นต้องปรากฏชื่อและที่อยู่ของผู้ร้องทุกข์
ลักษณะแห่งความผิด พฤติการณ์ต่าง ๆ ที่ความผิดนั้นได้กระทำลง ความเสียหายที่ได้รับและชื่อหรือรูปพรรณของผู้กระทำผิดเท่าที่จะบอกได้
คำร้องทุกข์นี้จะทำเป็นหนังสือหรือร้องด้วยปากก็ได้
ถ้าเป็นหนังสือ ต้องมีวันเดือนปี และลายมือชื่อของผู้ร้องทุกข์ ถ้าร้องด้วยปาก
ให้พนักงานสอบสวนบันทึกไว้ ลงวันเดือนปี และลงลายมือชื่อผู้บันทึกกับผู้ร้องทุกข์ในบันทึกนั้น
มาตรา 124 ผู้เสียหายจะร้องทุกข์ต่อพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ
ซึ่งมีตำแหน่งหน้าที่รองหรือเหนือพนักงานสอบสวน
และเป็นผู้ซึ่งมีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยตามกฎหมายก็ได้
เมื่อมีหนังสือร้องทุกข์ยื่นต่อเจ้าพนักงานเช่นกล่าวแล้ว
ให้รีบจัดการส่งไปยังพนักงานสอบสวน
และจะจดหมายเหตุอะไรไปบ้างเพื่อประโยชน์ของพนักงานสอบสวนก็ได้
เมื่อมีคำร้องทุกข์ด้วยปากให้รีบจัดการให้ผู้เสียหายไปพบกับพนักงานสอบสวนเพื่อจดบันทึกคำร้องทุกข์นั้นดั่งบัญญัติในมาตราก่อน
ในกรณีเร่งร้อนเจ้าพนักงานนั้นจะจดบันทึกเสียเองก็ได้ แต่แล้วให้รีบส่งไปยังพนักงานสอบสวน
และจะจดหมายเหตุอะไรไปบ้างเพื่อประโยชน์ของพนักงานสอบสวนก็ได้
มาตรา 125 เมื่อพนักงานสอบสวน
หรือพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ
ได้กระทำการสืบสวนหรือสอบสวนไปทั้งหมดหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใดตามคำขอร้องให้ช่วยเหลือ
ให้ตกเป็นหน้าที่ของพนักงานนั้นจัดการให้มีคำร้องทุกข์ตามระเบียบ
ตามบทบัญญัติแห่งมาตรา 123 และ 124
มาตรา 126 ผู้ร้องทุกข์จะแก้คำร้องทุกข์ระยะใด
หรือจะถอนคำร้องทุกข์เสียเมื่อใดก็ได้
ในคดีซึ่งมิใช่ความผิดต่อส่วนตัว
การถอนคำร้องทุกข์เช่นนั้นย่อมไม่ตัดอำนาจพนักงานสอบสวนที่จะสอบสวน หรือพนักงานอัยการที่จะฟ้องคดีนั้น
มาตรา 127 ให้นำบทบัญญัติในมาตรา
123 ถึง 126 มาบังคับโดยอนุโลมในเรื่องคำกล่าวโทษ
เจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่รับคำกล่าวโทษจะไม่บันทึกคำกล่าวโทษในกรณีต่อไปนี้ก็ได้
(1) เมื่อผู้กล่าวโทษไม่ยอมแจ้งว่าเขาคือใคร
(2) เมื่อคำกล่าวโทษเป็นบัตรสนเท่ห์
คำกล่าวโทษซึ่งบันทึกแล้วแต่ผู้กล่าวโทษไม่ยอมลงลายมือชื่อเจ้าพนักงานผู้รับคำกล่าวโทษจะไม่จัดการแก่คำกล่าวโทษนั้นก็ได้
มาตรา 128 พนักงานสอบสวนมีอำนาจให้เจ้าพนักงานอื่นทำการแทนดั่งต่อไปนี้
(1) การใดในการสอบสวนอยู่นอกเขตอำนาจของตน
มีอำนาจส่งประเด็นไปให้พนักงานสอบสวน ซึ่งมีอำนาจทำการนั้นจัดการได้
(2) การใดเป็นสิ่งเล็กน้อยในการสอบสวน
ซึ่งอยู่ในเขตอำนาจของตนไม่ว่าทำเองหรือจัดการตามประเด็น
มีอำนาจสั่งให้ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาทำแทนได้
แต่ทั้งนี้เมื่อประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นมิได้เจาะจงให้ทำด้วยตนเอง
มาตรา 129 ให้ทำการสอบสวนรวมทั้งการชันสูตรพลิกศพ
ในกรณีที่ความตายเป็นผลแห่งการกระทำผิดอาญา
ดั่งที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายนี้อันว่าด้วยการชันสูตรพลิกศพ
ถ้าการชันสูตรพลิกศพยังไม่เสร็จ ห้ามมิให้ฟ้องผู้ต้องหายังศาล
ลักษณะ 2
การสอบสวน
หมวด 1
การสอบสวนสามัญ
มาตรา 130 ให้เริ่มการสอบสวนโดยมิชักช้า
จะทำการในที่ใด เวลาใด แล้วแต่จะเห็นสมควร
โดยผู้ต้องหาไม่จำต้องอยู่ด้วย
มาตรา 131 ให้พนักงานสอบสวนรวบรวมหลักฐานทุกชนิด
เท่าที่สามารถจะทำได้ เพื่อประสงค์จะทราบข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ต่าง ๆ อันเกี่ยวกับความผิดที่ถูกกล่าวหา
และเพื่อจะรู้ตัวผู้กระทำผิดและพิสูจน์ให้เห็นความผิด
มาตรา 132 เพื่อประโยชน์แห่งการรวบรวมหลักฐาน
ให้พนักงานสอบสวนมีอำนาจดังต่อไปนี้
(1) ตรวจตัวผู้เสียหายเมื่อผู้นั้นยินยอม
หรือตรวจตัวผู้ต้องหา หรือตรวจสิ่งของหรือที่ทางอันสามารถอาจใช้เป็นพยานหลักฐานได้
ให้รวมทั้งทำภาพถ่าย แผนที่ หรือภาพวาด จำลอง หรือพิมพ์ลายนิ้วมือ
ลายมือหรือลายเท้ากับให้บันทึกรายละเอียดทั้งหลายซึ่งน่าจะกระทำให้คดีแจ่มกระจ่างขึ้น
(2) ค้นเพื่อพบสิ่งของ
ซึ่งมีไว้เป็นความผิด หรือได้มาโดยการกระทำผิด หรือได้ใช้หรือสงสัยว่าได้ใช้ในการกระทำผิด
หรือซึ่งอาจใช้เป็นพยานหลักฐานได้
แต่ต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยค้น
(3) หมายเรียกบุคคลซึ่งครอบครองสิ่งของ
ซึ่งอาจใช้เป็นพยานหลักฐานได้
แต่บุคคลที่ถูกหมายเรียกไม่จำต้องมาเองเมื่อจัดส่งสิ่งของมาตามหมายแล้ว
ให้ถือเสมือนได้ปฏิบัติตามหมาย
(4) ยึดไว้ซึ่งสิ่งของที่ค้นพบหรือส่งมาดั่งกล่าวไว้ในอนุมาตรา
(2) และ (3)
มาตรา 133 พนักงานสอบสวนมีอำนาจออกหมายเรียกผู้เสียหาย
หรือบุคคลใดซึ่งมีเหตุอันควรเชื่อว่าถ้อยคำของเขาอาจเป็นประโยชน์แก่คดี
ให้มาตามเวลาและสถานที่ในหมาย แล้วให้ถามปากคำบุคคลนั้นไว้
การถามปากคำนั้นพนักงานสอบสวนจะให้ผู้ให้ถ้อยคำสาบานหรือปฏิญาณตัวเสียก่อนก็ได้
และต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยพยานบุคคล
ห้ามมิให้พนักงานสอบสวนตักเตือน
พูดให้ท้อใจหรือใช้กลอุบายอื่นเพื่อป้องกันมิให้บุคคลใดให้ถ้อยคำ ซึ่งอยากจะให้ด้วยความเต็มใจ
มาตรา 134 เมื่อผู้ต้องหาถูกเรียก
หรือส่งตัวมา หรือเข้าหาพนักงานสอบสวนเอง
หรือปรากฏว่าผู้ใดซึ่งมาอยู่ต่อหน้าเจ้าพนักงานเป็นผู้ต้องหา ให้ถามชื่อตัว
นามสกุล ชาติ บังคับ บิดามารดา อายุ อาชีพ ที่อยู่ ที่เกิด และแจ้งข้อหาให้ทราบ
และต้องบอกให้ทราบก่อนว่า
ถ้อยคำที่ผู้ต้องหากล่าวนั้นอาจใช้เป็นพยานหลักฐานยันเขาในการพิจารณาได้
เมื่อผู้ต้องหาเต็มใจ ให้การอย่างใดก็ให้จดคำให้การไว้
ถ้าผู้ต้องหาไม่เต็มใจให้การเลย ก็ให้บันทึกไว้
มาตรา 135 ห้ามมิให้พนักงานสอบสวนทำหรือจัดให้ทำการใด
ๆ ซึ่งเป็นการล่อลวง หรือขู่เข็ญ
หรือให้สัญญากับผู้ต้องหาเพื่อจูงใจให้เขาให้การอย่างใด ๆ ในเรื่องที่ต้องหานั้น
มาตรา 136 พนักงานสอบสวนจะจับและควบคุม
หรือจัดการให้จับหรือควบคุมผู้ต้องหาหรือบุคคลใดซึ่งในระหว่างสอบสวนปรากฏว่าเป็นผู้กระทำผิดหรือจะปล่อยชั่วคราวโดยไม่มีประกันเลย
หรือมีประกัน หรือมีประกันและหลักประกันด้วย
หรือปล่อยไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ในเรื่องนั้น ๆ ก็ได้
มาตรา 137 พนักงานสอบสวนขณะทำการอยู่ในบ้านเรือนหรือในสถานที่อื่น
ๆ มีอำนาจสั่งมิให้ผู้ใดออกไปจากที่นั้น ๆ ชั่วเวลาเท่าที่จำเป็น
มาตรา 138 พนักงานสอบสวนมีอำนาจสอบสวนเองหรือส่งประเด็นไปสอบสวนเพื่อทราบความเป็นมาแห่งชีวิตและความประพฤติอันเป็นอาจิณของผู้ต้องหา
แต่ต้องแจ้งให้ผู้ต้องหาทราบข้อความทุกข้อที่ได้มา
มาตรา 139 ให้พนักงานสอบสวนบันทึกการสอบสวนตามหลักทั่วไปในประมวลกฎหมายนี้อันว่าด้วยการสอบสวนและให้เอาบันทึก
เอกสารอื่นซึ่งได้มาอีกทั้งบันทึกเอกสารทั้งหลายซึ่งเจ้าพนักงานอื่นผู้สอบสวนคดีเดียวกันนั้นส่งมารวมเข้าสำนวนไว้
เอกสารที่ยื่นเป็นพยานให้รวมเข้าสำนวน
ถ้าเป็นสิ่งของอย่างอื่นให้ทำบัญชีรายละเอียดรวมเข้าสำนวนไว้
มาตรา 140 เมื่อพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบในการสอบสวน
เห็นว่าการสอบสวนเสร็จแล้ว ให้จัดการอย่างหนึ่งอย่างใดดั่งต่อไปนี้
(1) ถ้าไม่ปรากฏว่าผู้ใดเป็นผู้กระทำความผิดและความผิดนั้นมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกินสามปี
ให้พนักงานสอบสวนงดการสอบสวน และบันทึกเหตุที่งดนั้นไว้
แล้วให้ส่งบันทึกพร้อมกับสำนวนไปยังพนักงานอัยการ
ถ้าอัตราโทษอย่างสูงเกินกว่าสามปี
ให้พนักงานสอบสวนส่งสำนวนไปยังพนักงานอัยการพร้อมทั้งความเห็นที่ควรให้งดการสอบสวน
ถ้าพนักงานอัยการสั่งให้งด
หรือให้ทำการสอบสวนต่อไป ให้พนักงานสอบสวนปฏิบัติตามนั้น
(2) ถ้ารู้ตัวผู้กระทำผิด
ให้ใช้บทบัญญัติในสี่มาตราต่อไปนี้
มาตรา 141 ถ้ารู้ตัวผู้กระทำความผิด
แต่เรียกหรือจับตัวยังไม่ได้เมื่อได้ความตามทางสอบสวนอย่างใด
ให้ทำความเห็นว่าควรสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้องส่งไปพร้อมกับสำนวนยังพนักงานอัยการ
ถ้าพนักงานอัยการเห็นชอบด้วยว่าควรสั่งไม่ฟ้อง
ให้ยุติการสอบสวนโดยสั่งไม่ฟ้อง และให้แจ้งคำสั่งนี้ให้พนักงานสอบสวนทราบ
ถ้าพนักงานอัยการเห็นว่าควรสอบสวนต่อไป
ก็ให้สั่งพนักงานสอบสวนปฏิบัติเช่นนั้น
ถ้าพนักงานอัยการเห็นว่าควรสั่งฟ้อง
ก็ให้จัดการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อให้ได้ตัวผู้ต้องหามา
ถ้าผู้ต้องหาอยู่ต่างประเทศ ให้พนักงานอัยการจัดการเพื่อขอให้ส่งตัวข้ามแดนมา
มาตรา 142 ถ้ารู้ตัวผู้กระทำความผิดและผู้นั้นถูกควบคุม
หรือขังอยู่ หรือปล่อยชั่วคราวหรือเชื่อว่าคงได้ตัวมาเมื่อออกหมายเรียก
ให้พนักงานสอบสวนทำความเห็นตามท้องสำนวนการสอบสวน
ว่าควรสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้องส่งไปยังพนักงานอัยการพร้อมด้วยสำนวน
ในกรณีที่เสนอความเห็นควรสั่งไม่ฟ้อง
ให้ส่งแต่สำนวนพร้อมด้วยความเห็นไปยังพนักงานอัยการ
ส่วนตัวผู้ต้องหาให้พนักงานสอบสวนมีอำนาจปล่อยหรือปล่อยชั่วคราว
ถ้าผู้ต้องหาถูกขังอยู่ ให้ขอเองหรือขอให้พนักงานอัยการขอต่อศาลให้ปล่อย
ในกรณีที่เสนอความเห็นควรสั่งฟ้อง
ให้พนักงานสอบสวนส่งสำนวนพร้อมกับผู้ต้องหาไปยังพนักงานอัยการ
เว้นแต่ผู้ต้องหานั้นถูกขังอยู่แล้ว
แต่ถ้าเป็นความผิด
ซึ่งพนักงานสอบสวนเปรียบเทียบได้
และผู้กระทำความผิดได้ปฏิบัติตามเปรียบเทียบนั้นแล้ว
ให้บันทึกการเปรียบเทียบนั้นไว้ แล้วส่งไปให้พนักงานอัยการพร้อมด้วยสำนวน
มาตรา 143(1) เมื่อได้รับความเห็นและสำนวนจากพนักงานสอบสวนดังกล่าวในมาตราก่อน
ให้พนักงานอัยการปฏิบัติดั่งต่อไปนี้
(1) ในกรณีที่มีความเห็นควรสั่งไม่ฟ้อง
ให้ออกคำสั่งไม่ฟ้อง แต่ถ้าไม่เห็นชอบด้วย
ก็ให้สั่งฟ้องและแจ้งให้พนักงานสอบสวนส่งผู้ต้องหามาเพื่อฟ้องต่อไป
(2) ในกรณีมีความเห็นควรสั่งฟ้อง
ให้ออกคำสั่งฟ้องและฟ้องผู้ต้องหาต่อศาล ถ้าไม่เห็นชอบด้วย ก็ให้สั่งไม่ฟ้อง
ในกรณี หนึ่งกรณีใดข้างต้น พนักงานอัยการมีอำนาจ
(ก) สั่งตามที่เห็นควร
ให้พนักงานสอบสวนดำเนินการสอบสวนเพิ่มเติมหรือส่งพยานคนใดมาให้ซักถามเพื่อสั่งต่อไป
(ข) วินิจฉัยว่าควรปล่อยผู้ต้องหา
ปล่อยชั่วคราว ควบคุมไว้ หรือขอให้ศาลขัง แล้วแต่กรณี
และจัดการหรือสั่งการให้เป็นไปตามนั้น
ในคดีฆาตกรรม
ซึ่งผู้ตายถูกเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ฆ่าตาย
หรือตายในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่
อธิบดีกรมอัยการหรือผู้รักษาการแทนเท่านั้นมีอำนาจออกคำสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้อง
มาตรา 144 ในกรณีที่พนักงานอัยการมีคำสั่งฟ้อง
ถ้าความผิดนั้นเป็นความผิดซึ่งอาจเปรียบเทียบได้
ถ้าเห็นสมควรพนักงานอัยการมีอำนาจดั่งต่อไปนี้
(1) สั่งให้พนักงานสอบสวนพยายามเปรียบเทียบคดีนั้น
แทนการที่จะส่งผู้ต้องหาไปยัง พนักงานอัยการ
(2) เมื่อผู้ต้องหาถูกส่งมายังพนักงานอัยการแล้ว
สั่งให้ส่งผู้ต้องหาพร้อมด้วยสำนวนกลับไปยังพนักงานสอบสวนให้พยายามเปรียบเทียบคดีนั้น
หรือถ้าเห็นสมควรจะสั่งให้พนักงานสอบสวนอื่นที่มีอำนาจจัดการเปรียบเทียบให้ก็ได้
มาตรา 145(2) ในกรณีที่มีคำสั่งไม่ฟ้อง
และคำสั่งนั้นไม่ใช่ของอธิบดีกรมอัยการ ถ้าในนครหลวงกรุงเทพธนบุรี
ให้รีบส่งสำนวนการสอบสวนพร้อมกับคำสั่งไปเสนออธิบดีกรมตำรวจ รองอธิบดีกรมตำรวจ
หรือผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจ ถ้าในจังหวัดอื่นให้รีบส่งสำนวนการสอบสวนพร้อมกับคำสั่งไปเสนอผู้ว่าราชการจังหวัด
แต่ทั้งนี้มิได้ตัดอำนาจพนักงานอัยการที่จะจัดการอย่างใดแก่ผู้ต้องหาดังบัญญัติไว้ในมาตรา
143
ในกรณีที่อธิบดีกรมตำรวจ
รองอธิบดีกรมตำรวจหรือผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจในนครหลวงกรุงเทพธนบุรี หรือผู้ว่าราชการจังหวัดในจังหวัดอื่นแย้งคำสั่งของพนักงานอัยการ
ให้ส่งสำนวนพร้อมกับความเห็นที่แย้งกันไปยังอธิบดีกรมอัยการเพื่อชี้ขาด
แต่ถ้าคดีจะขาดอายุความหรือมีเหตุอย่างอื่นอันจำเป็นจะต้องรีบฟ้องก็ให้ฟ้องคดีนั้นตามความเห็นของอธิบดีกรมตำรวจ
รองอธิบดีกรมตำรวจ ผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจ หรือผู้ว่าราชการจังหวัดไปก่อน
บทบัญญัติในมาตรานี้
ให้นำมาบังคับในการที่พนักงานอัยการจะอุทธรณ์
ฎีกา หรือถอนฟ้อง ถอนอุทธรณ์และถอนฎีกาโดยอนุโลม
มาตรา 146 ให้แจ้งคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดีให้ผู้ต้องหาและผู้ร้องทุกข์ทราบ
ถ้าผู้ต้องหาถูกควบคุมหรือขังอยู่
ให้จัดการปล่อยตัวไปหรือขอให้ศาลปล่อยแล้วแต่กรณี
มาตรา 147 เมื่อมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดีแล้ว
ห้ามมิให้มีการสอบสวนเกี่ยวกับบุคคลนั้นในเรื่องเดียวกันนั้นอีก
เว้นแต่จะได้พยานหลักฐานใหม่อันสำคัญแก่คดี
ซึ่งน่าจะทำให้ศาลลงโทษผู้ต้องหานั้นได้
หมวด 2
การชันสูตรพลิกศพ
มาตรา 148(1) เมื่อปรากฏแน่ชัดหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าบุคคลใดตายโดยผิดธรรมชาติ
หรือตายในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงาน ให้มีการชันสูตรพลิกศพ
เว้นแต่ตายโดยการประหารชีวิตตามกฎหมาย
การตายโดยผิดธรรมชาตินั้น คือ
(1) ฆ่าตัวตาย
(2) ถูกผู้อื่นทำให้ตาย
(3) ถูกสัตว์ทำร้ายตาย
(4) ตายโดยอุบัติเหตุ
(5) ตายโดยยังมิปรากฏเหตุ
มาตรา 149 ความตายผิดธรรมชาติเกิดมีขึ้น
ณ ที่ใด ให้เป็นหน้าที่ของสามีภริยา ญาติ
มิตรสหายหรือผู้ปกครองของผู้ตายที่รู้เรื่องการตายเช่นนั้นจัดการดั่งต่อไปนี้
(1) เก็บศพไว้ ณ
ที่ซึ่งพบนั้นเองเพียงเท่าที่จะทำได้
(2) ไปแจ้งความแก่พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจโดยเร็วที่สุด
หน้าที่ดังกล่าวในวรรคต้นนั้นมีตลอดถึงผู้อื่น
ซึ่งได้พบศพในที่ซึ่งไม่มีสามีภริยา ญาติ
มิตรสหายหรือผู้ปกครองของผู้ตายอยู่ในที่นั้นด้วย
ผู้ใดละเลยไม่กระทำหน้าที่ดั่งบัญญัติไว้ในมาตรานี้
มี ความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินร้อยบาท
มาตรา 150(2) ให้พนักงานสอบสวนแห่งท้องที่ที่ศพนั้นอยู่กับสาธารณสุขจังหวัดหรือแพทย์ประจำสถานีอนามัย
หรือแพทย์ประจำโรงพยาบาลเป็นผู้ชันสูตรพลิกศพโดยเร็ว
และให้ทำบันทึกรายละเอียดแห่งการชันสูตรนั้นไว้ถ้าบุคคลดังกล่าวไม่มี
หรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ให้ใช้เจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุขประจำท้องที่หรือแพทย์ประจำตำบล
ให้เป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวนแจ้งแก่ผู้มีหน้าที่ไปทำการชันสูตรพลิกศพทราบ
ในกรณีที่มีความตายเกิดขึ้นโดยการกระทำของเจ้าพนักงาน
ซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่
หรือตายในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่
เมื่อได้มีการชันสูตรพลิกศพแล้ว
ให้พนักงานสอบสวนส่งสำนวนชันสูตรพลิกศพไปยังพนักงานอัยการ
ให้พนักงานอัยการทำคำร้องขอต่อศาลชั้นต้นแห่งท้องที่ที่ศพนั้นอยู่ให้ทำการไต่สวนและทำคำสั่งแสดงว่าผู้ตายคือใคร
ตายที่ไหน
เมื่อใดและถึงเหตุและพฤติการณ์ที่ตายถ้าตายโดยคนทำร้ายให้กล่าวว่าใครเป็นผู้กระทำร้ายเท่าที่จะทราบได้
ในการไต่สวน
ให้ศาลปิดประกาศแจ้งกำหนดวันที่จะทำการไต่สวนไว้ที่ศาลก่อนวันทำการไต่สวนไม่น้อยกว่าสิบห้าวัน
และให้พนักงานอัยการนำพยานหลักฐานทั้งปวงที่แสดงถึงการตายดังกล่าวในวรรคก่อนมาสืบ
เมื่อศาลได้ปิดประกาศแจ้งกำหนดวันที่จะทำการไต่สวนแล้ว
และก่อนการไต่สวนเสร็จสิ้น สามี ภริยา ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน
ผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้อนุบาลผู้ตาย มีสิทธิ์ยื่นคำร้องต่อศาลขอเข้ามาซักถามพยานที่พนักงานอัยการนำสืบ
และนำสืบพยานอื่นได้ด้วย เพื่อการนี้ให้มีสิทธิแต่งตั้งทนายความให้ดำเนินการแทนได้
เพื่อประโยชน์ในการนี้ให้พนักงานอัยการแจ้งกำหนดการไต่สวนไปให้บุคคลดังกล่าวแล้วคนหนึ่งคนใดทราบเท่าที่สามารถจะทำได้
เมื่อศาลเห็นสมควร เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม
ศาลจะเรียกพยานที่นำสืบมาแล้วมาสืบเพิ่มเติม หรือเรียกพยานอื่นมาสืบก็ได้
คำสั่งของศาลตามมาตรานี้ให้ถึงที่สุด
แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิฟ้องร้องและการพิจารณาพิพากษาคดีของศาล
หากพนักงานอัยการหรือบุคคลอื่นได้ฟ้อง หรือจะฟ้องคดีเกี่ยวกับการ ตายนั้น
เมื่อศาลได้มีคำสั่งแล้ว
ให้ส่งสำนวนการไต่สวนของศาลไปยังพนักงานอัยการเพื่อส่งให้แก่พนักงานสอบสวนดำเนินการต่อไป
ตามแต่กรณี
มาตรา 151 ในเมื่อมีการจำเป็นเพื่อพบเหตุของการตายเจ้าพนักงานทำการชันสูตรพลิกศพมีอำนาจสั่งให้ผ่าศพแล้วแยกธาตุส่วนใด
หรือจะให้ส่งทั้งศพหรือบางส่วนไปยังแพทย์หรือพนักงานแยกธาตุของรัฐบาลก็ได้
มาตรา 152 ให้แพทย์หรือพนักงานแยกธาตุของรัฐบาลปฏิบัติดั่งนี้
(1) ทำรายงานถึงสภาพของศพ หรือส่วนของศพ
ตามที่พบเห็นหรือตามที่ปรากฏจากการตรวจพร้อมทั้งความเห็นในเรื่องนั้น
(2) แสดงเหตุที่ตายเท่าที่จะทำได้
(3) ลงวันเดือนปีและลายมือชื่อในรายงาน
แล้วจัดการส่งไปยังเจ้าพนักงานผู้ทำการชันสูตรพลิกศพ
มาตรา 153 ถ้าศพฝังไว้แล้ว
ให้ผู้ชันสูตรพลิกศพจัดให้ขุดศพขึ้นเพื่อตรวจดู
เว้นแต่จะเห็นว่าไม่จำเป็นหรือจะเป็นอันตรายแก่อนามัยของประชาชน
มาตรา 154 ให้ผู้ชันสูตรพลิกศพทำความเห็นเป็นหนังสือแสดงเหตุและพฤติการณ์ที่ตาย
ผู้ตายคือใคร ตายที่ไหน เมื่อใด ถ้าตายโดยคนทำร้าย
ให้กล่าวว่าใครหรือสงสัยว่าใครเป็นผู้กระทำผิดเท่าที่จะทราบได้
มาตรา 155 ให้นำบทบัญญัติในประมวลกฎหมายนี้อันว่าด้วยการสอบสวนมาใช้แก่การชันสูตรพลิกศพโดยอนุโลม
มาตรา 156 ให้ส่งสำนวนชันสูตรพลิกศพในกรณีที่ความตายมิได้เป็นผลแห่งการกระทำผิดอาญาไปยังข้าหลวงประจำจังหวัด
ภาค 3
วิธีพิจารณาในศาลชั้นต้น
ลักษณะ 1
ฟ้องคดีอาญาและไต่สวนมูลฟ้อง
มาตรา 157 การฟ้องคดีอาญาให้ยื่นฟ้องต่อศาลใดศาลหนึ่งที่มีอำนาจตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่น
มาตรา 158 ฟ้องต้องทำเป็นหนังสือ
และมี
(1) ชื่อศาลและวันเดือนปี
(2) คดีระหว่างผู้ใดโจทก์ผู้ใดจำเลย
และฐานความผิด
(3) ตำแหน่งพนักงานอัยการผู้เป็นโจทก์
ถ้าราษฎรเป็นโจทก์ให้ใส่ชื่อตัว นามสกุล อายุ ที่อยู่ ชาติและบังคับ
(4) ชื่อตัว นามสกุล ที่อยู่
ชาติและบังคับของจำเลย
(5) การกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิด
ข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำนั้น ๆ
อีกทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี
ในคดีหมิ่นประมาท ถ้อยคำพูด หนังสือ
ภาพขีดเขียนหรือสิ่งอื่นอันเกี่ยวกับข้อหมิ่นประมาท
ให้กล่าวไว้โดยบริบูรณ์หรือติดมาท้ายฟ้อง
(6) อ้างมาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิด
(7) ลายมือชื่อโจทก์ ผู้เรียง
ผู้เขียนหรือพิมพ์ฟ้อง
มาตรา 159 ถ้าจำเลยเคยต้องคำพิพากษาให้ลงโทษเพราะได้กระทำความผิดมาแล้ว
เมื่อโจทก์ต้องการให้เพิ่มโทษจำเลยฐานไม่เข็ดหลาบ ให้กล่าวมาในฟ้อง
ถ้ามิได้ขอเพิ่มโทษมาในฟ้อง
ก่อนมีคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์จะยื่นคำร้องขอเพิ่มเติมฟ้อง
เมื่อศาลเห็นสมควรจะอนุญาตก็ได้
มาตรา 160 ความผิดหลายกระทงจะรวมในฟ้องเดียวกันก็ได้
แต่ให้แยกกระทงเรียงเป็นลำดับกันไป
ความผิดแต่ละกระทงจะถือว่าเป็นข้อหาแยกจากข้อหาอื่นก็ได้
ถ้าศาลเห็นสมควรจะสั่งให้แยกสำนวนพิจารณาความผิดกระทงใดหรือหลายกระทงต่างหาก
และจะสั่งเช่นนี้ก่อนพิจารณาหรือในระหว่างพิจารณาก็ได้
มาตรา 161 ถ้าฟ้องไม่ถูกต้องตามกฎหมาย
ให้ศาลสั่งโจทก์แก้ฟ้องให้ถูกต้อง หรือยกฟ้องหรือไม่ประทับฟ้อง
โจทก์มีอำนาจอุทธรณ์คำสั่งเช่นนั้นของศาล
มาตรา 162 ถ้าฟ้องถูกต้องตามกฎหมายแล้ว
ให้ศาลจัดการสั่งต่อไปนี้
(1) ในคดีราษฎรเป็นโจทก์ ให้ไต่สวนมูลฟ้อง
แต่ถ้าคดีนั้นพนักงานอัยการได้ฟ้องจำเลยโดยข้อหาอย่างเดียวกันด้วยแล้ว
ให้จัดการตามอนุมาตรา (2)
(2) ในคดีพนักงานอัยการเป็นโจทก์
ไม่จำเป็นต้องไต่สวนมูลฟ้อง แต่ถ้าเห็นสมควรจะสั่งให้ไต่สวนมูลฟ้องก่อนก็ได้
ในกรณีที่มีการไต่สวนมูลฟ้องดั่งกล่าวแล้ว
ถ้าจำเลยให้การรับสารภาพให้ศาลประทับฟ้องไว้พิจารณา
มาตรา 163 เมื่อมีเหตุอันควร
โจทก์มีอำนาจยื่นคำร้องต่อศาลขอแก้หรือเพิ่มเติมฟ้องก่อนมีคำพิพากษาศาลชั้นต้น
ถ้าศาลเห็นสมควรจะอนุญาตหรือจะสั่งให้ไต่สวนมูลฟ้องเสียก่อนก็ได้
เมื่ออนุญาตแล้วให้ส่งสำเนาแก้ฟ้องหรือฟ้องเพิ่มเติมแก่จำเลยเพื่อแก้ และศาลจะสั่งแยกสำนวนพิจารณาฟ้องเพิ่มเติมนั้นก็ได้
เมื่อมีเหตุอันควร
จำเลยอาจยื่นคำร้องขอแก้หรือเพิ่มเติมคำให้การของเขาก่อนศาลพิพากษา
ถ้าศาลเห็นสมควรอนุญาต ก็ให้ส่งสำเนาแก่โจทก์
มาตรา 164 คำร้องขอแก้หรือเพิ่มเติมฟ้องนั้น
ถ้าจะทำให้จำเลยเสียเปรียบในการต่อสู้คดี ห้ามมิให้ศาลอนุญาต
แต่การแก้ฐานความผิดหรือรายละเอียดซึ่งต้องแถลงในฟ้องก็ดี
การเพิ่มเติมฐานความผิดหรือรายละเอียดซึ่งมิได้กล่าวไว้ก็ดี
ไม่ว่าจะทำเช่นนี้ในระยะใดระหว่างพิจารณาในศาลชั้นต้นมิให้ถือว่าทำให้จำเลยเสียเปรียบ
เว้นแต่จำเลยได้หลงต่อสู้ในข้อที่ผิดหรือที่มิได้กล่าวไว้นั้น
มาตรา 165(1) ในคดีซึ่งพนักงานอัยการเป็นโจทก์
ในวันไต่สวนมูลฟ้องให้จำเลยมาหรือคุมตัวมาศาล ให้ศาลส่งสำเนาฟ้องแก่จำเลยรายตัวไป
เมื่อศาลเชื่อว่าเป็นจำเลยจริงแล้ว ให้อ่านและอธิบายฟ้องให้ฟัง
และถามว่าได้กระทำผิดจริงหรือไม่ จะให้การต่อสู้อย่างไรบ้าง
คำให้การของจำเลยให้จดไว้ ถ้าจำเลยไม่ยอมให้การก็ให้ศาลจดรายงานไว้
และดำเนินการต่อไป
จำเลยไม่มีอำนาจนำพยานมาสืบในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง
แต่ทั้งนี้ไม่เป็นการตัดสิทธิในการที่จำเลยจะมีทนายมาช่วยเหลือ
ในคดีราษฎรเป็นโจทก์
ศาลมีอำนาจไต่สวนมูลฟ้องลับหลังจำเลย ให้ศาลส่งสำเนาฟ้องแก่จำเลยรายตัวไป
กับแจ้งวันนัดไต่สวนให้จำเลยทราบจำเลยจะมาฟังการไต่สวนมูลฟ้อง
โดยตั้งทนายให้ซักค้านพยานโจทก์ด้วยหรือไม่ก็ได้ หรือจำเลยจะไม่มา
แต่ตั้งทนายมาซักค้านพยานโจทก์ก็ได้ ห้ามมิให้ศาลถามคำให้การจำเลย
และก่อนที่ศาลประทับฟ้องมิให้ถือว่าจำเลยอยู่ในฐานะเช่นนั้น
มาตรา 166 ถ้าโจทก์ไม่มาตามกำหนดนัด
ให้ศาลยกฟ้องเสียแต่ถ้าศาลเห็นว่า มีเหตุสมควรจึ่งมาไม่ได้ จะสั่งเลื่อนคดีไปก็ได้
คดีที่ศาลได้ยกฟ้องดั่งกล่าวแล้ว
ถ้าโจทก์มาร้องภายในสิบห้าวัน นับแต่วันศาลยกฟ้องนั้น
โดยแสดงให้ศาลเห็นได้ว่ามีเหตุสมควรจึ่งมาไม่ได้ก็ให้ศาลยกคดีนั้นขึ้นไต่สวนมูลฟ้องใหม่
ในคดีที่ศาลยกฟ้องดั่งกล่าวแล้ว
จะฟ้องจำเลยในเรื่องเดียวกันนั้นอีกไม่ได้
แต่ถ้าศาลยกฟ้องเช่นนี้ในคดีซึ่งราษฎรเท่านั้นเป็นโจทก์
ไม่ตัดอำนาจพนักงานอัยการฟ้องคดีนั้นอีก เว้นแต่จะเป็นคดีความผิดต่อส่วนตัว
มาตรา 167 ถ้าปรากฏว่าคดีมีมูล
ให้ศาลประทับฟ้องไว้พิจารณาต่อไปเฉพาะกระทงที่มีมูล ถ้าคดีไม่มีมูล
ให้พิพากษายกฟ้อง
มาตรา 168 เมื่อศาลประทับฟ้องแล้ว
ให้ส่งสำเนาฟ้องให้แก่จำเลยรายตัวไป เว้นแต่จำเลยจะได้รับสำเนาฟ้องไว้ก่อนแล้ว
มาตรา 169 เมื่อศาลประทับฟ้องแล้ว
แต่ยังไม่ได้ตัวจำเลยมาให้ศาลออกหมายเรียกหรือหมายจับมาแล้วแต่ควรอย่างใดเพื่อพิจารณาต่อไป
มาตรา 170 คำสั่งของศาลที่ให้คดีมีมูลย่อมเด็ดขาด
แต่คำสั่ง ที่ว่าคดีไม่มีมูลนั้น
โจทก์มีอำนาจอุทธรณ์ฎีกาได้ตามบทบัญญัติว่าด้วยลักษณะอุทธรณ์ฎีกา
ถ้าโจทก์ร้องขอศาลจะขังจำเลยไว้หรือปล่อยชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์ฎีกาก็ได้
มาตรา 171 ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยการสอบสวนและการพิจารณาเว้นแต่มาตรา
175 มาบังคับแก่การไต่สวนมูลฟ้องโดยอนุโลม
ลักษณะ 2
การพิจารณา
มาตรา 172 การพิจารณาและสืบพยานในศาล
ให้ทำโดยเปิดเผยต่อหน้าจำเลย เว้นแต่บัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น
เมื่อโจทก์หรือทนายโจทก์และจำเลยมาอยู่ต่อหน้าศาลแล้ว
และศาลเชื่อว่าเป็นจำเลยจริง ให้อ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟัง
และถามว่าได้กระทำผิดจริงหรือไม่ จะให้การต่อสู้อย่างไรบ้าง
คำให้การของจำเลยให้จดไว้ถ้าจำเลยไม่ยอมให้การ ก็ให้ศาลจดรายงานไว้และดำเนินการพิจารณาต่อไป
มาตรา 172 ทวิ (1)
ภายหลังที่ศาลได้ดำเนินการตามมาตรา 172 วรรค 2
แล้ว เมื่อศาลเห็นเป็นการสมควร
เพื่อให้การดำเนินการพิจารณาเป็นไปโดยไม่ชักช้า
ศาลมีอำนาจพิจารณาและสืบพยานลับหลังจำเลยได้ในกรณี ดั่งต่อไปนี้
(1)(2) ในคดีมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกินสิบปี จะมีโทษปรับด้วยหรือไม่ก็ตาม
หรือในคดีมีโทษปรับสถานเดียว
เมื่อจำเลยมีทนายและจำเลยได้รับอนุญาตจากศาลที่จะไม่มาฟังการพิจารณาและการสืบพยาน
(2) ในคดีที่มีจำเลยหลายคน
ถ้าศาลพอใจตามคำแถลงของโจทก์ว่าการพิจารณาและการสืบพยานตามที่โจทก์ขอให้กระทำไม่เกี่ยวแก่จำเลยคนใดศาลจะพิจารณาและสืบพยานลับหลังจำเลยคนนั้นก็ได้
(3) ในคดีที่มีจำเลยหลายคน
ถ้าศาลเห็นสมควรจะพิจารณาและสืบพยานจำเลยคนหนึ่ง ๆ ลับหลังจำเลยคนอื่นก็ได้
ในคดีที่ศาลพิจารณาและสืบพยานตาม (2) หรือ (3) ลับหลังจำเลยคนใด
ไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใด ห้ามมิให้ศาลรับฟังการพิจารณา และการสืบพยาน
ที่กระทำลับหลังนั้นเป็นผลเสียหายแก่จำเลยคนนั้น
มาตรา 173(1) ในคดีที่มีอัตราโทษประหารชีวิต
ก่อนเริ่มพิจารณาให้ศาลถามจำเลยว่ามีทนายความหรือไม่
ถ้าไม่มีก็ให้ศาลตั้งทนายความให้
ในคดีที่มีอัตราโทษจำคุกหรือในคดีที่จำเลยมีอายุไม่เกินสิบแปดปีในวันที่ถูกฟ้องต่อศาลก่อนเริ่มพิจารณาให้ศาลถามจำเลยว่ามีทนายความหรือไม่
ถ้าไม่มีและจำเลยต้องการทนายก็ให้ศาลตั้งทนายความให้
ให้ศาลจ่ายเงินรางวัลและค่าใช้จ่ายแก่ทนายความที่ศาลตั้งตามมาตรานี้
ตามระเบียบที่กระทรวงยุติธรรมกำหนด
มาตรา 174 ก่อนนำพยานเข้าสืบ
โจทก์มีอำนาจเปิดคดีเพื่อให้ศาลทราบคดีโจทก์ คือแถลงถึงลักษณะของฟ้อง
อีกทั้งพยานหลักฐานที่จะนำสืบเพื่อพิสูจน์ความผิดของจำเลย
เสร็จแล้วให้โจทก์นำพยานเข้าสืบ
เมื่อสืบพยานโจทก์แล้ว
จำเลยมีอำนาจเปิดคดีเพื่อให้ศาลทราบคดีจำเลย โดยแถลงข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายซึ่งตั้ง
ใจอ้างอิง ทั้งแสดงพยานหลักฐานที่จะนำสืบ เสร็จแล้วให้จำเลยนำพยานเข้าสืบ
เมื่อสืบพยานจำเลยเสร็จแล้ว
โจทก์และจำเลยมีอำนาจแถลงปิดคดีของตนด้วยปาก หรือหนังสือหรือทั้งสองอย่าง
ในระหว่างพิจารณา
ถ้าศาลเห็นว่าไม่จำเป็นต้องสืบพยานหรือทำการอะไรอีก จะสั่งงดพยานหรือการนั้นเสียก็ได้
มาตรา 175 เมื่อโจทก์สืบพยานเสร็จแล้ว
ถ้าเห็นสมควรศาลมีอำนาจเรียกสำนวนการสอบสวนจากพนักงานอัยการมาเพื่อประกอบการวินิจฉัยได้
มาตรา 176(2) ในชั้นพิจารณา
ถ้าจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องศาลจะพิพากษาโดยไม่สืบพยานหลักฐานต่อไปก็ได้
เว้นแต่คดีที่มีข้อหาในความผิดซึ่งจำเลยรับสารภาพนั้น
กฎหมายกำหนดอัตราโทษอย่างต่ำไว้ให้จำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไปหรือโทษสถานที่หนักกว่านั้น
ศาลต้องฟังพยานโจทก์จนกว่าจะพอใจว่าจำเลยได้กระทำผิดจริง
ในคดีที่มีจำเลยหลายคน และจำเลยบางคนรับสารภาพ
เมื่อศาลเห็นสมควรจะสั่งจำหน่ายคดี
สำหรับจำเลยที่ปฏิเสธเพื่อให้โจทก์ฟ้องจำเลยที่ปฏิเสธนั้น
เป็นคดีใหม่ภายในเวลาที่ศาลกำหนดก็ได้
มาตรา 177 ศาลมีอำนาจสั่งให้พิจารณาเป็นการลับ
เมื่อเห็นสมควรโดยพลการหรือโดยคำร้องขอของคู่ความฝ่ายใด
แต่ต้องเพื่อประโยชน์แห่งความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
หรือเพื่อป้องกันความลับอันเกี่ยวกับความปลอดภัยของประเทศมิให้ล่วงรู้ถึงประชาชน
มาตรา 178 เมื่อมีการพิจารณาเป็นการลับ
บุคคลเหล่านี้เท่านั้นมีสิทธิอยู่ในห้องพิจารณาได้ คือ
(1) โจทก์และทนาย
(2) จำเลยและทนาย
(3) ผู้ควบคุมตัวจำเลย
(4) พยานและผู้ชำนาญการพิเศษ
(5) ล่าม
(6) บุคคลผู้มีประโยชน์เกี่ยวข้องและได้รับอนุญาตจากศาล
(7) พนักงานศาลและเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยแก่ศาลแล้วแต่จะเห็นสมควร
มาตรา 179 ภายใต้บังคับแห่งประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่น
ศาลจะดำเนินการพิจารณาตลอดไปจนเสร็จโดยไม่เลื่อนก็ได้
ถ้าพยานไม่มา
หรือมีเหตุอื่นอันควรต้องเลื่อนการพิจารณา
ก็ให้ศาลเลื่อนคดีไปตามที่เห็นสมควร
มาตรา 180 ให้นำบทบัญญัติเรื่องรักษาความเรียบร้อยในศาลในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาบังคับแก่การพิจารณาคดีอาญาโดยอนุโลม
แต่ห้ามมิให้สั่งให้จำเลยออกจากห้องพิจารณา เว้นแต่จำเลยขัดขวางการพิจารณา
มาตรา 181 ให้นำบทบัญญัติในมาตรา
139 และ 166 มาบังคับแก่การพิจารณาโดยอนุโลม
ลักษณะ 3
คำพิพากษาและคำสั่ง
มาตรา 182(1) คดีที่อยู่ในระหว่างไต่สวนมูลฟ้องหรือพิจารณา
ถ้ามีคำร้องระหว่างพิจารณาขึ้นมา ให้ศาลสั่งตามที่เห็นควร
เมื่อการพิจารณาเสร็จแล้ว ให้พิพากษาหรือสั่งตามรูปความ
ให้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งในศาลโดยเปิดเผยในวันเสร็จการพิจารณาหรือภายในเวลาสามวันนับแต่เสร็จคดี
ถ้ามีเหตุอันสมควร จะเลื่อนไปอ่านวันอื่นก็ได้ แต่ต้องจดรายงานเหตุนั้นไว้
เมื่อศาลอ่านให้คู่ความฟังแล้ว ให้คู่ความลงลายมือชื่อไว้
ถ้าเป็นความผิดของโจทก์ที่ไม่มา จะอ่านโดยโจทก์ไม่อยู่ก็ได้ ในกรณีที่จำเลยไม่อยู่
โดยไม่มีเหตุสงสัยว่าจำเลยหลบหนีหรือจงใจไม่มาฟัง
ก็ให้ศาลรอการอ่านไว้จนกว่าจำเลยจะมาศาล
แต่ถ้ามีเหตุสงสัยว่าจำเลยหลบหนีหรือจงใจไม่มาฟังให้ศาลออกหมายจับจำเลย
เมื่อได้ออกหมายจับแล้วไม่ได้ตัวจำเลยมาภายในหนึ่งเดือน นับแต่วันออกหมายจับ
ก็ให้ศาลอ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งลับหลังจำเลยได้
และให้ถือว่าโจทก์หรือจำเลยแล้วแต่กรณีได้ฟังคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นแล้ว
ในกรณีที่คำพิพากษาหรือคำสั่งต้องเลื่อนอ่านไปโดยขาดจำเลยบางคนถ้าจำเลยที่อยู่จะถูกปล่อย
ให้ศาลมีอำนาจปล่อยชั่วคราวระหว่างรออ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น
มาตรา 183 คำพิพากษา
หรือคำสั่งหรือความเห็นแย้งต้องทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้พิพากษาซึ่งนั่งพิจารณา
ผู้พิพากษาใดที่นั่งพิจารณา ถ้าไม่เห็นพ้องด้วย มีอำนาจทำความเห็นแย้ง
คำแย้งนี้ให้รวมเข้าสำนวนไว้
มาตรา 184 ในการประชุมปรึกษาเพื่อมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้อธิบดีผู้พิพากษา
ข้าหลวงยุติธรรม หัวหน้าผู้พิพากษาในศาลนั้นหรือเจ้าของสำนวนเป็นประธาน
ถามผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาทีละคน ให้ออกความเห็นทุกประเด็นที่จะวินิจฉัย ให้ประธานออกความเห็นสุดท้าย
การวินิจฉัยให้ถือตามเสียงข้างมาก
ถ้าในปัญหาใดมีความเห็นแย้งกันเป็นสองฝ่ายหรือเกินกว่าสองฝ่ายขึ้นไป
จะหาเสียงข้างมากมิได้
ให้ผู้พิพากษาซึ่งมีความเห็นเป็นผลร้ายแก่จำเลยมากยอมเห็นด้วยผู้พิพากษาซึ่งมีความเห็นเป็นผลร้ายแก่จำเลยน้อยกว่า
มาตรา 185 ถ้าศาลเห็นว่าจำเลยมิได้กระทำผิดก็ดี
การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดก็ดี คดีขาดอายุความแล้วก็ดี
มีเหตุตามกฎหมายที่จำเลยไม่ควรต้องรับโทษก็ดี ให้ศาลยกฟ้องโจทก์ปล่อยจำเลยไป
แต่ศาลจะสั่งขังจำเลยไว้หรือปล่อยชั่วคราวระหว่างคดียังไม่ถึงที่สุดก็ได้
เมื่อศาลเห็นว่าจำเลยได้กระทำผิด
และไม่มีการยกเว้นโทษตามกฎหมาย ให้ศาลลงโทษแก่จำเลยตามความผิด
แต่เมื่อเห็นสมควรศาลจะปล่อยจำเลยชั่วคราวระหว่างคดียังไม่ถึงที่สุดก็ได้
มาตรา
186 คำพิพากษาหรือคำสั่งต้องมีข้อสำคัญเหล่านี้เป็นอย่างน้อย
(1) ชื่อศาลและวันเดือนปี
(2) คดีระหว่างใครโจทก์ใครจำเลย
(3) เรื่อง
(4) ข้อหาและคำให้การ
(5) ข้อเท็จจริงซึ่งพิจารณาได้ความ
(6) เหตุผลในการตัดสินทั้งในปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย
(7) บทมาตราที่ยกขึ้นปรับ
(8) คำชี้ขาดให้ยกฟ้องหรือลงโทษ
(9) คำวินิจฉัยของศาลในเรื่องของกลางหรือในเรื่องฟ้องทางแพ่ง
คำพิพากษาในคดีที่เกี่ยวกับความผิดลหุโทษ
ไม่จำต้องมีอนุมาตรา (4) (5) และ (6)
มาตรา 187 คำสั่งระหว่างพิจารณาอย่างน้อยต้องมี
(1) วันเดือนปี
(2) เหตุผลตามกฎหมายในการสั่ง
(3) คำสั่ง
มาตรา 188 คำพิพากษาหรือคำสั่งมีผลตั้งแต่วันที่ได้อ่านในศาลโดยเปิดเผยเป็นต้นไป
มาตรา 189 เมื่อจำเลยซึ่งต้องคำพิพากษาให้ลงโทษเป็นคนยากจนขอสำเนาคำพิพากษาซึ่งรับรองว่าถูกต้อง
ให้ศาลคัดสำเนาให้หนึ่งฉบับโดยไม่คิดค่าธรรมเนียม
มาตรา 190 ห้ามมิให้แก้ไขคำพิพากษาหรือคำสั่งซึ่งอ่านแล้วนอกจากแก้ถ้อยคำที่เขียนหรือพิมพ์ผิดพลาด
มาตรา 191 เมื่อเกิดสงสัยในการบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งถ้าบุคคลใดที่มีประโยชน์เกี่ยวข้องร้องต่อศาลซึ่งพิพากษาหรือสั่ง
ให้ศาลนั้นอธิบายให้แจ่มแจ้ง
มาตรา 192(1) ห้ามมิให้พิพากษา
หรือสั่ง เกินคำขอ หรือที่มิได้กล่าวในฟ้อง
ถ้าศาลเห็นว่าข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้อง
ให้ศาลยกฟ้องคดีนั้น
เว้นแต่ข้อแตกต่างนั้นมิใช่ในข้อสาระสำคัญและทั้งจำเลยมิได้หลงต่อสู้
ศาลจะลงโทษจำเลยตามข้อเท็จจริงที่ได้ความนั้นก็ได้
(2)ในกรณีที่ข้อแตกต่างนั้นเป็นเพียงรายละเอียด
เช่น เกี่ยวกับเวลาหรือสถานที่กระทำความผิดหรือต่างกันระหว่างการกระทำผิดฐานลักทรัพย์
กรรโชก รีดเอาทรัพย์ ฉ้อโกง โกงเจ้าหนี้ ยักยอก รับของโจร และทำให้เสียทรัพย์
หรือต่างกันระหว่างการกระทำผิดโดยเจตนากับประมาท มิให้ถือว่าต่างกันในข้อสาระสำคัญ
ทั้งมิให้ถือว่าข้อที่พิจารณาได้ความนั้นเป็นเรื่องเกินคำขอหรือเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษ
เว้นแต่จะปรากฏแก่ศาลว่าการที่ฟ้องผิดไปเป็นเหตุให้จำเลยหลงต่อสู้
แต่ทั้งนี้ศาลจะลงโทษจำเลยเกินอัตราโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดที่โจทก์ฟ้องไม่ได้
ถ้าศาลเห็นว่าข้อเท็จจริงบางข้อดั่งกล่าวในฟ้อง
และตามที่ปรากฏในทางพิจารณาไม่ใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ประสงค์ให้ลงโทษ
ห้ามมิให้ศาลลงโทษจำเลยในข้อเท็จจริงนั้น ๆ
ถ้าศาลเห็นว่าข้อเท็จจริงตามฟ้องนั้นโจทก์สืบสม
แต่โจทก์อ้างฐานความผิดหรือบทมาตราผิด
ศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยตามฐานความผิดที่ถูกต้องได้
ถ้าความผิดตามที่ฟ้องนั้นรวมการกระทำหลายอย่าง
แต่ละอย่างอาจเป็นความผิดได้อยู่ในตัวเอง
ศาลจะลงโทษจำเลยในการกระทำผิดอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่พิจารณาได้ความก็ได้
ภาค 4
อุทธรณ์ และฎีกา
ลักษณะ 1
อุทธรณ์
หมวด 1
หลักทั่วไป
มาตรา 193 คดีอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งศาลชั้นต้นในข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายให้อุทธรณ์ไปยังศาลอุทธรณ์
เว้นแต่จะถูกห้ามอุทธรณ์โดยประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่น
อุทธรณ์ทุกฉบับต้องระบุข้อเท็จจริงโดยย่อหรือข้อกฎหมายที่ยกขึ้นอ้างอิงเป็นลำดับ
มาตรา 193 ทวิ(1)
ห้ามมิให้อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นในปัญหาข้อเท็จจริงในคดีซึ่งอัตราโทษอย่างสูงตามที่กฎหมายกำหนดไว้ให้จำคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท
หรือทั้งจำทั้งปรับ เว้นแต่กรณีต่อไปนี้ให้จำเลยอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงได้
(1) จำเลยต้องคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุกหรือให้
ลงโทษกักขังแทนโทษจำคุก
(2) จำเลยต้องคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุก แต่ศาลรอการลงโทษไว้
(3) ศาลพิพากษาว่าจำเลยมีความผิด
แต่รอการกำหนดโทษไว้ หรือ
(4) จำเลยต้องคำพิพากษาให้ลงโทษปรับเกินหนึ่งพันบาท
มาตรา 193 ตรี(2)
ในคดีซึ่งต้องห้ามอุทธรณ์ตามมาตรา 193 ทวิถ้าผู้พิพากษาคนใดซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาหรือทำความเห็นแย้งในศาลชั้นต้นพิเคราะห์เห็นว่าข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลอุทธรณ์และอนุญาตให้อุทธรณ์หรืออธิบดีกรมอัยการหรือพนักงานอัยการซึ่งอธิบดีกรมอัยการได้มอบหมายลงลายมือชื่อรับรองในอุทธรณ์ว่า
มีเหตุอันควรที่ศาลอุทธรณ์จะได้วินิจฉัยก็ให้รับอุทธรณ์นั้นไว้พิจารณาต่อไป
มาตรา 194 ถ้ามีอุทธรณ์แต่ในปัญหาข้อกฎหมาย
ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายนั้น ๆ
ศาลอุทธรณ์จะต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวน
มาตรา 195 ข้อกฎหมายทั้งปวงอันคู่ความอุทธรณ์ร้องอ้างอิงให้แสดงไว้โดยชัดเจนในฟ้องอุทธรณ์
แต่ต้องเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นมาว่ากันมาแล้วแต่ในศาลชั้นต้น
ข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย
หรือที่เกี่ยวกับการไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้อันว่าด้วยอุทธรณ์
เหล่านี้ผู้อุทธรณ์หรือศาลยกขึ้นอ้างได้ แม้ว่าจะไม่ได้ยกขึ้นในศาลชั้นต้นก็ตาม
มาตรา 196 คำสั่งระหว่างพิจารณาที่ไม่ทำให้คดีเสร็จสำนวน
ห้ามมิให้อุทธรณ์คำสั่งนั้นจนกว่าจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งในประเด็นสำคัญและมีอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นด้วย
มาตรา 197 เหตุที่มีอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งฉบับหนึ่งแล้วหาเป็นผลตัดสิทธิผู้อื่นซึ่งมีสิทธิอุทธรณ์
จะอุทธรณ์ด้วยไม่
มาตรา 198(1)(2) การยื่นอุทธรณ์
ให้ยื่นต่อศาลชั้นต้นในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันอ่าน
หรือถือว่าได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งให้คู่ความฝ่ายที่อุทธรณ์ฟัง
ให้เป็นหน้าที่ศาลชั้นต้นตรวจอุทธรณ์ว่าควรจะรับส่งขึ้นไปยังศาลอุทธรณ์หรือไม่
ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้
ถ้าเห็นว่าไม่ควรรับให้จดเหตุผลไว้ในคำสั่งของศาลนั้นโดยชัดเจน
มาตรา 198 ทวิ(3)(4) เมื่อศาลชั้นต้นปฏิเสธไม่ยอมรับอุทธรณ์
ผู้อุทธรณ์อาจอุทธรณ์เป็นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของศาลนั้นต่อศาลอุทธรณ์ได้
คำร้องเช่นนี้ให้ยื่นที่ศาลชั้นต้นภายในกำหนดสิบห้าวันนับแต่วันฟังคำสั่ง
แล้วให้ศาลนั้นรีบส่งคำร้องเช่นว่านั้นไปยังศาลอุทธรณ์พร้อมด้วยอุทธรณ์
และคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้น
เมื่อศาลอุทธรณ์เห็นสมควรตรวจสำนวนเพื่อสั่งคำร้องเรื่องนั้น
ก็ให้สั่งศาลชั้นต้นส่งมาให้
ให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาคำร้องนั้นแล้วมีคำสั่งยืนตามคำปฏิเสธของศาลชั้นต้น
หรือมีคำสั่งให้รับอุทธรณ์ คำสั่งนี้ให้เป็นที่สุดแล้วส่งไปให้ศาลชั้นต้นอ่าน
มาตรา 199 ผู้อุทธรณ์ต้องขังหรือต้องจำคุกอยู่ในเรือนจำ
อาจยื่นอุทธรณ์ต่อพัศดีภายในกำหนดอายุอุทธรณ์ เมื่อได้รับอุทธรณ์นั้นแล้ว
ให้พัศดีออกใบรับให้แก่ผู้ยื่นอุทธรณ์ แล้วให้รีบส่งอุทธรณ์นั้นไปยังศาลชั้นต้น
อุทธรณ์ฉบับใดที่ยื่นต่อพัศดีส่งไปถึงศาลเมื่อพ้นกำหนดอายุอุทธรณ์แล้วถ้าปรากฏว่าการส่งชักช้านั้นมิใช่เป็นความผิดของผู้ยื่นอุทธรณ์
ให้ถือว่าเป็นอุทธรณ์ที่ได้ยื่นภายในกำหนดอายุอุทธรณ์
มาตรา 200(5) ให้ศาลส่งสำเนาอุทธรณ์ให้แก่อีกฝ่ายหนึ่งแก้ภายในกำหนดสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับสำเนาอุทธรณ์
มาตรา 201(6) เมื่อศาลส่งสำเนาอุทธรณ์แก่อีกฝ่ายหนึ่งไม่ได้เพราะหาตัวไม่พบ
หรือหลบหนี หรือจงใจไม่รับสำเนาอุทธรณ์
หรือได้รับแก้อุทธรณ์แล้วหรือพ้นกำหนดแก้อุทธรณ์แล้ว ให้ศาลรีบส่งสำนวนไปยังศาลอุทธรณ์เพื่อทำการพิจารณาพิพากษาต่อไป
มาตรา 202 ผู้อุทธรณ์มีอำนาจยื่นคำร้องขอถอนอุทธรณ์ต่อศาลชั้นต้นก่อนส่งสำนวนไปศาลอุทธรณ์
ในกรณีเช่นนี้ศาลชั้นต้นสั่งอนุญาตได้
เมื่อส่งสำนวนไปแล้วให้ยื่นต่อศาลอุทธรณ์หรือต่อศาลชั้นต้นเพื่อส่งไปยังศาลอุทธรณ์เพื่อสั่ง ทั้งนี้ ต้องก่อนอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
เมื่อถอนไปแล้ว
ถ้าคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งมิได้อุทธรณ์
คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้นย่อมเด็ดขาดเฉพาะผู้ถอน ถ้าอีกฝ่ายหนึ่งอุทธรณ์
จะเด็ดขาดต่อเมื่อคดีถึงที่สุดโดยไม่มีการแก้คำพิพากษาหรือคำสั่งศาลชั้นต้น
หมวด 2
การพิจารณา คำพิพากษาและคำสั่งชั้นศาลอุทธรณ์
มาตรา 203 ให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาโดยเปิดเผยเฉพาะแต่ในกรณีที่นัดหรืออนุญาตให้คู่ความมาพร้อมกัน
หรือมีการสืบพยาน
มาตรา 204 เมื่อจะพิจารณาในศาลโดยเปิดเผย
ให้ศาลอุทธรณ์ออกหมายนัดกำหนดวันพิจารณาไปยังคู่ความให้ทราบล่วงหน้าอย่างน้อยไม่ต่ำกว่าห้าวัน
การฟังคำแถลงการณ์นั้นห้ามมิให้กำหนดช้ากว่าสิบห้าวันนับแต่วันรับสำนวน
ถ้ามีเหตุพิเศษจะช้ากว่านั้นก็ได้แต่อย่าให้เกินสองเดือน
เหตุที่ต้องช้าให้ศาลรายงานไว้
มาตรา 205 คำร้องขอแถลงการณ์ด้วยปากให้ติดมากับฟ้องอุทธรณ์
หรือแก้อุทธรณ์
คำแถลงการณ์เป็นหนังสือให้ยื่นก่อนวันศาลอุทธรณ์พิพากษา
คำแถลงการณ์ด้วยปากหรือหนังสือก็ตาม
มิให้ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของอุทธรณ์
ให้นับว่าเป็นแต่คำอธิบายข้ออุทธรณ์หรือแก้อุทธรณ์เท่านั้น
คำแถลงการณ์เป็นหนังสือจะยื่นต่อศาลชั้นต้นหรือต่อศาลอุทธรณ์ก็ได้
มาตรา 206 ระเบียบแถลงการณ์ด้วยปากมีดั่งนี้
(1) ถ้าคู่ความฝ่ายใดขอแถลงการณ์
ให้ฝ่ายนั้นแถลงก่อน แล้วให้อีกฝ่ายหนึ่งแถลงแก้
เสร็จแล้วฝ่ายแถลงก่อนแถลงแก้ได้อีก
(2) ถ้าคู่ความทั้งสองฝ่ายขอแถลงการณ์
ให้ผู้อุทธรณ์แถลงก่อน แล้วให้อีกฝ่ายหนึ่งแถลงแก้ เสร็จแล้วให้ผู้อุทธรณ์แถลงแก้ได้อีก
(3) ถ้าคู่ความทั้งสองฝ่ายขอแถลงการณ์และเป็นผู้อุทธรณ์ทั้งคู่
ให้โจทก์แถลงก่อน แล้วให้จำเลยแถลง เสร็จแล้วโจทก์แถลงแก้ได้อีก
มาตรา 207 เมื่อมีอุทธรณ์คำพิพากษา
ศาลอุทธรณ์มีอำนาจสั่งให้ศาลชั้นต้นออกหมายเรียกหรือจับจำเลย ซึ่งศาลนั้นปล่อยตัวไปแล้ว
มาขังหรือปล่อยชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์ก็ได้ หรือถ้าจำเลยถูกขังอยู่ระหว่างอุทธรณ์
จะสั่งให้ศาลชั้นต้นปล่อยจำเลยหรือปล่อยชั่วคราวก็ได้
มาตรา 208 ในการพิจารณาคดีอุทธรณ์ตามหมวดนี้
(1) ถ้าศาลอุทธรณ์เห็นว่าควรสืบพยานเพิ่มเติม
ให้มีอำนาจเรียกพยานมาสืบเอง หรือสั่งศาลชั้นต้นสืบให้ เมื่อศาลชั้นต้นสืบพยานแล้ว
ให้ส่งสำนวนมายังศาลอุทธรณ์เพื่อวินิจฉัยต่อไป
(2) ถ้าศาลอุทธรณ์เห็นเป็นการจำเป็น
เนื่องจากศาลชั้นต้นมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกระบวนพิจารณา
ก็ให้พิพากษาสั่งให้ศาลชั้นต้นทำการพิจารณาและพิพากษาหรือสั่งใหม่ตามรูปคดี
มาตรา 208 ทวิ(1) ถ้าอธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์เห็นสมควร
จะให้มีการวินิจฉัยปัญหาใด ในคดีเรื่องใด โดยที่ประชุมใหญ่ก็ได้
ที่ประชุมใหญ่ให้ประกอบด้วยผู้พิพากษาทุกคนซึ่งอยู่ปฏิบัติหน้าที่แต่ต้องไม่น้อยกว่ากึ่งจำนวนผู้พิพากษาแห่งศาลนั้น
และให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์เป็นประธาน
การวินิจฉัยในที่ประชุมใหญ่ให้ถือเสียงข้างมาก
ถ้าในปัญหาใดมีความเห็นแย้งกันเป็นสองฝ่าย หรือเกินสองฝ่ายขึ้นไป
จะหาเสียงข้างมากมิได้
ให้ผู้พิพากษาซึ่งมีความเห็นเป็นผลร้ายแก่จำเลยมากยอมเห็นด้วยผู้พิพากษาซึ่งมีความเห็นเป็นผลร้ายแก่จำเลยน้อยกว่า
ในคดีซึ่งที่ประชุมใหญ่ได้วินิจฉัยปัญหาแล้ว
คำพิพากษาหรือคำสั่งต้องเป็นไปตามคำวินิจฉัยของที่ประชุมใหญ่
และต้องระบุไว้ด้วยว่าปัญหาข้อใดได้วินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่
ผู้พิพากษาที่เข้าประชุม แม้มิใช่เป็นผู้นั่งพิจารณาก็ให้มีอำนาจพิพากษา ทำคำสั่ง
หรือทำความเห็นแย้งในคดีนั้นได้
มาตรา 209 ให้ศาลอุทธรณ์พิพากษาโดยมิชักช้า
และจะอ่านคำพิพากษาที่ศาลอุทธรณ์ หรือส่งไปให้ศาลชั้นต้นอ่านก็ได้
มาตรา 210 เมื่อศาลอุทธรณ์เห็นว่าฟ้องอุทธรณ์มิได้ยื่นในกำหนดให้พิพากษายกฟ้องอุทธรณ์นั้นเสีย
มาตรา 211 เมื่อมีอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาในประเด็นสำคัญและคัดค้านคำสั่งระหว่างพิจารณาด้วย
ศาลอุทธรณ์จะพิพากษาโดยคำพิพากษาอันเดียวกันก็ได้
มาตรา 212 คดีที่จำเลยอุทธรณ์คำพิพากษาที่ให้ลงโทษ
ห้ามมิให้ศาลอุทธรณ์พิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลย เว้นแต่โจทก์จะได้อุทธรณ์ในทำนองนั้น
มาตรา 213 ในคดีซึ่งจำเลยผู้หนึ่งอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษา
ซึ่งให้ลงโทษจำเลยหลายคนในความผิดฐานเดียวกันหรือต่อเนื่องกัน
ถ้าศาลอุทธรณ์กลับหรือแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้น ไม่ลงโทษหรือลดโทษให้จำเลย
แม้เป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคด ี ศาลอุทธรณ์มีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยอื่นที่มิได้อุทธรณ์
ให้มิต้องถูกรับโทษ หรือได้ลดโทษดุจจำเลยผู้อุทธรณ์
มาตรา 214 นอกจากมีข้อความซึ่งต้องมีในคำพิพากษาศาลชั้นต้นคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ต้องปรากฏข้อความดั่งต่อไปนี้ด้วย
(1) นามหรือตำแหน่งของผู้อุทธรณ์
(2) ข้อความว่า ยืน ยก
แก้หรือกลับคำพิพากษาศาลชั้นต้น
มาตรา 215 นอกจากที่บัญญัติมาแล้ว
ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยการพิจารณาและว่าด้วยคำพิพากษาและคำสั่งศาลชั้นต้นมาบังคับในชั้นศาลอุทธรณ์ด้วยโดยอนุโลม
ลักษณะ 2
ฎีกา
หมวด 1
หลักทั่วไป
มาตรา 216(1) ภายใต้บังคับแห่งมาตรา
217 ถึง 221 คู่ความมีอำนาจฎีกาคัดค้านคำพิพากษา
หรือคำสั่งศาลอุทธรณ์ภายในหนึ่งเดือน นับแต่วันอ่าน
หรือถือว่าได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นให้คู่ความฝ่ายที่ฎีกาฟัง
ฎีกานั้น ให้ยื่นต่อศาลชั้นต้น
และให้นำบทบัญญัติแห่งมาตรา 200 และ 2O1 มาบังคับโดยอนุโลม
มาตรา 217 ในคดีซึ่งมีข้อจำกัดว่า
ให้คู่ความฎีกาได้แต่เฉพาะปัญหาข้อกฎหมาย
ข้อจำกัดนี้ให้บังคับแก่คู่ความและบรรดาผู้ที่เกี่ยวข้องในคดีด้วย
มาตรา 218 ในคดีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลล่างหรือเพียงแต่แก้ไขเล็กน้อย
และให้ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินห้าปี
หรือปรับหรือทั้งจำทั้งปรับแต่โทษจำคุกไม่เกินห้าปี ห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
(1)ในคดีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลล่างหรือเพียงแต่แก้ไขเล็กน้อยและให้ลงโทษจำคุกจำเลยเกินห้าปี
ไม่ว่าจะมีโทษอย่างอื่นด้วยหรือไม่ ห้ามมิให้โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
มาตรา 219(2) ในคดีที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท
หรือทั้งจำทั้งปรับ
ถ้าศาลอุทธรณ์ยังคงลงโทษจำเลยไม่เกินกำหนดที่ว่ามานี้ห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
แต่ข้อห้ามนี้มิให้ใช้แก่จำเลยในกรณีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ไขมากและเพิ่มเติมโทษจำเลย
มาตรา 219 ทวิ(3)
ห้ามมิให้คู่ความฎีกาคัดค้านคำพิพากษาหรือคำสั่งในข้อเท็จจริงในปัญหาเรื่องวิธีการเพื่อความปลอดภัยแต่อย่างเดียว
แม้คดีนั้นจะไม่ต้องห้ามฎีกาก็ตาม
ในการนับกำหนดโทษจำคุกตามความในมาตรา 218 และ 219 นั้นห้ามมิให้คำนวณกำหนดเวลาที่ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเกี่ยวกับวิธีการเพื่อความปลอดภัยรวมเข้าด้วย
มาตรา 219 ตรี(4) ในคดีที่ศาลชั้นต้นลงโทษกักขังแทนโทษจำคุก
หรือเปลี่ยนโทษกักขังเป็นโทษจำคุก หรือคดีที่เกี่ยวกับการกักขังแทนค่าปรับ
หรือกักขังเกี่ยวกับการริบทรัพย์สิน
ถ้าศาลอุทธรณ์มิได้พิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้น ห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
มาตรา 220(5) ห้ามมิให้คู่ความฎีกาในคดีที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์
มาตรา 221 ในคดีซึ่งห้ามฎีกาไว้โดยมาตรา
218,219 และ 220 แห่งประมวลกฎหมายนี้
ถ้าผู้พิพากษาคนใดซึ่งพิจารณา หรือลงชื่อในคำพิพากษาหรือทำความเห็นแย้งในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์พิเคราะห์เห็นว่าข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลสูงสุดและอนุญาตให้ฎีกา
หรืออธิบดีกรมอัยการลงลายมือชื่อรับรองในฎีกาว่ามีเหตุอันควรที่ศาลสูงสุดจะได้วินิจฉัย
ก็ให้รับฎีกานั้นไว้พิจารณาต่อไป
มาตรา 222 ถ้าคดีมีปัญหาแต่เฉพาะข้อกฎหมาย
ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายนั้น
ศาลฎีกาจะต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวน
มาตรา 223 ให้เป็นหน้าที่ศาลชั้นต้นตรวจฎีกาว่าควรจะรับส่งขึ้นไปยังศาลฎีกาหรือไม่ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้
ถ้าเห็นว่าไม่ควรรับ ให้จดเหตุผลไว้ในคำสั่งของศาลนั้นโดยชัดเจน
มาตรา 224(6) เมื่อศาลชั้นต้นไม่ยอมรับฎีกา
ผู้ฎีกาอาจฎีกาเป็นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของศาลนั้นต่อศาลฎีกาได้
คำร้องเช่นนี้ให้ยื่นที่ศาลชั้นต้นภายในกำหนดสิบห้าวันนับแต่วันฟังคำสั่ง
แล้วให้ศาลนั้นรีบส่งคำร้องเช่นว่านั้นไปยังศาลฎีกาพร้อมด้วยฎีกาและคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์
เมื่อศาลฎีกาเห็นสมควรตรวจสำนวนเพื่อสั่งคำร้องนั้น
ก็ให้สั่งศาลชั้นต้นส่งมาให้
หมวด 2
การพิจารณา คำพิพากษาและ คำสั่งชั้นฎีกา
--------
มาตรา 225 ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยการพิจารณา
และว่าด้วยคำพิพากษา และคำสั่งชั้นอุทธรณ์มาบังคับในชั้นฎีกาโดยอนุโลม
เว้นแต่ห้ามมิให้ทำความเห็นแย้ง
ภาค 5
พยานหลักฐาน
หมวด 1
หลักทั่วไป
มาตรา
226 พยานวัตถุ
พยานเอกสาร หรือพยานบุคคลซึ่งน่าจะพิสูจน์ได้ว่าจำเลยมีผิดหรือบริสุทธิ์
ให้อ้างเป็นพยานหลักฐานได้แต่ ต้องเป็นพยานชนิดที่มิได้เกิดขึ้นจากการจูงใจ
มีคำมั่นสัญญา ขู่เข็ญ หลอกลวงหรือโดยมิชอบประการอื่น
และให้สืบตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นอันว่าด้วยการสืบพยาน
มาตรา 227 ให้ศาลใช้ดุลพินิจวินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งปวงอย่าพิพากษาลงโทษจนกว่าจะแน่ใจว่ามีการกระทำผิดจริงและจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดนั้น
เมื่อมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยได้กระทำผิดหรือไม่
ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลย
มาตรา 228 ระหว่างพิจารณาโดยพลการหรือคู่ความฝ่ายใดร้องขอศาลมีอำนาจสืบพยานเพิ่มเติม
จะสืบเองหรือส่งประเด็นก็ได้
มาตรา 229 ศาลเป็นผู้สืบพยาน
จะสืบในศาลหรือนอกศาลก็ได้ แล้วแต่เห็นควรตามลักษณะของพยาน
มาตรา 230 เมื่อจำเป็นศาลมีอำนาจไปเองหรือให้จ่าศาลไปเดินเผชิญสืบพยาน
หรือส่งประเด็นให้ศาลอื่นสืบพยาน
ให้ผู้เดินเผชิญสืบและศาลที่รับประเด็นมีอำนาจและหน้าที่ดั่งศาลเดิม
และศาลที่รับประเด็นมีอำนาจส่งประเด็นไปยังศาลอื่นอีกต่อหนึ่งได้
เมื่อคู่ความแถลงต่อศาลขอไปฟังการพิจารณา
ก็ให้ศาลสั่งหรือจัดการให้เป็นไปตามคำขอนั้น
ถ้าคู่ความฝ่ายใดไม่ติดใจไปฟังการพิจารณา
จะยื่นคำถามคำซักเป็นหนังสือก็ได้ ให้ศาลหรือผู้เดินเผชิญสืบสืบพยานตามนั้น
ให้ส่งสำนวนหรือสำเนาฟ้อง สำเนาคำให้การ
และเอกสารหรือของกลาง
เท่าที่จำเป็นให้แก่ผู้เดินเผชิญสืบหรือแก่ศาลรับประเด็นเพื่อสืบพยานเมื่อคู่ความที่ขอให้สืบพยานไม่ติดใจไปฟังการพิจารณา
ก็ให้ยื่นคำถามพยานเป็นหนังสือ
เมื่อสืบพยานเสร็จแล้ว ให้ผู้เดินเผชิญสืบหรือศาลที่รับประเด็น
ส่งถ้อยคำสำนวนพร้อมทั้งเอกสารหรือของกลางไปยังศาลเดิม
มาตรา 231 เมื่อคู่ความหรือผู้ใดจะต้องให้การหรือส่งพยานหลักฐานอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้
(1) เอกสารหรือข้อความที่ยังเป็นความลับในราชการอยู่
(2) เอกสารหรือข้อความลับ ซึ่งได้มาหรือทราบเนื่องในอาชีพหรือหน้าที่ของเขา
(3) วิธีการ
แบบแผนหรืองานอย่างอื่นซึ่งกฎหมายคุ้มครองไม่ยอมให้เปิดเผย
คู่ความหรือบุคคลนั้นมีอำนาจไม่ยอมให้การหรือส่งพยานหลักฐาน
เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องกับความลับนั้น
ถ้าคู่ความหรือบุคคลใดไม่ยอมให้การ
หรือไม่ส่งพยานหลักฐานดั่งกล่าวแล้ว
ศาลมีอำนาจหมายเรียกเจ้าหน้าที่หรือบุคคลผู้เกี่ยวข้องกับความลับนั้นมาแถลงต่อศาล
เพื่อวินิจฉัยว่าการไม่ยอมนั้นมีเหตุผลค้ำจุนหรือไม่ถ้าเห็นว่าไร้เหตุผลให้ศาลบังคับให้
ๆ การหรือส่งพยานหลักฐานนั้น
หมวด 2
พยานบุคคล
มาตรา 232 ห้ามมิให้โจทก์อ้างจำเลยเป็นพยาน
มาตรา 233 จำเลยอาจอ้างตนเองเป็นพยานได้
ในกรณีที่จำเลยอ้างตนเองเป็นพยาน ศาลจะให้เข้าสืบก่อนพยานอื่นฝ่ายจำเลยก็ได้
ถ้าคำจำเลยซึ่งให้การเป็นพยานนั้นปรักปรำหรือเสียหายแก่จำเลยอื่น
จำเลยอื่นนั้นซักค้านได้
มาตรา 234 พยานไม่ต้องตอบคำถามซึ่งโดยตรงหรืออ้อม
อาจจะทำให้เขาถูกฟ้องคดีอาญา เมื่อมีคำถามเช่นนั้น ให้ศาลเตือนพยาน
มาตรา 235 ในระหว่างพิจารณา
เมื่อเห็นสมควร ศาลมีอำนาจถามโจทก์จำเลยหรือพยานคนใดได้
ห้ามมิให้ถามจำเลยเพื่อประโยชน์แต่เฉพาะจะเพิ่มเติมคดีโจทก์ซึ่งบกพร่อง
เว้นแต่จำเลยจะอ้างตนเองเป็นพยาน
มาตรา 236 ในระหว่างพิจารณาศาลมีอำนาจสั่งให้ผู้ที่จะเป็นพยานซึ่งมิใช่จำเลย
ออกไปอยู่นอกห้องพิจารณาจนกว่าจะเข้ามาเบิกความ อนึ่งเมื่อ
พยานเบิกความแล้วจะให้รออยู่ในห้องพิจารณาก่อนก็ได้
มาตรา 237(1) คำพยานชั้นไต่สวนมูลฟ้องหรือพิจารณานั้น
ให้ศาลอ่านให้พยานฟังต่อหน้าจำเลย เว้นแต่ในกรณีดั่งบัญญัติไว้ในมาตรา 165 วรรค 3
มาตรา 237 ทวิ(2)
ก่อนฟ้องคดีต่อศาล
เมื่อมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าพยานบุคคลซึ่งจะต้องนำมาสืบในภายหน้าจะเดินทางออกไปนอกราชอาณาจักรยากแก่การนำมาสืบ
พนักงานอัยการโดยตนเองหรือได้รับคำร้องขอจากพนักงานสอบสวน
จะนำผู้ต้องหามาศาลและยื่นคำร้องต่อศาลโดยระบุการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าผู้ต้องหาได้กระทำผิด
เพื่อให้ศาลมีคำสั่งให้สืบพยานนั้นไว้ทันทีก็ได้
เมื่อศาลได้รับคำร้องเช่นว่านั้น
ให้ศาลสืบพยานนั้นทันที ในการนี้ผู้ต้องหาจะซักค้านหรือตั้งทนายซักค้านพยานนั้นด้วยก็ได้
และในกรณีที่ผู้ต้องหานั้นถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดอาญาซึ่งหากมีการฟ้องคดี
จะเป็นคดีซึ่งจำเลยมีสิทธิขอให้ศาลตั้งทนายให้ตามมาตรา 173 ก่อนเริ่มสืบพยานดังกล่าว
ให้ศาลถามผู้ต้องหาว่ามีทนายหรือไม่ ถ้าไม่มีและผู้ต้องหาต้องการหากศาลเห็นว่าศาลตั้งทนายให้ทัน
ก็ให้ศาลตั้งทนายให้และดำเนินการสืบพยานนั้นทันที
แต่หากศาลเห็นว่าไม่สามารถตั้งทนายหรือผู้ต้องหาไม่อาจตั้งทนายได้ทัน
ก็ให้ศาลซักถามพยานนั้นให้แทน
คำเบิกความของพยานดังกล่าวให้ศาลอ่านให้พยานฟังต่อหน้าผู้ต้องหา
ถ้าต่อมาผู้ต้องหานั้นถูกฟ้องเป็นจำเลยในการกระทำความผิดอาญานั้น
ก็ให้รับฟังคำพยานดังกล่าวในการพิจารณาคดีนั้นได้
ในกรณีที่ผู้ต้องหาเห็นว่าหากตนถูกฟ้องเป็นจำเลยแล้ว
บุคคลซึ่งจำเป็นจะต้องนำมาสืบเป็นพยานของตนจะเดินทางออกไปนอกราชอาณาจักรอันทำให้เป็นการยากแก่การที่จะนำบุคคลนั้นมาสืบในภายหน้า
ผู้ต้องหาดังกล่าวจะยื่นคำร้องต่อศาลโดยแสดงเหตุผลความจำเป็นเพื่อให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้สืบพยานบุคคลนั้นไว้ทันทีก็ได้
เมื่อศาลพิจารณาเห็นสมควร
ก็ให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้สืบพยานนั้น
และให้แจ้งให้พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการที่เกี่ยวข้องทราบ
ในการสืบพยานดังกล่าว พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการ แล้วแต่กรณี
มีสิทธิที่จะซักค้านพยานนั้นได้ และให้นำความในวรรคสามและวรรคสี่มาใช้บังคับ
หมวด 3
พยานเอกสาร
มาตรา 238 ต้นฉบับเอกสารเท่านั้นที่อ้างเป็นพยานได้
ถ้าหาต้นฉบับไม่ได้ สำเนาที่รับรองว่าถูกต้องหรือพยานบุคคลที่รู้ข้อความก็อ้างเป็นพยานได้
ถ้าอ้างหนังสือราชการเป็นพยาน
แม้ต้นฉบับยังมีอยู่จะส่งสำเนาที่เจ้าหน้าที่รับรองว่าถูกต้องก็ได้
เว้นแต่ในหมายเรียกจะบ่งไว้เป็นอย่างอื่น
มาตรา 239 เอกสารใดซึ่งคู่ความอ้าง
แต่มิได้อยู่ในความยึดถือของเขา ถ้าคู่ความนั้นแจ้งถึงลักษณะและที่อยู่ของเอกสารต่อศาล
ให้ศาลหมายเรียกบุคคลผู้ยึดถือนำเอกสารนั้นมาส่งศาล
มาตรา 240 เมื่อมีเอกสารใช้เป็นพยานหลักฐานในชั้นศาล
ให้อ่านหรือส่งให้คู่ความตรวจดู ถ้าคู่ความฝ่ายใด ต้องการสำเนา
ศาลมีอำนาจสั่งให้ฝ่ายที่อ้างนั้นส่งสำเนาแก่อีกฝ่ายหนึ่งตามที่เห็นสมควร
หมวด 4
พยานวัตถุ
มาตรา 241 สิ่งใดใช้เป็นพยานวัตถุต้องนำมาศาล
ในกรณีที่นำมาไม่ได้
ให้ศาลไปตรวจจดรายงานยังที่ที่พยานวัตถุนั้นอยู่ตามเวลาและวิธีซึ่งศาลเห็นสมควรตามลักษณะแห่งพยานวัตถุ
มาตรา 242 ในระหว่างสอบสวน
ไต่สวนมูลฟ้องหรือพิจารณา สิ่งของซึ่งเป็นพยานวัตถุต้องให้คู่ความหรือพยานตรวจดู
ถ้ามีการแก้ห่อหรือทำลายตรา
การห่อหรือตีตราใหม่ให้ทำต่อหน้าคู่ความหรือพยานที่เกี่ยวข้องนั้น
หมวด 5
ผู้ชำนาญการพิเศษ
มาตรา 243 ผู้ใดโดยอาชีพหรือมิใช่ก็ตาม
มีความชำนาญพิเศษในการใด ๆ เช่นในทางวิทยาศาสตร์ ศิลป ฝีมือ พาณิชยการ
การแพทย์หรือกฎหมายต่างประเทศ
และซึ่งความเห็นของเขานั้นอาจมีประโยชน์ในการวินิจฉัยคดี ในการสอบสวน
ไต่สวนมูลฟ้องหรือพิจารณา อาจเป็นพยานในเรื่องต่าง ๆ เป็นต้นว่า
ตรวจร่างกายหรือจิตของผู้เสียหาย ผู้ต้องหาหรือจำเลยตรวจลายมือ ทำการทดลองหรือกิจการอย่างอื่น
ๆ
ศาลจะให้ผู้ชำนาญการพิเศษทำความเห็นเป็นหนังสือก็ได้
แต่ต้องให้มาเบิกความประกอบหนังสือนั้น
ให้ส่งสำเนาหนังสือดั่งกล่าวแล้วแก่คู่ความทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสามวันก่อนวันเบิกความ
มาตรา 244 ถ้าศาลหรือพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่เห็นจำเป็นเนื่องในการไต่สวนมูลฟ้อง
พิจารณาหรือสอบสวน ที่จะต้องตรวจศพแม้ว่าจะได้บรรจุหรือฝังแล้วก็ตาม
ก็ให้มีอำนาจสั่งให้เอาศพนั้นให้ผู้ชำนาญการพิเศษตรวจได้
ภาค 6
การบังคับตามคำพิพากษาและค่าธรรมเนียม
หมวด 1
การบังคับตามคำพิพากษา
มาตรา 245(1) ภายใต้บังคับแห่งมาตรา
246,247 และ 248 เมื่อคดีถึงที่สุดแล้ว
ให้บังคับคดีโดยไม่ชักช้า
ศาลชั้นต้นมีหน้าที่ต้องส่งสำนวนคดีที่พิพากษาให้ลงโทษประหารชีวิต
หรือจำคุกตลอดชีวิต ไปยังศาลอุทธรณ์ในเมื่อไม่มีการอุทธรณ์คำพิพากษานั้น
และคำพิพากษาเช่นว่านี้จะยังไม่ถึงที่สุด เว้นแต่ศาลอุทธรณ์จะได้พิพากษายืน
มาตรา 246 ศาลมีอำนาจสั่งให้ทุเลาการบังคับให้จำคุกไว้ก่อนจนกว่าเหตุอันควรทุเลาจะหมดไป
ในกรณีต่อไปนี้
(1) เมื่อจำเลยวิกลจริต
(2) เมื่อเกรงว่าจำเลยจะถึงอันตรายแก่ชีวิตถ้าต้องจำคุก
(3) ถ้าจำเลยมีครรภ์แต่เจ็ดเดือนขึ้นไป
(4) ถ้าจำเลยคลอดบุตรแล้วยังไม่ถึงเดือน
ในระหว่างทุเลาการบังคับอยู่นั้นให้ศาลสั่งพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ
จัดให้บุคคลดั่งกล่าวแล้วอยู่ในความควบคุมในสถานที่อันควร
มาตรา 247 คดีที่จำเลยต้องประหารชีวิต
ห้ามมิให้บังคับตามคำพิพากษา จนกว่าจะได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติในประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยอภัยโทษแล้ว
หญิงใดจะต้องประหารชีวิต ถ้ามีครรภ์อยู่
ให้รอไว้จนคลอดบุตรเสียก่อนแล้ว จึงให้ประหารชีวิต
การประหารชีวิตให้ประหาร ณ
ตำบลและเวลาที่เจ้าหน้าที่ในการนั้นจะเห็นสมควร
มาตรา 248 ถ้าบุคคลซึ่งต้องคำพิพากษาให้ประหารชีวิตเกิดวิกลจริตก่อนถูกประหารชีวิต
ให้รอการประหารชีวิตไว้ก่อนจนกว่าผู้นั้นจะหาย ขณะทุเลาการประหารชีวิตอยู่นั้น
ศาลมีอำนาจยกมาตรา 46 วรรค (2) แห่งกฎหมายลักษณะอาญามาบังคับ
ถ้าผู้วิกลจริตนั้นหายภายหลังปีหนึ่งนับแต่วันคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลดโทษประหารชีวิตลงเหลือจำคุกตลอดชีวิต
มาตรา 249 คำพิพากษาหรือคำสั่งให้คืนหรือใช้ราคาทรัพย์สินค่าทดแทนหรือค่าธรรมเนียมนั้น
ให้บังคับตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
มาตรา 250 ถ้าคำพิพากษามิได้ระบุไว้เป็นอย่างอื่น
บุคคลทั้งปวงซึ่งต้องคำพิพากษาให้ลงโทษโดยได้กระทำความผิดฐานเดียวกัน
ต้องรับผิดแทนกันและต่างกันในการคืนหรือใช้ราคาทรัพย์สินหรือใช้ค่าทดแทน
มาตรา 251 ถ้าต้องยึดทรัพย์สินคราวเดียวกัน
สำหรับใช้ค่าธรรมเนียมศาล ค่าปรับ ค่าใช้ทรัพย์หรือค่าทดแทน
แต่ทรัพย์สินของจำเลยไม่พอใช้ครบทุกอย่าง ให้นำจำนวนเงินสุทธิของทรัพย์สินนั้นใช้ตามลำดับดั่งต่อไปนี้
(1) ค่าธรรมเนียม
(2) ราคาทรัพย์สินหรือค่าทดแทน
(3) ค่าปรับ
หมวด 2
ค่าธรรมเนียม
มาตรา 252 ในคดีอาญาทั้งหลายห้ามมิให้ศาลยุติธรรมเรียกค่าธรรมเนียมนอกจากที่บัญญัติไว้ในหมวดนี้
มาตรา 253 ในคดีพนักงานอัยการเป็นโจทก์
ซึ่งมีคำเรียกร้องให้คืนหรือใช้ราคาทรัพย์สินติดมากับฟ้องอาญา
มิให้เรียกค่าธรรมเนียม
ในกรณีที่มีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้คืนหรือใช้ราคาทรัพย์สินดั่งกล่าวในวรรคก่อน
ถ้าศาลยังต้องจัดการอะไรอีกเพื่อการบังคับ
ผู้ที่จะได้รับคืนทรัพย์สินหรือราคาจักต้องเสียค่าธรรมเนียมดั่งคดีแพ่งสำหรับการต่อไปนั้น
มาตรา 254 ภายใต้บังคับแห่งมาตรา
253 วรรคต้น ในคดีเรียกร้องให้คืน
หรือใช้ราคาทรัพย์สินหรือใช้ค่า ทดแทนซึ่งติดมากับฟ้องคดีอาญา
หรือที่ฟ้องเป็นคดีแพ่งโดยลำพัง ให้เรียกค่าธรรมเนียมดั่งคดีแพ่ง
มาตรา 255 ในคดีดังบัญญัติในมาตรา
253 วรรค 2 และมาตรา 254 ถ้ามีคำขอ
ศาลมีอำนาจสั่งให้ฝ่ายที่แพ้คดีใช้ค่าธรรมเนียมแทนอีกฝ่ายหนึ่งได้
มาตรา 256 คดีอาญาซึ่งพนักงานอัยการเป็นโจทก์
ศาลมีอำนาจสั่งให้โจทก์เสียค่าพาหนะให้แก่พยานโจทก์ตามที่เสียไปจริงไม่เกินสมควร
มาตรา 257 ในคดีอาญาซึ่งราษฎรเป็นโจทก์
ๆ จักต้องเสียค่าธรรมเนียม คือ
(1) ค่าพาหนะพยานโจทก์เท่าที่เสียไปจริงตามสมควร
(2) ค่าพาหนะส่งหมายเรียก
มาตรา 258 ให้นำบัญชีค่าธรรมเนียมต่อท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งและบทบัญญัติว่าด้วยการดำเนินคดีอนาถามาบังคับโดยอนุโลม
ภาค 7
อภัยโทษ เปลี่ยนโทษหนักเป็นโทษเบาและลดโทษ
มาตรา 259 ผู้ต้องคำพิพากษาให้รับโทษอย่างใด
ๆ หรือผู้ที่มีประโยชน์ เกี่ยวข้อง เมื่อคดีถึงที่สุดแล้ว ถ้าจะทูลเกล้า ฯ
ถวายเรื่องราวต่อพระมหากษัตริย์ขอรับพระราชทานอภัยโทษ
จะยื่นต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยก็ได้
มาตรา 260 ผู้ถวายเรื่องราวซึ่งต้องจำคุกอยู่ในเรือนจำ
จะยื่นเรื่องราวต่อพัศดีหรือผู้บัญชาการเรือนจำก็ได้ เมื่อได้รับเรื่องราวนั้นแล้ว
ให้พัศดีหรือผู้บัญชาการเรือนจำออกใบรับให้แก่ผู้ยื่นเรื่องราว
แล้วให้รีบส่งเรื่องราวนั้นไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
มาตรา 261 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมีหน้าที่ถวายเรื่องราวต่อพระมหากษัตริย์
พร้อมทั้งถวายความเห็นว่าควรพระราชทานอภัยโทษหรือไม่
ในกรณีที่ไม่มีผู้ใดถวายเรื่องราว
ถ้ารัฐมนตรีว่าการกระทวงมหาดไทยเห็นเป็นการสมควร
จะถวายคำแนะนำต่อพระมหากษัตริย์ขอให้พระราชทานอภัยโทษแก่ผู้ต้องคำพิพากษานั้นก็ได้
มาตรา 261 ทวิ(1)
ในกรณีที่คณะรัฐมนตรีเห็นเป็นการสมควรจะถวายคำแนะนำต่อพระมหากษัตริย์ขอให้พระราชทานอภัยโทษแก่ผู้ต้องโทษก็ได้
การพระ ราชทานอภัยโทษตามวรรคหนึ่ง
ให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา
มาตรา 262 ภายใต้บังคับแห่งมาตรา
247 และ 248 เมื่อคดีถึงที่สุดผู้ใดต้องคำพิพากษาให้ประหารชีวิต
ให้เจ้าหน้าที่นำตัวผู้นั้นไปประหารชีวิตเมื่อพ้นกำหนดหกสิบวันนับแต่วันฟังคำพิพากษา
เว้นแต่ในกรณีที่มีการถวายเรื่องราวหรือคำแนะนำขอให้พระราชทานอภัยโทษตามมาตรา 261
ก็ให้ทุเลาการประหารชีวิตไว้จนกว่าจะพ้นกำหนดหกสิบวันนับแต่วันที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยถวายเรื่องราวหรือคำแนะนำขึ้นไปนั้น
แต่ถ้าทรงยกเรื่องราวนั้นเสีย ก็ให้จัดการประหารชีวิตก่อนกำหนดนี้ได้
เรื่องราวหรือคำแนะนำขอพระราชทานอภัยโทษแก่ผู้ต้องคำพิพากษาให้ประหารชีวิต
ให้ถวายได้แต่ครั้งเดียวเท่านั้น
มาตรา 263 เหตุที่มีเรื่องราวขอพระราชทานอภัยโทษในโทษอย่างอื่นนอกจากโทษประหารชีวิต
ไม่เป็นผลให้ทุเลาการลงโทษนั้น
มาตรา 264 เรื่องราวขอพระราชทานอภัยโทษอย่างอื่นซึ่งมิใช่โทษประหารชีวิตถ้าถูกยกหนหนึ่งแล้ว
จะยื่นใหม่อีกไม่ได้จนกว่าจะพ้นสองปีนับแต่วันถูกยกครั้งก่อน
มาตรา 265 ในกรณีที่มีการอภัยโทษเด็ดขาดโดยไม่มีเงื่อนไข
ห้ามมิให้บังคับโทษนั้น ถ้าบังคับโทษไปบ้างแล้วให้หยุดทันที
ถ้าเป็นโทษปรับที่ชำระแล้วให้คืนค่าปรับให้ไปทั้งหมด
ถ้าการอภัยโทษเป็นแต่เพียงเปลี่ยนโทษหนักเป็นเบาหรือลดโทษ
โทษที่เหลืออยู่ก็ให้บังคับไปได้
แต่การได้รับพระราชทานอภัยโทษ ไม่เป็นเหตุให้ผู้รับพ้นความรับผิดในการต้องคืนหรือใช้ราคาทรัพย์สินหรือค่าทดแทนตามคำพิพากษา
มาตรา 266 เมื่อผู้ได้รับพระราชทานอภัยโทษเนื่องจากการกระทำความผิดอย่างหนึ่งถูกฟ้องว่ากระทำความผิดอีกอย่างหนึ่ง
อภัยโทษนั้นย่อมไม่ตัดอำนาจศาลที่จะเพิ่มโทษหรือไม่รอการลงอาญาตามกฎหมายลักษณะอาญาว่าด้วยกระทำผิดหลายครั้งไม่เข็ดหลาบ
หรือว่าด้วยรอการลงอาญา
มาตรา 267 บทบัญญัติในหมวดนี้
ให้นำมาบังคับโดยอนุโลมแก่เรื่องราวขอพระราชทานเปลี่ยนโทษหนักเป็นเบาหรือลดโทษ
บัญชีแนบท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
ความผิดในกฎหมายลักษณะอาญา
ที่มาตรา 79 อ้างถึงซึ่งราษฎรมีอำนาจจับได้โดยไม่ต้องมีหมาย
ประทุษร้ายต่อพระบรมราชตระกูล
มาตรา 97 และ 99
ขบถภายในพระราชอาณาจักร 101
ถึง 104
ขบถภายนอกพระราชอาณาจักร 105
ถึง 111
ความผิดต่อทางพระราชไมตรีกับต่างประเทศ 112
ทำอันตรายแก่ธง หรือเครื่องหมายของต่างประเทศ 115
ความผิดต่อเจ้าพนักงาน 119
ถึง 122 และ 127
หลบหนีจากที่คุมขัง 163
ถึง 166
ความผิดต่อศาสนา 172
ถึง 173
ก่อการจลาจล 183
และ 184
กระทำให้เกิดภยันตรายแก่สาธารณชนกระทำให้
สาธารณชนปราศจากความสะดวกในการไป มา
และการส่งข่าวและของถึงกัน และกระทำให้สาธารณชน
ปราศจากความสุขสบาย 185
ถึง 194, 196, 197 และ 199
ปลอมแปลงเงินตรา 202
ถึง 205 และ 210
ข่มขืนกระทำชำเรา 243
ถึง 246
ประทุษร้ายแก่ชีวิต 250
และ 251
ประทุษร้ายแก่ร่างกาย 254
ถึง 257
ความผิดฐานกระทำให้เสื่อมเสียอิสร 268,
270, 276
ลักทรัพย์ 288
ถึง 296
วิ่งราว ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ และโจรสลัด 297
ถึง 302
กรรโชก
(1)(ก) แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
(ฉบับที่ 18) พ.ศ.
2535
(1) แก้ไขเพิ่มโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
(ฉบับที่ 15) พ.ศ.
2527
(1) วรรคห้า
แก้ไข เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 19) พ.ศ. 2539
(2) แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
(ฉบับที่ 19) พ.ศ.
2539
(1) แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
(ฉบับที่ 5) พ.ศ.
2496
(1) แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
(ฉบับที่ 16) พ.ศ.
2529
(1) แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
(ฉบับที่ 14) พ.ศ.
2525
(2) วรรคสาม
แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 19) พ.ศ. 2539
(1) แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
(ฉบับที่ 19) พ.ศ.
2539
(1) [แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
(ฉบับที่ 10) พ.ศ.
2525
(2) (4) แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
(ฉบับที่ 13) พ.ศ.
2525
(1) แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
(ฉบับที่ 10) พ.ศ.
2522
(2) แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
(ฉบับที่ 13) พ.ศ.
2525
(3) แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
(ฉบับที่ 17) พ.ศ.
2532
(1) แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
(ฉบับที่ 17) พ.ศ.
2532
(2) แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
(ฉบับที่ 15) พ.ศ.
2527
(1) แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
(ฉบับที่ 6) พ.ศ.
2499
(2) แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศของคณะปฏิวัติ
ฉบับที่ 333 (พ.ศ. 2515) ประกาศ ณ วันที่ 13 ธันวาคม 2515
(1) วรรคแรก
แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2499
(2) แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
(ฉบับที่ 12) พ.ศ.
2523
(1) แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
(ฉบับที่ 6) พ.ศ.
2499
(1) แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
(ฉบับที่ 6) พ.ศ.
2499
(2) (1) แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
(ฉบับที่ 15 ) พ.ศ.
2527
(1) แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
(ฉบับที่ 19) พ.ศ.
2539
(2) แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
(ฉบับที่ 6) พ.ศ.
2499
(1) แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
(ฉบับที่ 6) พ.ศ.
2499
(1) แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2522
(2) วรรคสาม
แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 17) พ.ศ. 2532
(1) แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
(ฉบับที่ 17) พ.ศ.
2532
(2) แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
(ฉบับที่ 8)
พ.ศ. 2517
(1) (3) (5) แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
(ฉบับที่ 8) พ.ศ.
2517
(2) (4) วรรคหนึ่ง
แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา(ฉบับที่ 17) พ.ศ. 2532
(6) แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
(ฉบับที่ 6) พ.ศ.
2499
(1) แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
(ฉบับที่ 2) พ.ศ.
2487
(1) แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
(ฉบับที่ 6) พ.ศ.
2499
(1) (2) (5)
(6) แก้ไขเพิ่มความโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
(ฉบับที่ 17) พ.ศ.
2532
(3) (4) แก้ไขเพิ่มความโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
(ฉบับที่ 8) พ.ศ.
2517
(1) แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
(ฉบับที่ 10) พ.ศ.
2522
(2) แกไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
(ฉบับที่ 15) พ.ศ.
2527
(1) แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
(ฉบับที่ 6) พ.ศ.
2499
(1) แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
(ฉบับที่ 9) พ.ศ.
2517
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น